กลับหน้าแรก   ปรับขนาดตัวอักษร เพิ่มขนาด ลดขนาด ขนาดปกติ 

 

          เย็นวันนี้ บุษบารำไพพาคุณยายมาเดินเล่นออกกำลังกายที่สวนรถไฟ คุณยายรู้สึกเบิกบานที่ได้เดินชมดอกไม้สวย ๆ ที่ปลูกอยู่ข้างทางเดิน เด็กชายเล็ก ๆ คนหนึ่งวิ่งเล่นอยู่บนสนามใกล้แนวต้นลั่นทมที่กำลังออกดอกสีแดงไปทั่ว แกสะดุดเท้าตัวเองเล็กน้อย จนทำท่าเซถลาไปข้างหน้า แต่ก็ตั้งตัวได้ ก่อนที่จะหกล้มลงไป คุณยายร้องอุ๊ยเบาๆ พลางทำท่าเหมือนจะประคองไว้ ทั้งที่อยู่ห่างกันตั้งไกล

          บุษบารำไพหัวเราะเบาๆ เอ็นดูทั้งเด็กและคุณยายที่กำลังพึมพำเบา ๆ ว่า “ขอให้เป็นสุขเป็นสุขนะลูก”

          “แกเป็นสุขอยู่แล้วนี่คะ คุณยายขา” บุษบารำไพเอ่ยยิ้ม ๆ

          “ก็ให้แกเป็นสุขมากขึ้น”

          “คุณยายแผ่เมตตาประจำเลยนะคะ”

          “ใช่จ๊ะ ยายชอบปฏิบัติเรื่องแผ่เมตตา มันสบายใจดี” คุณยายยิ้มอย่างมีความสุข ดวงหน้าอิ่มเอิบผ่องใส

          “การแผ่เมตตานี่ เราแผ่ไปได้ตลอดเวลา เมตตาคือปรารถนาให้ผู้ที่เราพบมีความสุข ส่วนกรุณาคือ ปรารถนาให้เขาพ้นทุกข์ มันก็จะมาคู่กันเสมอ เพราะเมื่อเราอยากให้เขาเป็นสุข เราก็อยากช่วยให้เขาพ้นทุกข์”

          “เวลาคุณยายสวดมนต์เสร็จ หนูก็เห็นคุณยายนั่งแผ่เมตตาด้วย นานเชียว” บุษบารำไพเข้าประคองแขนคุณยายขณะเดินข้ามสะพาน

          “อันนั้นเราแผ่ให้หลาย ๆ คน แต่เราควรจะแผ่เมตตาให้ตัวเองก่อนนะจ๊ะ ท่านมีบทสวดที่ว่า ขอให้ข้าพเจ้ามีความสุข เพื่อให้เราเป็นพยานกับตัวเองว่าเราเองก็อยากจะมีความสุข คนอื่นเขาก็อยากมีความสุขเหมือนกัน แผ่ให้ตัวเองแล้ว ก็แผ่ให้คนอื่น คนที่มีพระคุณ คนที่เรารัก แม้แต่คนที่เราเฉย ๆ หรือคนที่เราไม่ชอบเราก็แผ่ให้ แผ่ให้สรรพสัตว์ทั้งหลายใน 31 ภูมิเลย”

          “แผ่ให้คนที่เกลียดกันนี่ลำบากหน่อยนะคะ คุณยายขา” บุษบารำไพหัวเราะเบา ๆ ส่ายหน้าเล็กน้อย เธอยกไม้ยกมือตามกลุ่มคนที่กำลังเต้นออกกำลังกายไปตามเสียงเพลงอยู่กลางสนาม คุณยายยืนพักพลางแกว่งแขนเบา ๆ

          “การแผ่เมตตาให้คนที่เราเกลียด ก็ไม่ใช่ว่าเราจะต้องไปรักเขา แต่หมายความว่าเราจะไม่ไปคิดร้ายเขา แล้วการแผ่ไปให้เขาบ่อย ๆ ก็อาจมีอานิสงส์ ทำให้เขากลับมาดีกับเราได้ เราเองก็ไม่ควรจะนึกเกลียดใครด้วย มันทำให้เราไม่สบายใจ”

          “แต่ความที่มันรู้สึกไม่ชอบมันก็ยากนะคะ”

          “เราไม่ได้มองที่ความเป็นเขาในนิสัยที่เราไม่ชอบ ตอนที่เราแผ่เมตตา เรามองว่าเขาเป็นเพื่อนร่วมเกิดแก่เจ็บตาย ดิ้นรนอยู่ในสังสารวัฏเหมือนกัน มันเป็นทุกข์โศกของสังสารวัฏ ขอให้เขาเป็นสุขเถิด เพราะเขาเองก็มีความทุกข์ในใจเขาเหมือนกัน เขาก็ทุกข์ร้อนในแบบของความเป็นเขานั่นแหละ ที่เราไม่ชอบเขาเพราะเขาไม่ถูกใจเรา แต่เราเองก็ไม่ได้เป็นที่ถูกใจคนอื่นไปทั้งหมดเหมือนกันไม่ใช่หรือจ๊ะ ก็จะมีคนไม่ชอบใจเราเหมือนกัน ไม่มีใครเป็นที่รักของคนทั้งโลกได้”

********

          บุษบารำไพพาคุณยายเข้าไปนั่งในซุ้มไม้ที่ดอกจันทร์กระจ่างฟ้าสีเหลืองห้อยย้อยลงมา หนุ่มสาวคู่หนึ่งเข็นรถเด็กทารกแฝดผ่านมา เสียงเพลงจากลำโพงของสวนยังคงขับกล่อมผู้มาเดินเล่นให้เพลิดเพลิน สายลมพัดมาเบา ๆ

          “การแผ่เมตตาให้ตัวเองนี่ ไม่ใช่เพียงเพื่อเป็นพยานให้ตัวเองก่อนแผ่ให้คนอื่นเท่านั้นนะ เวลาปกติ เราก็ต้องเมตตาตัวเองด้วย” คุณยายเริ่มคุยต่อ เมื่อนั่งพักได้สักครู่

          “เมตตาตัวเองคือยังไงคะ คุณยายขา” บุษบารำไพลงมือนวดคุณยายเบา ๆ

          “อย่างบางคนไม่ชอบข้อบกพร่องของตัวเอง เช่นไม่ชอบที่ตัวเองมักโกรธ ก็จะหงุดหงิดเมื่อเห็นตัวเองโกรธง่าย แล้วก็พยายามกดดัน บังคับนิสัยขี้โกรธนี้ให้หายไป ซึ่งมันก็จะไม่หายไป ทำให้ตัวเองยิ่งไม่มีความสุขเข้าไปใหญ่ เขาต้องเมตตาตัวเองเห็นและยอมรับว่าตัวเองเป็นคนขี้โกรธ แล้วก็ค่อย ๆ แก้ไขไปคราวใดที่พลาดไป โกรธไปแล้วก็ไม่ต้องต่อว่าตัวเองซ้ำลงไปอีก ในตอนนั้นน่ะเมตตาตัวเอง ให้โอกาสตัวเองอีกครั้งที่จะฝึกแก้ไขใหม่”

          “อันนี้เหมือนมีสองคนในตัวเราสิคะคุณยาย คนหนึ่งโกรธ อีกคนเมตตาคนที่โกรธ” บุษบารำไพนึกภาพตาม

          “ทำนองนั้นแหละ” คุณยายพยักหน้า บุษบารำไพตั้งสังเกต “บางคนขี้โกรธ แต่ก็ชอบความโกรธของตัวเอง ได้โว้กว้ากใส่คนอื่น เวลาฉันโกรธใครก็เข้าหน้าไม่ติด มีทิฐิว่าตัวเองมีอำนาจรู้สึกว่าฉันใหญ่นะใครอย่ามาแหยม เห็นใคร ๆ กลัวก็เหมือนกับว่าจะเท่ดี หารู้ไม่ว่าเขาเบื่อไม่อยากจะยุ่งด้วยต่างหาก”

          คุณยายเสริมว่า “คนขี้โกรธไม่ดี ควรหัดเลิก ใคร ๆ ก็รักคนใจเย็น ใจดี พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ ไม่มีเคราะห์ใดเสมอด้วยโทสะ” เพราะโทสะพาแต่เรื่องเคราะห์ร้ายมาให้อยู่เสมอ

          พระพุทธเจ้าทรงสอนภิกษุว่า ให้วางความโกรธ ท่านสอนขนาดว่า ถ้ามีโจรมาทำร้ายมาตัดแขนตัดขา ถ้าภิกษุโกรธตอบนี่ ถือว่าไม่ได้ทำตามที่พระพุทธเจ้าสอนเลยนะจ๊ะ ท่านทรงสอนให้มีเมตตาให้มาก เมตตาคือสิ่งตรงข้ามกับโทสะ เราจะลดความโกรธได้นี่ต้องใช้เมตตามาลบล้างกัน พระองค์สอนให้เรามีเมตตาให้มากอยู่ 4 ข้อ ข้อแรก ให้มีเมตตาให้มากเหมือนแผ่นดินที่ใครจะขุดให้หมดไม่ได้”

          “โอ้โฮ” บุษบารำไพร้อง “อะไรมันจะมากได้ขนาดนั้นคะ คุณยายขา” แล้วก็หัวเราะ คุณยายยิ้มสบายใจ

          “ใช่จ้ะ มากมายมหาศาล ถ้าเรามีเมตตามากอย่างนั้น ใครจะมาทำให้เราโกรธได้”

          “แล้วข้อ 2 อะไรคะ คุณยาย” บุษบารำไพอยากรู้ความน่าสนใจของข้อต่อไปทันที

          “ข้อ 2 คือให้มีเมตตามากเหมือนเราเป็นแม่น้ำคงคา ที่ใครจะเอาคบไฟมาจุดให้ติดไม่ได้ จุ่มลงมาทีไรต้องดับไปหมดเองใครหรืออะไรที่จะมาทำให้เราโกรธนี่ มาถึงไม่มีปัญญาทำให้เราโกรธดับไปเองเหมือนคบไฟที่เจอแม่น้ำ”

          “คือพร้อมที่จะเป็นที่พึ่งพิงให้ความสบายแก่เหล่าสัตว์โดยทั่วหน้า” คุณยายเสริม แล้วเล่าเรื่องเมตตาต่อไป

          “ข้อ 3 คือ ให้เรามีเมตตาให้เหมือนอากาศที่ใครจะวาดภาพให้ติดไม่ได้”

          “งง ค่ะ คุณยายขา “ บุษบารำไพหัวเราะ

          “หมายความว่า อารมณ์ร้ายที่เข้ามาหาเรา มันไม่สามารถเกาะติดอยู่กับเราได้ เหมือนวาดสีไปบนอากาศ จะให้สีติดอากาศลอยอยู่ไม่ได้ คือ เมตตาเรามากจนดับโทสะ ดับอารมณ์ร้ายที่เข้ามาได้นั่งเอง”

          “อ๋อ พอโทสะเข้ามาถึงเรา ก็ร่วงปึ๊ดลงไปเหมือนสะบัดสีไปในอากาศ สีก็ร่วงลงไปหมด “ บุษบารำไพหัวเราะหึ ๆ คุณยายเล่าต่อ

          “ข้อ 4 ให้เหมือนถุงหนังแมวที่ใครจะตีให้ดังไม่ได้ ถุงหนังแมวนี่มันนุ่มมาก ตีเท่าไหร่มันก็ไม่ดัง คือเรามีเมตตามาก ใครจะมายั่วให้เราโกรธ คือให้เสียงดังตอบเขาบ้าง หรือทำอะไรตอบโต้กลับไปบ้างอย่างที่เขาต้องการนี่ ทำไม่ได้”

          บุษบารำไพยกมือขึ้นเหมือนเด็กนักเรียนตอบครู

          “อย่างนี้มาหาหนูได้ หนูจะเป็นหนังวัวที่ขึงหน้ากลอง ตีเบา ๆ ก็ดังลั่นเลย” พูดแล้วก็หัวเราะแล้วรีบประจบคุณยาย

          “ล้อเล่นนะคะคุณยายขา หนูเด็กดี ใจเย็น ไม่โวยวายใครหรอกค่ะ”

          คุณยายหัวเราะเบา ๆ

          “คนที่โวยวายน่ะ ไม่มีอะไรหรอก ท่านสอนว่า คนมีดีเขาเงียบ เหมือนโอ่งน้ำที่มีน้ำเต็ม เราตีข้างโอ่งมันจะเงียบ แต่โอ่งเปล่านี่สิ ตีเบา ๆ ก็ดังกังวาน”

          “แล้วเราจะมีเมตตามากขนาดพระพุทธเจ้าสอนได้ยังไงคะคุณยายขา”

          “ก็ค่อย ๆ ฝึกไป เปิดใจออกมองเห็นความธรรมดาของโลกความธรรมดาของคน มีเรื่องอะไรกันเราก็ว่า “ไม่เป็นไร” หัดมีเมตตาต่อใคร ๆ ไปเรื่อย ๆ มันก็มากขึ้นได้เอง เหมือนคลองเล็ก ๆ ถ้ามีน้ำมากผ่านมาบ่อย ๆ ก็กลายเป็นแม่น้ำได้ อย่างแม่น้ำเจ้าพระยา เมื่อก่อนก็เป็นคลองเล็ก ๆ มาเหมือนกัน เป็นคลองเชื่อมบางกอกใหญ่กับบางกอกน้อย เดี๋ยวนี้กลายเป็นแม่น้ำ

          อีกอย่างหนึ่งคือ พระพุทธเจ้าท่านทรงสอนมรณานุสติให้เราระลึกถึงความตายอยู่เสมอ ท่านถามพระอานนท์ว่า วันหนึ่งระลึกถึงความตายกี่ครั้ง พระพุทธเจ้าเองระลึกถึงความตายทุกลมหายใจ ถ้าเราระลึกถึงความตายบ่อย ๆ แล้ว จะรู้สึกว่าเราจะตายเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ แล้วจะโกรธไปทำไม

          การหัดมีเมตตามาก ๆ ก็เป็นการเมตตาตัวเองอย่างหนึ่งเหมือนกัน เพราะถ้าเราหัดได้แล้ว มีเมตตามากได้แล้ว เราก็จะมีความสุขมีความเย็น ถ้าเราขี้โกรธนั่นเราทำร้ายตัวเอง ไม่เมตตาตัวเอง คอยทำให้ตัวเองเร่าร้อนพลุ่งพล่านไปด้วยความโกรธอยู่เสมอ ๆ ไม่เมตตาให้ตัวเองได้มีชีวิตที่มีความสุขความสบายใจของอย่างนี้เราไม่ทำให้ตัวเอง จะคอยให้ใครมาทำให้ จะมาหวังว่าให้คนอื่นมาดีกับเราตลอดเวลา เราจะได้ไม่ต้องโกรธงั้นหรือ เราจะไปหวังคนอื่นได้อย่างไร เขาก็เป็นเขา เราเองต่างหากที่ต้องทำตัวเราเองให้เป็นที่พึ่งของตัวเราเองได้ เราหัดมีเมตตามากเอง เราก็เย็นเอง ถึงใครจะเมตตาเรา ถ้าเรายังร้อน เราก็ร้อนอยู่นั่นแหละ เราต้องเมตตาตัวเอง เย็นเอง สบายเอง”

          บุษบารำไพยิ้ม นวดคุณยายต่อ กลับมาถามคุณยายเรื่องเมตตาตัวเองที่คุยค้างไว้ คุณยายยกตัวอย่างเรื่องใหม่

          “อย่างคนที่ไม่สบาย ลุกไปทำอะไรไม่ได้ถนัดเหมือนปกติจะหงุดหงิดซ้ำว่าทำไมต้องมาป่วย ทำไมทำอะไรไม่ได้อย่างใจ นี่ต้องเมตตาตัวเองว่าเราป่วยอยู่ ทำไมทำอะไรไม่ได้อย่างนี้ นี่ต้องเมตตาตัวเองว่าเราป่วยอยู่ ทำอะไรได้แค่ไหน แค่นั้นก็ดีแล้วมองในแง่ดี เราไม่ต้องไปชอบมันหรอก ที่เราต้องทำคืออดทนกับมันเข้าใจมัน ไม่ไปเกลียดมันเท่านั้นเอง”

          “อดทนกับมันคือยังไงคะ คุณยาย”

          “อดทนในที่นี้ก็คือเมตตานั่นแหละ ให้ใจเมตตามัน ให้ใจอดทนที่จะอยู่กับความป่วยไข้ ปล่อยวางความกดดัน เหมือนอย่างถ้าเรามีหลานที่เกเรสักคน เราจะทิ้งขว้างเขาหรือ เรายังอยู่กับเขาอย่างอดทนใช่มั้ย แล้วก็พยายามสอนให้เขาเปลี่ยนเป็นคนดี อดทนที่จะสอนอีกด้วย จะมีเมตตา ต้องอดทนกับสิ่งที่เราเมตตาด้วย แต่อดทนอย่างเมตตา ไม่ใช่อดทนอย่างเก็บกด ไม่ถูก”

          คุยมาถึงตอนนี้ คุณยายหัวเราะขึ้นมาเบา ๆ

          “หลวงพ่อชาเคยเทศน์ว่า ลูกคนมันไม่ใช่ลูกกระสุนนี่ จะได้ยิ่งแล้วทิ้งไป ท่านเทศน์น่ารักดี ยายชอบ”

          “อย่างนี้ถ้าบางคนเกเร เป็นอันธพาล เขาจะไม่คิดว่าเขาต้องเมตตาตัวเองที่เกเร แล้วก็เกเรต่อไปหรือคะ คุณยาย” บุษบารำไพตั้งข้อสงสัย

          “เวลาเราคุยกันเรื่องธรรมะ เหมือนเราจะละไว้ในฐานะที่เข้าใจว่าเราจะคุยกันโดยมีหลัก 2 ข้อ ว่าสิ่งนั้นดีมั้ย และผิดศีลหรือเปล่า และการฟังธรรมะ เราก็ฟังเพื่อการพัฒนาไปสู่จิตใจที่ถูกต้องดีงาม ทำให้ใจเบาสบายขึ้น

          ดังนั้น ถ้าเรื่องเกเร แล้วจะบอกว่าเมตตาให้เกเรมันคงอยู่ต่อไป ฟังแล้วก็รู้ว่าผิดเลย จริงมั้ยหลาน เพราะมันไม่ได้พัฒนาขึ้นไปสู่สิ่งที่ดี”

          บุษบารำไพยิ้ม “เขาต้องดูตัวเอง ว่ามีชีวิตที่ไม่ดีอยู่ แล้วเมตตาตัวเองว่าควรจะเปลี่ยนนิสัย เพื่อให้สิ่งดี ๆ กับชีวิตตัวเองบ้าง “

          “ใช่ ถูกแล้ว” คุณยายยิ้มรับ

          “คุณยายเมตตาตัวเองยังไงมั่งล่ะคะ” บุษบารำไพถามคุณยาย

          “ยายก็เมตตาตัวเองว่าแก่แล้ว จะให้คล่องแคล่วเหมือนก่อนนะไม่ได้ มาเดินได้อย่างนี้ก็ดีแล้ว ไม่ได้นึกรังเกียจรำคาญความแก่ของเรา ถ้าเราคอยรู้สึกว่าเราไม่ชอบอะไร ความไม่ชอบนั้นก็จะสร้างทุกข์ขึ้นมาใส่ไว้ในใจเรา เราต้องไม่ปล่อยให้เป็นอย่างนั้น ความเมตตาคือเราสามารถอยู่กับความรู้สึกที่เกิดขึ้นภายในตัวเรา และที่มาจากภายนอกได้ด้วยความสงบสุข”

          คุณยายลุกขึ้นเดินต่อ บุษบารำไพพยุงคุณยายเล็กน้อย

          “ความรู้สึกต่าง ๆ มันมาแล้ว มันก็ต้องไป อย่างบางวันที่เรารู้สึกหดหู่ เราก็เมตตาคือ ดูมัน ทำความรู้จักกับมันอย่างสงบไม่ต้องไปรู้สึกขับไสไล่ส่ง ความรู้สึกพวกนี้มันเกิดขึ้นตามธรรมชาติแล้วมันก็ต้องหายไปเอง ถ้าเรายิ่งไปรังเกียจไปขับไส มันก็ยิ่งติดอยู่กับเรานานขึ้นอีก แทนที่จะหายไป กลายเป็นว่าความจดจ่อใส่ใจที่จะขับไล่นั่นแหละ เป็นตัวดึงเอาไว้ เลยทุกข์ไม่เลิก”

          “อย่างนี้การเมตตาตัวเองนี่รู้สึกจะได้ใช้มากกว่าการแผ่เมตตาไปให้คนอื่นอีกนะคะคุณยาย เพราะในตัวเราเองนี่มีเรื่องเยอะเลยค่ะ”

          “เราก็เป็นคนคนหนึ่งเหมือนกัน เราก็ต้องเมตตาตัวเองด้วย เราจะได้มีความสุขความสงบในใจ พอใจเรามีความสุขแล้วเราจึงจะมีความสุขสำหรับจะแผ่ไปให้คนอื่นด้วยนะจ๊ะ”

          “จริงสินะคะ คุณยาย ถ้าเราไม่มีความสุขแล้ว เราจะไปบอกว่า ขอให้คนนั้นคนนี้เป็นสุขเป็นสุขเถิดได้ยังไง เหมือนในถ้วยเรา เราเองยังไม่มีน้ำจะกินเลย แล้วจะยื่นให้คนอื่นกิน ก็คงได้แต่กัดถ้วยเหล่าเท่านั้นเองนะคะคุณยาย” บุษบารำไพหัวเราะร่าเริง คุณยายหัวเราะตามเบาๆ ก่อนจะเอ่ยว่า

          “ไม่ใช่อย่างนั้นหรอกจ้ะ แม้ว่าเราเองจะยังไม่มีความสุขเราก็พยายามดูแลจิตใจของเราเพื่อแก้ปัญญาของเราไป แต่เราก็ยังคงปรารถนาจะให้ผู้อื่นมีความสุขได้เหมือนกัน”

          “ยังไงล่ะคะ คุณยาย”

          “เหมือนอย่างที่ยายจะเดินไม่ไหวแล้ว แต่ยายก็ปรารถนาจะให้หลานวิ่งฉิว ๆ ไปได้ยังไงล่ะ ถ้าต้องรอให้ยายวิ่งได้ฉิวก่อนหลานคงไม่มีโอกาสได้วิ่งแน่ๆ เลย”

          บุษบารำไพหัวเราะชอบใจแล้วเข้าหอมแก้มคุณยายฟอดใหญ่ คุณยายหัวเราะอย่างมีความสุข.

 


แค็ตตาล็อก
1. ก่อนช้อป 19. ไม่ได้มุสา 37. สมรรถภาพจิต
2. ธรรมะอินเตอร์เน็ต 20. เปลี่ยนจุดมอง 38. ยำความคิด
3. พญามารรับน้อง 21. กฐินของฝนสุย 39. ผู้ให้
4. ถังเหลืองแลกหุ้น 22. สร้างพระ 40. คนมีธรรม
5. น้ำตาบารมี 23. ศึกมังฉงาย 41. ธรรมะประจำชีวิต
6. ปล่อยบุญ 24. ให้อภัยตัวเอง 42. แผ่นดินสอนธรรม
7. ทิ้งเวร 25. บุญบนโต็ะทำงาน 43. เทียนชีวิตของจอม
8. สะดือพริตตี้ 26. ข้าวแกงใส่ธรรม 44. ซักใจ
9. บุญไม่เกี่ยว เหนียวไว้ก่อน 27. นักขายประกัน 45. สมถะกับวิปัสสนา
10. ส่งหรีดส่งบุญ 28. สุดสาครสันโดษ 46. เมตตาตัวเอง
11. ต้นไม้ของใจแก้ว 29. ติ่มซำอิจฉา 47. กรรมลิขิต
12. พระสร้างวัด 30. กรรมมาเยี่ยม 48. เบียดเบียนตนเอง
13. พระพุทธรูปสอนธรรม 31. บุญงามยามเช้า 49. คารวะแด่พระอาจารย์วศิน อินทสระ
14. ธรรมะโฮล อิน วัน 32. การพยาบาลของวันวิสาข์ 50. วันสงกรานต์
15. เทียนไสว 33. กรรมโบราณ 51. งานวันปีใหม่
16. ปากกาของเมฆอ้วน 34. ล้างจานล้างใจ 52. บันทึกท้ายเล่ม
17. หัวใจติดแอร์ 35. น้ำในเรือ 53. โอวาทคำสอน
18. รักษาใจ 36. ชีวิตหุ่นเชิด อ่านแบบไฟล์ .pdf
 
หน้าแรกธรรมจักร l กลับเรือนธรรม