กลับหน้าแรก   ปรับขนาดตัวอักษร เพิ่มขนาด ลดขนาด ขนาดปกติ 

 
          ดีชัด เป็นคนชอบทำอาหารมาก เขาเข้าครัวช่วยแม่ตำน้ำพริกตั้งแต่ 5 ขวบ แล้วถือคติตามสุนทรภู่สอนว่า รู้อะไรรู้กระจ่างแต่อย่างเดียว แต่ให้เชี่ยวชาญเถิดจะเกิดผล จึงยังคงทำอาหารมาเรื่อยจนเป็นหนุ่มใหญ่ ตอนนี้เปิดลานหน้าบ้านอันร่มรื่นสอนทำอาหาร เรียนกันครั้งละประมาณ 10 คน จึงทำให้ยามบ่ายครึกครื้นกันพอสมควร เหมือนมีงานปาร์ตี้

          เวลาดีชัดสอนทำอาหาร จะสอนธรรมะไปด้วยเป็นของแถม วันนี้เมื่อจบรายการที่จะต้องสอนแล้ว เขาก็ทำเมนูง่าย ๆ เป็นการแถม อาหารจานสุดท้ายเป็นยำผักไข่ดาว ดีชัดยกผักกาดขาวที่ล้างสะอาดแล้วขึ้นชู

          “ผักกาดขาวนี่เหมือนใจเรา สะอาดสดชื่น และจืดดดดด เวลามีความสุขมันเชิดเหมือนใบนี้เลย ตอนนี้เราก็หั่นมันใส่ในหม้อเตรียมเคล้า”

          ดีชัดหันไปเตรียมเครื่องยำ มีกระเทียมสับละเอียด น้ำปลา มะนาว พริกขี้หนูซอย และน้ำตาลทราย แล้วผสมกันลงในชามเล็ก

          “เวลายำแม้จะรู้สึกไม่มีรสหวานเลย แต่จริง ๆ ก็มีน้ำตาลนิดหนึ่งนะ ใส่นิ๊ดเดียว”

          “พวกเครื่องปรุงนี่คืออะไรคะ อาจารย์” อัญชลีถามอย่างรู้ทันว่าอาจารย์เริ่มสอนธรรมะอีกแล้ว

          “เครื่องปรุงคือการปรุงแต่งของเรา คือความคิดของเรานั่นเอง เวลาเราเจออะไร แล้วเราก็มักจะปรุงแต่งต่อ คิดต่อไปเยอะแยะ แล้วก็เกิดอารมณ์ไปตามความคิด”

          “คือฟุ้งซ่านครับอาจารย์” เมธีพูดขำ ๆ พลางมองไปที่อัญชลี

          “คนเรามีพื้นเดิมวนเวียนอยู่กับโลกธรรม 8 คือ มีลาภ เสื่อมลาภ มียศ เสื่อมยศ นินทา สรรเสริญ สุข ทุกข์ ความคิดของเรามันก็จะเป็นไปตามโลกธรรม 8 นี่แหละ พอคิดแล้ว ก็จะทำให้เราเกิดเวทนา คือสุข ทุกข์ หรือเฉย ๆ ขึ้นในใจ”

          ดีชัด ราดน้ำยำครึ่งหนึ่งลงในหม้อ แล้วเคล้าผักไปเรื่อย ๆ เมื่อผักโดนเครื่องยำ มันก็ค่อย ๆ ยุบตัวลง

          “ตอนนี้ผักที่แสนซื้อของเราเป็นยังไง “ ดีชัดถาม มือยังคนทัพพีเคล้าผักต่อไป

          “สลบไปแล้วค่ะอาจารย์ “ อัญชลีหัวเราะ

          “โดนยำซะเละ” เมธีต่อ

          ดีชัดเติมน้ำยำลงไป เคล้าต่อไปอีกครู่หนึ่ง ก็เทใส่จาน

          “ไข่ดาวนี่ทอดให้ไข่ขาวกรอบ ๆ ถึงจะอร่อย ไข่แดงให้สุกทั่วเลย หั่นโรยหน้าแบบนี้”

          ดีชัดวางไข่ดาวที่หั่นแล้วเป็นชิ้นเล็ก ๆ บนผัก แต้มน้ำยำเล็กน้อยบนไข่ดาว

          “ความคิดคือเครื่องปรุง เวลาเราไปกินก๋วยเตี๋ยวที่ร้าน เขาจะยกพวงเครื่องปรุงมาตั้งให้ เราก็จะหยอดพริกน้ำส้มนิด พริกป่นหน่อย น้ำตาลบ้าง ถั่วป่นบ้าง กินก๋วยเตี๋ยวเปล่า ๆ ไม่ได้ ต้องปรุง ตัวเราก็เหมือนกัน เวลาไปไหนๆ เหมือนเดินหิ้วพวงเครื่องปรุงไปด้วย พอความคิดแวบเข้ามาหน่อย ก็ปรุงทันที เหยาะพริกน้ำส้มบ้าง พริกป่นบ้าง ปรุงแล้วหัวใจก็กินเข้าไป แซบอีหลีเด๊อ เราคิดว่าสนุก แต่ความจริงไม่ใช่

          บางคนรู้ว่าคิดแล้วกลุ้ม ก็ยังคิด เหมือนคนที่กินของเผ็ดน้ำหูน้ำตาไหล แต่ก็ยังกิน ความคิดที่ถูกเราปรุงแล้วก็เหมือนก๋วยเตี๋ยวที่ถูกปรุง เครื่องปรุงคือกิเลสทั้งหลาย โลภ โกรธ หลง นั่นเอง

          พระพุทธเจ้าสอนให้เราพยายามฝึกที่จะรู้ทัน ไม่เต้นตามความคิด แต่ไม่ใช่ห้ามคิดนะ เพราะมันห้ามไม่ได้หรอก มันเป็นธรรมชาติของคนเราที่จะต้องคิด แต่ให้เรารู้ทันความคิด และต้องเลือกคิดให้เป็น คิดให้ถูก ภาษาพระท่านเรียกว่ามีโยนิโสมนสิการ เราต้องระวังความคิดให้ดี เลือกคิดแต่สิ่งดี ๆ จะทำให้จิตใจเราผ่องใส และมีชีวิตที่ดีงาม”

          ตอนนี้ได้เวลาที่ทุกคนจะนำอาหารที่ปรุงในวันนี้ทั้งหมดมานั่งกินด้วยกันก่อนกลับบ้าน ดีชัดเอ่ยว่า

          “ผักที่ถูกยำแล้วมันอร่อยนะ แต่ถ้าเราปล่อยให้ความคิดมายำเราอย่างนี้ละก็…….”

          “สลบเหมือดเหมือนผักเลยค่ะ อาจารย์” อัญชลีพูดต่อก่อนตักไข่ดาวเข้าปาก

          “ถ้าไม่อยากถูกมันยำก็ยำมันซะก่อนซี” เมธีว่า อัญชลีค้อน

          “ทำยังไงล่ะยะ”

          “ก็พอมันคิดอะไรฟุ้งซ่านไปมาก ก็หัดหยุดคิดซะมั่ง ชกมันให้สบบเหมือดไปเลย “ ดีชัดตอนแทนเมธี

          “แค่รู้สึกตัวว่า กำลังฟุ้งซ่านแล้ว มันก็จะได้สติ เราก็จะหยุดฟุ้งซ่านได้ แล้วก็เปลี่ยนอารมณ์ หันไปทำอย่างอื่นที่มันมีประโยชน์ เราก็ออกจากความฟุ้งซ่านเรื่องนั้นได้”

          เมธียักคิ้วให้อัญชลีอย่างยั่วเย้า ดีชัดพูดต่อไป

          “มีคำกล่าวว่า “ชีวิตคุณคือสิ่งที่คุณคิด” เราคิดดี ชีวิตก็จะดี ถ้าคิดชั่ว ก็จะนำไปสู่สิ่งที่เลวร้าย เรื่อง ๆ เดียวกัน คิดให้สุขก็ได้ คิดให้ทุกข์ก็ได้ ท่านสอนว่า คนมีปัญญา จะสามารถพบความสุขได้ ในสถานการณ์ที่คนอื่นเป็นทุกข์ ดังนั้น เราจะเห็นได้ว่าความคิดที่ปรุงแต่งแล้วนี่เองที่มีบทบาทสำคัญที่สุดในชีวิตของเราเลย เราจะเป็นไปตามที่มันปรุง เพราะฉะนั้นเราจะต้องระวังตัวให้ดี ๆ อย่าให้มันพาไปในทางที่ทำให้เราทุกข์ใจ”

          “ไว้อาจารย์ลองคิดเมนู “ยำความคิด” มาทำทานกันนะคะ เผื่อเวลากลุ้มใจจะได้ทำกิน เป็นเครื่องเตือนใจ” อัญชลีบอกอาจารย์ดีชัดพยักหน้ายิ้ม ๆ เสียงเมธีเอ่ยขึ้นมาลอย ๆ

          “อ๋อ ก็ยำอัญชลีไง คงจะอร่อย”.
 


แค็ตตาล็อก
1. ก่อนช้อป 19. ไม่ได้มุสา 37. สมรรถภาพจิต
2. ธรรมะอินเตอร์เน็ต 20. เปลี่ยนจุดมอง 38. ยำความคิด
3. พญามารรับน้อง 21. กฐินของฝนสุย 39. ผู้ให้
4. ถังเหลืองแลกหุ้น 22. สร้างพระ 40. คนมีธรรม
5. น้ำตาบารมี 23. ศึกมังฉงาย 41. ธรรมะประจำชีวิต
6. ปล่อยบุญ 24. ให้อภัยตัวเอง 42. แผ่นดินสอนธรรม
7. ทิ้งเวร 25. บุญบนโต็ะทำงาน 43. เทียนชีวิตของจอม
8. สะดือพริตตี้ 26. ข้าวแกงใส่ธรรม 44. ซักใจ
9. บุญไม่เกี่ยว เหนียวไว้ก่อน 27. นักขายประกัน 45. สมถะกับวิปัสสนา
10. ส่งหรีดส่งบุญ 28. สุดสาครสันโดษ 46. เมตตาตัวเอง
11. ต้นไม้ของใจแก้ว 29. ติ่มซำอิจฉา 47. กรรมลิขิต
12. พระสร้างวัด 30. กรรมมาเยี่ยม 48. เบียดเบียนตนเอง
13. พระพุทธรูปสอนธรรม 31. บุญงามยามเช้า 49. คารวะแด่พระอาจารย์วศิน อินทสระ
14. ธรรมะโฮล อิน วัน 32. การพยาบาลของวันวิสาข์ 50. วันสงกรานต์
15. เทียนไสว 33. กรรมโบราณ 51. งานวันปีใหม่
16. ปากกาของเมฆอ้วน 34. ล้างจานล้างใจ 52. บันทึกท้ายเล่ม
17. หัวใจติดแอร์ 35. น้ำในเรือ 53. โอวาทคำสอน
18. รักษาใจ 36. ชีวิตหุ่นเชิด อ่านแบบไฟล์ .pdf
 
หน้าแรกธรรมจักร l กลับเรือนธรรม