ต่อไปขอนำโอวาทของพระพุทธองค์ และหลวงพ่อหลายท่านมาลงไว้ให้อ่านเป็นเครื่องเร้าจิตใจให้ร่าเริงเบิกบานในธรรม โอวาทคำสอนของพระพุทธองค์ ไม่มีใครสามารถทำร้ายทำลายตัวเราได้ นอกจากตัวของเราเอง ไม่มีใครหยิบทุกข์จากหัวใจใครทิ้งได้ ทั้งหมดต้องวางจากจิตตน
เราไม่เล็งเห็นธรรมอย่างอื่นแม้สักข้อหนึ่ง ซึ่งเป็นเหตุให้สัมมาทิฐิที่ยังไม่เกิดขึ้นได้เกิดขึ้น หรือให้สัมมาทิฐิที่เกิดขึ้นแล้ว เจริญขึ้นเหมือน โยนิโสมนสิการเลย เมื่อมีโยนิโสมนสิการ (การพิจารณาโดยแยบคาย , คิดเป็น) สัมมาทิฐิที่ยังไม่เกิดย่อมเกิดขึ้นและสัมมาทิฐิที่เกิดขึ้นแล้วย่อมเจริญขึ้น
ภิกษุทั้งหลาย ! บัดนี้เราขอเตือนพวกท่านให้รู้ว่า สิ่งทั้งหลายที่เกิดมาในโลก มีความเสื่อมสลายเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลายจงทำหน้าที่ อันเป็นประโยชน์แก่ตนและคนอื่นให้สำเร็จบริบูรณ์ด้วยความไม่ประมาทเถิด
เธอจงมองดูโลกนี้โดยความเป็นของว่างเปล่า มีสติอยู่ทุกเมื่อ ถอนอัตตานุทิฎฐิคือความยึดมั่นถือมั่นเรื่องตัวตนเสียด้วยประการฉะนี้ เธอจะเบาสบายคลายทุกข์คลายกังวล ไม่มีความสุขใดยิ่งไปกว่าการปล่อยวาง และการสำรวมตนอยู่ในธรรม ผู้จะถือเอาความสุขในนิพพาน ต้องวางความสุขในโลกีย์ให้หมด
ตราบใดที่ยังไม่สลัดความพอใจในสังขารออก ความทุกข์ย่อมติดตามไปเสมอ เมื่อรากยังมั่นคง แม้ต้นไม้จะถูกตัดแล้วมันก็สามารถขึ้นได้อีก ฉันเดียวกัน เมื่อบุคคลยังไม่ถอนตัณหานุสัยออกจากดวงจิต ความทุกข์ก็เกิดขึ้นได้บ่อย ๆ
ความสิ้นอาสวะ เป็นอานิสงส์สูงสุดแห่งการบำเพ็ญคุณงามความดีทั้งหลาย เพราะความทุกข์ความเดือดร้อนของหมู่สัตว์เกิดขึ้นได้ก็ด้วยอาสวะกิเลส
การวางใจปลงใจนั้นคือ วางสุข วางทุกข์ วางบาปบุญ คุณโทษ วางโลภ โกรธ หลง วางลาภ ยศ นินทา สรรเสริญหมดสิ้นเหมือนกับไม่มีหัวใจ จึงชื่อว่าทำให้เหมือนแผ่นดิน ถ้ายังทำไม่ได้อย่าหวังว่าจักได้โลกุตรนิพพานเลย ถ้าทำตัวให้เหมือนแผ่นดินได้ ในกาลใด ถึงหวังซึ่งโลกุตรนิพพาน คงได้คงถึงในกาลนั้นโดยไม่ต้องสงสัย
ผู้ฉลาดด้วยปัญญา ท่านบำเพ็ญอสุภานุสติกรรมฐานปรารถนาเอาพระนิพพานเป็นที่ตั้งนั้น ท่านย่อมถือเอาอสุภะในตัวเป็นอารมณ์ของกรรมฐาน ถ้ายังเอาอสุภะภายนอกเป็นอารมณ์อยู่แล้ว ยังไม่เต็มทางปัญญาเพราะยังอาศัยสัญญาอยู่ ถ้าเอาอสุภะในตัวเป็นอารมณ์ของกรรมฐานได้ จึงเป็นที่สุดแห่งทางปัญญาเป็นตัววิปัสสนาญาณได้ บุคคลผู้ใดปรารถนาพระนิพพาน จงยังอสุภะกรรมฐานในตนให้แจ้งชัดเถิด
ปัญญาซึ่งมีความหนักแน่นมั่นคงเหมือนแผ่นดิน ย่อมเกิดขึ้นแก่ผู้ใคร่ครวญเสมอ ฉะนั้นจงพยายามทำปัญญาให้มั่นคงเหมือนแผ่นดิน และสามารถจะแทงทะลุอะไร ๆ ได้ให้เกิดขึ้นด้วยการพิจารณาอยู่เสมอ ไม่มีอะไรจะแหลมคมยิ่งกว่าปัญญา ปัญญานี้แลเป็นเครื่องตัดกิเลสทั้งมวล ไม่มีอะไรจะเหนือปัญญาไปได้
ภิกษุทั้งหลาย น้ำในมหาสมุทรย่อมมีรสเดียวคือรสเค็มฉันใด ธรรมวินัยก็ฉันนั้น มีรสเดียว คือ วิมุตติรส หมายถึง ความหลุดพ้นจากกิเลสเป็นจุดมุ่งหมายสำคัญแห่งพรหมจรรย์ที่เราประกาศแล้ว ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ยินดีในธรรม ตรึกตรองธรรม ระลึกถึงธรรมอยู่เสมอ ย่อมไม่เสื่อมจากพระสัทธรรม ไม่เสื่อมจากพระนิพพาน
ในบรรดารอยเท้าทั้งหมดถือว่ารอยเท้าช้างใหญ่ที่สุดในบรรดาการฝึกสติทั้งหมด มรณานุสตินับว่ายิ่งใหญ่ที่สุด ดูก่อนอานนท์ ในวันหนึ่ง ๆ เธอระลึกถึงความตายวันละกี่หน เราตถาคตระลึกถึงความตายเป็นอารมณ์ ทุกลมหายใจเข้าออก
โอวาท หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต อดีต คือสิ่งที่ล่วงไปแล้วไม่ควรไปทำความผูกพัน เพราะเป็นสิ่งที่ล่วงไปแล้วอย่างแท้จริง แม้จะทำความผูกพันและมั่นใจให้สิ่งนั้นกลับมาเป็นปัจจุบันก็เป็นไปไม่ได้ ผู้ทำความสำคัญมั่นหมายนั้น เป็นทุกข์แต่ผู้เดียวโดยความไม่สมหวังตลอดไป อนาคต คือสิ่งที่ยังมาไม่ถึง ก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรยึดเหนี่ยวเกี่ยวข้องเช่นกัน อดีตควรปล่อยไว้ตามอดีต อนาคตก็ควรปล่อยไว้ตามกาลของมัน ปัจจุบัน เท่านั้นสำเร็จประโยชน์ได้ เพราะอยู่ในฐานะที่ทำได้ไม่สุดวิสัย
เพราะเหตุว่าการทำจิตใจให้สงบนั้นเป็นนามธรรม เมื่อเกิดความอัศจรรย์หรือความสบายก็ไปเข้าใจเสียว่าดีแล้ว จึงเป็นเหตุให้ไม่สามารถจะรู้ให้ยิ่งขึ้นได้ จึงไม่ควรตำหนิผู้ที่ทำสมาธิแล้วหลงใหลไปตามโลกียญาณเพราะเขาเหล่านั้นก็ได้ความดี ความเย็นใจซึ่งเป็นสิ่งที่หาได้ยาก แต่ที่ควรตำหนิก็เพราะว่าเขาไม่พยายามหาโลกุตรธรรมนั้น อันการติดในธรรมปฏิบัติอันเป็นภายในนี้ มันไม่ไปนรกดอก แต่มันทำให้ล่าช้าต่อการยิ่งเห็นจริงต่าง ๆ เพราะความรู้เท่าไม่ถึงการณ์นั่นเอง ที่ทำให้เขาต้องเสียประโยชน์ยิ่งคือ ฉิบหายเสียจากคุณอันใหญ่
ท่านทั้งหลายจงอย่าทำตัวเป็นตัวบุ้งตัวหนอนคอยกัดแทะกระดาษแห่งคัมภีร์ใบลานอยู่เปล่า ๆ โดยไม่สนใจพิจารณาสัจธรรมอันประเสริฐที่มีอยู่กับตัว แต่มัวไปยึดธรรมที่ศึกษามาถ่ายเดียว ซึ่งเป็นสมบัติของพระพุทธเจ้ามาเป็นสมบัติของตนด้วยความเข้าใจผิดว่า ตนเรียนรู้และฉลาดพอตัวแล้ว ทั้งที่กิเลสยังกองเต็มหัวใจยิ่งกว่าภูเขาไฟ มิได้ลดน้อยลงบ้างเลย จงพากันมีสติคอยระวังตัว อย่าให้เป็นคนประเภทใบลานเปล่า ๆ เรียนเปล่าและตายทั้งเปล่า ไม่มีธรรมอันเป็นสมบัติของตัวอย่างแท้จริงติดตัวบ้างเลย
การตายด้วยความเพียงพอทุกอย่าง เป็นการตายที่หมดกังวลพ้นทุกข์ แม้จะไปอยู่ที่ไหนก็ไม่มีอะไรบกพร่อง ผู้เพียงพอทุกอย่างแล้วไม่จำเป็นต้องคาดต้องหวังสิ่งใดๆ ทั้งสิ้น อยู่กับความเพียงพอนี้เอง
โอวาทคำสอนของหลวงพ่อชา สุภัทโท (วัดหนองป่าพง) คนจะบรรลุธรรม จะได้เห็นธรรมะ ต้องรู้จักว่าธรรมะอยู่ตรงไหนเสียก่อน ธรรมะที่แท้จริงอยู่ที่ไหน อยู่ที่นี่ อยู่ที่กาย อยู่ที่ใจ ให้เอาใจนี้พิจารณากาย นี้เป็นหลักการพิจารณา
ปัญญา(ที่แท้) จะไม่เกิดขึ้นจากความอยากนั้น ดังนั้นจงเพียรแต่ ละความอยาก เสีย จงเฝ้าดูจิตและกายอย่างมีสติ แต่อย่ามุ่งหวังที่จะบรรลุอะไร อย่ายึดมั่นถือมั่นในเรื่องการปฏิบัติหรือในการรู้แจ้ง
ถ้าท่านยึดติดอยู่กับภาวะจิตที่สงบ ท่านจะเป็นทุกข์เมื่อจิตไม่สงบ ฉะนั้นจงปล่อยวางหมดทุกสิ่งแม้แต่ความสงบ
ถ้าเห็นสิ่งที่ไม่ชอบใจแล้วยังเอาไว้ในใจของเรา ให้เรียนใหม่ เพราะยังผิดอยู่ ยังไม่ยิ่ง ถ้ามันยิ่งแล้ว มันวาง ให้ดูอย่างนี้ดูจิตของเราจริง ๆ
การทำจิตให้สงบคือการวางให้พอดี ตั้งใจเกินมากไปมันก็เลยไป ปล่อยมากเกินไปมากมันก็ไม่ถึง เพราะขาดความพอดี
ข้อสำคัญที่สุดคือแนวทางปฏิบัติที่ดีและถูกต้องจะต้องนำไปสู่การไม่ยึดมั่นถือมั่น ลงท้ายแล้วก็ต้องปล่อยวาง แนวทางการภาวนาทุกรูปแบบจะต้องเป็นไปเพื่อการปล่อยวาง ผู้ปฏิบัติต้องไม่ยึดมั่นแม้ตัวอาจารย์ แนวทางใดที่นำไปสู่การปล่อยวาง สู่การไม่ยึดมั่นถือมั่น ก็เป็นทางปฏิบัติที่ถูกต้อง
โอวาทคำสอนหลวงพ่อพุทธทาส ตายให้เป็นคือตายชนิดที่ไม่ตาย แต่กลับเป็นอยู่ตลอดกาล และต้องเป็นการกระทำชนิดที่เรียกว่าตายเสียก่อนตาย คือตายเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก่อนแต่ร่างกายแตกดับ
การกุศลที่แท้จริงและสูงสุดนั้นคือ การทำให้มนุษย์ได้รู้ถึงสิ่งที่มนุษย์ควรรู้หรือจำเป็นต้องรู้ และให้ได้ถึงสิ่งที่ควรเข้าถึงหรือจำเป็นต้องเข้าถึง กล่าวคือ ธรรมะที่ทำให้จิตใจสูง ได้แก่การที่มีใจมีความสะอาดปราศจากกิเลส ใจสว่าง ปราศจากความเป็นผิดและใจสงบจากความทุกข์ร้อนภายในทุกประการ จะรู้หนังสือหรือไม่รู้หนังสือก็ตาม จะมีโบสถ์สำหรับสวดมนต์ทำพิธีหรือไม่ก็ตามก็ไม่สำคัญเท่าความสะอาด สว่าง สงบของจิตใจ ซึ่งจำเป็นเร่งด่วนหรือต้องการก่อนสิ่งอื่นใดทั้งหมดทั้งสิ้น อย่ามุ่งหมายความสุขอันประเสริฐอะไร ๆ ให้มากไปกว่าความปกติของจิตที่ไม่ยินดียินร้าย ไม่ขึ้นไม่ลงไปตามอารมณ์ที่กระทบ เพราะไม่มีสุขอะไรประเสริฐยิ่งไปกว่าความปกติของจิตนั้น
โอวาท หลวงปู่ดุลย์ อตุโล ที่ใจเป็นทุกข์เพราะเกิดความยึดมั่น แล้วมีการปรุงแต่งในความคิดขึ้นและอุบายที่จะละความทุกข์ก็คือหยุดการปรุงแต่งแล้วปล่อยวางให้เป็น เมื่อสังขารดับแล้วความเป็นตัวเป็นตนก็จะไม่มี เพราะไม่ได้เข้าไปเพื่อปรุงแต่ง ครั้นเมื่อความปรุงแต่งขาดหายไป ความทุกข์จะเกิดได้อย่างไร
เพียงแต่หยุดความคิดปรุงแต่ง และหมดความกระวนกระวายเพราะการแสวงหาเสียเท่านั้น พุทธะก็ปรากฏตรงหน้า เพราะว่าจิตคือพุทธะนั่นเอง
โอวาท สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ยศและลาภหาบไปไม่ได้แน่ มีเพียงแต่ต้นทุนบุญกุศล ทรัพย์สมบัติทิ้งไว้ให้ปวงชน แม้ร่างตนเขายังเราไปเผาไฟ เมื่อเจ้ามามีอะไรมาด้วยเจ้า เจ้าจะเอาแต่สุขสนุกไฉน เจ้ามามือเปล่าเจ้าจะเอาอะไรไป เจ้าก็ไปมือเปล่าเหมือนเจ้ามา
บุญเราไม่เคยสร้างใครที่ไหนจะมาช่วยเรา ลูกเอ๋ย..........ก่อนจะเที่ยวไปขอบารมีหลวงพ่อองค์ใด เจ้าจะต้องมีทุนของตัวเองคือ บารมีของตนลงทุนไปก่อน เมื่อบารมีของเจ้าไม่พอจึงค่อยยืมบารมีคนอื่นมาช่วย มิฉะนั้นเจ้าจะเอาตัวไม่รอด เพราะหนี้สินในบุญบารมีที่เที่ยวไปขอยืมมาจนพ้นตัว เมื่อทำบุญกุศลได้บารมีมาก็ต้องเอาไปผ่อนใช้หนี้เขาจนหมดไม่มีอะไรเหลือติดตัว แล้วเจ้าจะมีอะไรไว้ในภพหน้า หมั่นสร้างบารมีไว้ (สร้างความดี) แล้วฟ้าดินจะช่วยเอง จงจำไว้นะ เมื่อยังไม่ถึงเวลาเทพเจ้าองค์ใดคิดช่วยก็ไม่ได้ แต่ครั้นถึงเวลาทั่วฟ้าจรดดินอะไรก็ต้านเจ้าไม่อยู่ จงอย่าไปเร่งเทวดาฟ้าดิน เมื่อบุญเราไม่เคยสร้างไว้เลย จะมีใครที่ไหนมาช่วยเจ้า ความจริง พอกิน พอใช้ พออยู่ รู้พอ ย่อมสงบ มนุษย์หยุดนิ่งไซร้ความจริงย่อมเกิด ถ้าท่านยังไม่หยุด ท่านยังไม่มีโอกาสพบความจริง
หัวใจการเจริญวิปัสสนากรรมฐานนั้นต้องละจนถึงที่สุดมิใช่ไปยึด