กลับหน้าแรก   ปรับขนาดตัวอักษร เพิ่มขนาด ลดขนาด ขนาดปกติ 

 

          ในวันสงกรานต์และวันขึ้นปีใหม่ เป็นวันที่มีการจัดงานในชั้นเรียนธรรมะวันอาทิตย์ ของอาจารย์วศิน อินทสระ มีลูกศิษย์หลายคนได้ขึ้นไปพูดหน้าชั้น เพื่อแสดงความเคารพต่อท่านอาจารย์ฉันมีโอกาสได้เป็นผู้หนึ่งในจำนวนนั้นด้วย และขอนำบทความนั้นมาบันทึกลงไว้ ณ ที่นี้ด้วย เพื่อประโยชน์อันพึงมีแก่ท่านผู้อ่าน

13 เมษายน 2546
กราบเรียนท่านอาจารย์

          วันนี้เป็นวันครบรอบ 2 ปี ที่หนูมาเรียนกับอาจารย์ แต่หนูรู้สึกเหมือนว่าเรียนมานานกว่านั้น และหนูก็รู้สึกว่าหนูน่าจะจำธรรมะที่อาจารย์สอนได้มากกว่านี้ นี่เป็นความมหัศจรรย์ของท่านอาจารย์ ที่จำธรรมะในพระไตรปิฎกได้มากเหลือเกิน และนี้ก็เป็นความธรรมดาของลูกศิษย์ที่จะจำอะไรไม่ค่อยได้ ปีใหม่นี้ อาจารย์ ช่วยกรุณาอวยพรให้หนูจำได้มากขึ้นนะคะ

          วันนี้หนูมีเรื่องหนึ่งจะเล่าให้อาจารย์ฟังค่ะ หนูได้รับจดหมายฉบับหนึ่งจากเรือนจำเทิง จังหวัดเชียงราย เล่าว่าเขาได้ทำผิดต้องโทษ 15 ปี เมื่อก่อนเขาอยู่ที่เรือนจำอื่น เขาได้อ่านหนังสือของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต และรู้สึกว่า การปฏิบัติกัมมัฏฐานของหลวงปู่ในป่านั้นลำบากกว่าการอยู่ในเรือนจำของเขาเสียอีก เขาเกิดศรัทธาขึ้นมา และได้เริ่มปฏิบัติธรรม เขาทำกิจกรรมของห้องสมุด โดยเขียนจดหมายไปยังวัดและมูลนิธิต่าง ๆ รวมทั้งหน่วยราชการ จนได้รับบริจาคหนังสือธรรมะเข้ามาถึง 1,000 เล่ม และเขาได้สอนหนังสือให้แก่ผู้อ่านเขียนไม่ได้ เขาเล่าว่า เขาสอนด้วยความสุข เขาสอนสนุกนักเรียนชอบ แต่ไม่เคยรับค่าตอบแทนเลยแม้แต่กาแฟแก้วเดียว


          ปัจจุบันเขาย้ายมาที่อำเภอเทิง และตั้งใจปฏิบัติธรรมด้วยการให้ทาน คนที่เข้าไปสนทนากับพระ หรือเริ่มสนใจธรรมะมักจะมีคำถามเสมอเกี่ยวกับการให้ทาน เช่น รู้สึกว่าไม่ค่อยมีเงินจะทำทาน ? ทำทานกับคนหรือกับพระ อย่างไหนจะได้บุญมากกว่ากัน ? ทำแล้วต้องอธิษฐานไหม? อธิษฐานแล้วจะได้ตามนั้นไหม? ทำกับใครจะได้บุญมากกว่า? ถ้าเราสังเกตดี ๆ เราจะเห็นว่าคำถามเหล่านี้น้ำหนักเอียงข้าง คือผลประโยชน์เอียงข้างเขาหาตัวชั่งว่าตัวเองจะได้เท่าไหร่ในการลงทุนไป เราไม่ค่อยได้คิดถึงผู้ที่เราให้เท่าไร เหมือนกับว่าเขาเป็นอุปกรณ์ของเราในการทำทานเท่านั้น

          ผู้ชายคนนี้ให้ทานในเรือนจำ หนูรู้สึกว่าเขาก้าวหน้ากว่าคนข้างนอกบางคนอีกนะคะ และมันให้มุมมองอีกว่าเราอยู่ข้างนอกมีทานให้ทำมากกว่านั้น เรายังไม่ขวนขวายทำกันเลย อันนี้โกวเล้งบอกว่า ไม่เห็นโลงศพ ไม่หลั่งน้ำตา

          ผู้ชายคนนี้ทำทานด้วยการช่วยคนแก่ซักผ้า เขียนจดหมายไปถึงครอบครัวให้แก่ผู้ที่เขียนไม่เป็น เขียนใบคำร้องต่อศาลให้แก่ผู้ที่ต้องการส่งใบคำร้อง และเขายังสอนหนังสือต่อไปด้วยความสุข

          จดหมายฉบับที่สองของเขา เขียนตอบมาเมื่อหนูส่งหนังสือไปเพิ่มให้ เขาเขียนมายาวเหยียด แต่ที่น่าสนใจคือเขาบอกว่า การทำคนดีให้เป็นคนดีเป็นเรื่องไม่ยาก แต่การทำคนชั่วให้เป็นคนดีนั้นได้บุญมาก เพราะถ้าเขากลับเป็นคนดีแล้ว เขาก็ไม่ไปทำร้ายคนอื่น สังคมจะสงบสุข เพราะคนร้ายหนึ่งคนสามารถทำร้ายคนได้เป็นจำนวนมาก เท่ากับเราได้ช่วยคนจำนวนมากนั้นให้ปลอดภัย

          หนูคิดว่า บางทีนี่อาจจะเป็นคำตอบสำหรับคำถามที่ว่าเราควรจะทำบุญกับใคร หรือทำบุญกับใครจะได้บุญมากกว่าคำตอบนี้นำเราไปสู่เรื่อง 3 เรื่อง

          เรื่องแรก คือ เห็นความเป็นปฏิจจสมุปบาท เพราะสิ่งนี้เกิดสิ่งนี้จึงเปิดขึ้น เพราะสิ่งนี้ดับ สิ่งนี้จึงดับไป เพราะคนดีช่วยส่งหนังสือให้ชายผู้นี้ (คนดีนี่ ไม่ใช่หมายถึงขวัญนะคะ หมายถึงคนดีทั่ว ๆ ไปทุกคน) ทำให้ชายผู้นี้ไปชักจูงเพื่อนในเรือนจำให้ใฝ่ธรรมะขึ้นมา ทำให้เปลี่ยนเป็นคนดี ทำให้สังคมถูกทำร้ายน้อยลงเป็นปฏิจจสมุปบาทที่น่าชื่นใจมาก ทำให้เห็นว่าเราควรจะทำดีไปทั่วไม่ต้องเลือกว่าใคร เพราะทุกอย่าโยงใยเป็นปฏิจจสมุปบาททั้งนั้น ย่อมส่งผลไปไกลกว่าที่ว่า เราให้ทานแก่บุคคลผู้นี้ จะได้บุญมากหรือน้อย เหมือนโยนก้อนหินลงไปในน้ำเรียบนิ่ง เราย่อมบังคับให้มันมีระลอกเพียงวงเดียวไม่ได้ มันต้องกระเพื่อมไปหลายวงจนกว่าจะหมดแรงที่หินตกลงไป เพราะฉะนั้น ขอให้เรามีความสบายใจในการทำทาน ว่าเราจะได้บุญมากเสมอ ไม่ว่าจะทำกับใคร

          ประการที่ 2 ทำให้นึกถึงเรื่องที่ถามกันว่า พระพุทธเจ้าให้จีวรแก่พระสารีบุตรกับพระสารีบุตรถวายจีวรแก่พระพุทธเจ้าใครได้บุญมากกว่ากัน พระพุทธเจ้าได้บุญมากกว่า เพราะทรงมีคุณธรรมเหนือกว่า เป็นคำตอบที่สอนให้เราทำตัวเราเองให้ดีโดยไม่ต้องไปหวังให้ใครเขาทำดี ให้พอแก่ที่เราจะไปทำทานทำบุญกับเขา เรายิ่งทำตัวเราให้มีคุณธรรมมากเท่าไหร่ เราก็จะได้บุญเมื่อให้ทานแก่ผู้อื่นมากเท่านั้น ไม่ว่าเขาผู้นั้น จะมีคุณธรรมมากน้อยอย่างไร นี่เป็นการตัดกังวลของผู้ทำทานลงไปได้อย่างดี

          ในข้อนี้ ท่านอาจารย์เองก็ได้เป็นตัวอย่างแก่ลูกศิษย์ทุกคนในการให้ธรรมทานที่อาจารย์ให้อยู่เสมอตลอดเวลา ตั้งแต่มาสอนลูกศิษย์ทั้งพระและฆราวาส สอนโดยการเขียนหนังสือและออกรายการวิทยุ และเมื่อพักผ่อนอยู่บ้าน ก็ยังได้ทำธรรมทานโดยตอบข้อธรรมะแก่ผู้มีปัญหาโทรฯ เข้าไปถามอาจารย์อีกด้วยทำให้เห็นว่าผู้มีคุณธรรมให้ทานได้ตลอดเวลา โดยไม่ต้องนัดหมายกะเกณฑ์เหมือนชาวบ้าน ว่าจะไปวัดวันนั้นวันนี้ เพื่อทำบุญเลี้ยงพระ หรือทำสังฆทานหรือไปบริจาคทานแก่มูลนิธิต่าง ๆ เฉพาะในวันสำคัญ ๆ เช่น วันเกิด วันปีใหม่ แต่เป็นการทำทานตลอดเวลาอย่างสงบเย็นและเป็นประโยชน์ เป็นตัวอย่างให้แก่ทุกคนเช่นเดียวกับคำสอนที่ว่าทำให้ดู เป็นอยู่ให้เห็น ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าปฏิบัติตามเป็นอย่างยิ่ง

          ประการที่ 3 ก็คือ คำสอนของท่านอาจารย์อีกนะคะ ที่ว่า 1. ทำดี ไม่ต้องอยากให้คนชม 2. ทำดีเพื่อความดี ให้ผลหรือไม่เป็นหน้าที่ของกรรม ไม่ใช่หน้าที่ของเรา และ 3. ทำดีเพราะว่ามันดีนี่ก็เป็นความสบายใจในการปฏิบัติธรรมเหมือนกัน ถ้าเราทำดีเพราะว่ามันดี ก็ไม่มีอะไรต้องเครียด ตั้งหน้าตั้งตาขวนขวายทำไปก็แล้วกัน

          ที่เล่ามานี้ก็ด้วยความประทับใจชายผู้นี้ รู้สึกเหมือนได้เห็นบัวขาวผุดขึ้นกลางโคลนตมและเป็นกำลังใจในการทำทานของหนูเป็นอย่างมาก แต่เราก็ไม่จำเป็นจะต้องเริ่มเททุกอย่างเข้าไปในเรือนจำ เพราะคนในสังคมปัจจุบัน แม้จะอยู่ข้างนอก แต่ก็ไม่มีความสุขใจพอกัน ได้มีการสำรวจโพลออกมาว่า ปีใหม่คนไปวัด 10 % บางทีเราจะรู้สึกว่าน้อย แต่หนูว่าน่าดีใจ ถ้าโพลออกมาว่าปีใหม่ไม่มีคนไปวัดเลย จะเป็นอย่างไร

          สิ่งที่น่าคิดคือ คน 10% นี้ จะหยิบยื่นพระธรรมให้แพร่กระจายออกไปได้อย่างไร เพราะคน 10% นี้ก็เป็นญาติกับคนอีก 90% ที่เหลือนั่นเอง เรียกว่าเรามีสายลับแทรกอยู่ทุกจุดในสังคม 90% นั้นก็ว่าได้ แต่เราจะปฏิบัติการอย่างไร ให้ธรรมะแพร่กระจายออกไปได้ ในขณะที่ตะวันตกสนใจพุทธศาสนาอย่างจริงจังเพิ่มขึ้นทุกที เรากลับเหินห่างออกไปทุกทีเหมือนกัน เป็นเรื่องน่าเสียดาย

          แต่อย่างไรก็ตาม ขอกราบเรียนอาจารย์ว่า ปีใหม่นี้หนูยังคงพยายามรักษาประคับประคองความหวังของหน ูที่จะเผยแพร่หนังสือธรรมะออกไปให้กว้างขวางที่สุดเท่าที่จะทำได้ ถ้าคิดถึงเรื่องพระมหาชนก หนูก็คงเพิ่งเริ่มว่ายน้ำได้วันเดียว อีก 6 วันนะคะกว่านางเมขลาจะมาช่วย วันหนึ่งก็ยาวนานประมาณปีหนึ่ง อีก 6 วันก็ประมาณ 6 ปี หนูหวังว่าตัวหนูคงจะยังไม่อนิจจังไปเสียก่อนแต่ถึงวันนั้นนางเมขลาคงยังไม่มา เพราะเธอมองหาแต่พระมหาชนกไม่ได้มองหาหนู


          ท่านพุทธทาสสอนว่า ผู้รับทานมี 5 ประเภท คือ
          1. ให้เพราะสงสาร ได้แก่ สัตว์ คนพิการ ขอทาน คนช่วยตัวเองไม่ได้
          2. ให้เพราะเลื่อมใส เป็นผู้ปฏิบัติดี
          3. ให้เพื่อบูชาคุณ ได้แก่ บิดา มารดา ครู อาจารย์ พระ
          4. ให้เพื่อใช้หนี้ เจ้าหนี้ คือ คล้ายพวกบูชาคุณ แต่ว่าการใช้หนี้นี้เรารู้สึกในความรับผิดชอบ เช่น พระพุทธเจ้าเป็นเจ้าหนี้เรา เราปฏิบัติดี ให้เป็นการบูชาคุณ หรือแผ่นดินเกิด เรามีชีวิตอยู่บนแผ่นดินนี้มาตลอด ควรทำดีเป็นการตอบแทนคุณแผ่นดิน
          5. ให้ทานแก่คนไม่ดี เช่น อันธพาล เราให้เพื่อให้เขากลับตัว

          เรื่องที่เล่ามาในวันนี้ น่าจะเข้าไปกับข้อที่ 5 คือให้ธรรมะแก่คนในเรือนจำ แต่สิ่งที่หนูจะกราบเรียนคือ ข้อ 3 คือบูชาคุณท่านอาจารย์ เนื่องในโอกาสปีใหม่นี้ บุญกุศลใดที่หนูได้ปฏิบัติมาในการเผยแพร่ธรรมะและปฏิบัติธรรม ขอน้อมบูชาพระคุณท่านอาจารย์ ขอให้บุญกุศลนั้นดูแลรักษาให้อาจารย์แข็งแรงและมีความสุขกาย สบายใจ เป็นมิ่งขวัญร่มโพธิ์ร่มไทรแก่ลูกศิษย์ทุกคนนะคะ หนูยังมีข้อธรรมที่จำไม่ได้อีกเยอะ ต้องเรียนถามอาจารย์ค่ะ

ขอบคุณค่ะ
ขวัญ .

 


แค็ตตาล็อก
1. ก่อนช้อป 19. ไม่ได้มุสา 37. สมรรถภาพจิต
2. ธรรมะอินเตอร์เน็ต 20. เปลี่ยนจุดมอง 38. ยำความคิด
3. พญามารรับน้อง 21. กฐินของฝนสุย 39. ผู้ให้
4. ถังเหลืองแลกหุ้น 22. สร้างพระ 40. คนมีธรรม
5. น้ำตาบารมี 23. ศึกมังฉงาย 41. ธรรมะประจำชีวิต
6. ปล่อยบุญ 24. ให้อภัยตัวเอง 42. แผ่นดินสอนธรรม
7. ทิ้งเวร 25. บุญบนโต็ะทำงาน 43. เทียนชีวิตของจอม
8. สะดือพริตตี้ 26. ข้าวแกงใส่ธรรม 44. ซักใจ
9. บุญไม่เกี่ยว เหนียวไว้ก่อน 27. นักขายประกัน 45. สมถะกับวิปัสสนา
10. ส่งหรีดส่งบุญ 28. สุดสาครสันโดษ 46. เมตตาตัวเอง
11. ต้นไม้ของใจแก้ว 29. ติ่มซำอิจฉา 47. กรรมลิขิต
12. พระสร้างวัด 30. กรรมมาเยี่ยม 48. เบียดเบียนตนเอง
13. พระพุทธรูปสอนธรรม 31. บุญงามยามเช้า 49. คารวะแด่พระอาจารย์วศิน อินทสระ
14. ธรรมะโฮล อิน วัน 32. การพยาบาลของวันวิสาข์ 50. วันสงกรานต์
15. เทียนไสว 33. กรรมโบราณ 51. งานวันปีใหม่
16. ปากกาของเมฆอ้วน 34. ล้างจานล้างใจ 52. บันทึกท้ายเล่ม
17. หัวใจติดแอร์ 35. น้ำในเรือ 53. โอวาทคำสอน
18. รักษาใจ 36. ชีวิตหุ่นเชิด อ่านแบบไฟล์ .pdf
 
หน้าแรกธรรมจักร l กลับเรือนธรรม