กลับหน้าแรก   ปรับขนาดตัวอักษร เพิ่มขนาด ลดขนาด ขนาดปกติ 

 

          ก่อนจะจบหนังสือเล่มนี้ลง ฉันขอสรุปสั้น ๆ เพื่อรวบรวมข้อธรรมที่กระจัดกระจายอยู่ทั่วทั้งเล่มนี้เข้าไว้ด้วยกัน เพื่อให้คุณผู้อ่านได้เห็นอีกครั้งหนึ่งว่า ศาสนาพุทธสอนอะไร

          พระพุทธเจ้าทรงสอนให้เรารู้จักความจริงของชีวิต ในเรื่องต่าง ๆ ดังนี้

          1. สอนเรื่องรายละเอียดในร่างกายของเรา คือ ขันธ์ 5 มี รูป(ร่างกาย) เวทนา (ความรู้สึก สุข,ทุกข์ ,เฉย
ๆ ) สัญญา (ความจำได้หมายรู้) สังขาร (การปรุงแต่ง) วิญญาณ (จิตใจ ที่รับทราบ, รู้สึก, คิดนึก, รู้แจ้งอารมณ์)

          2. อายตนะ ภายใน 6 คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นประตูรับเอาอายตนะภายนอก 6 คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ (การสัมผัสทางกาย) ธรรมารมณ์ ( การรับรู้ทางใจ)
ยกตัวอย่าง เมื่อตาเห็นรูปเกิดการเห็น ตรงนี้แหละที่เป็นประตูแห่งการเกิดเรื่องปวดหัวให้ชีวิต พอเห็นแล้วก็จะเกิดปรุงแต่งขึ้นมาว่าชอบ พอชอบก็จะเกิดอยากได้ พออยากได้ก็ต้องดิ้นรนที่จะได้ได้มา ฯลฯ เห็นมั้ยว่าเรื่องมันยาวหลายกิโล เพราะกิเลสมันกระโดดเข้าเกาะ แล้วมันจะกัดไม่ปล่อย แค่เห็นนิดเดียวนี่แหละ ท่านจึงสอนให้เรารู้จักหน้าตามันไว้ จะได้ไม่เสียท่ากิเลสง่ายเกินไป กิเลสคือ โลภ โกรธ หลง นั่นเอง

          3. สอนให้รู้จักโลกธรรม 8 มีลาภ เสื่อมลาภ มียศ เสื่อมยศ สรรเสริญ นินทา ทุกข์ สุข เพื่อที่จะได้รู้จักมัน ทำให้สามารถป้องกันจิตใจของเราเองให้หลบหลีกจากความทุกข์ใจได้

          4. สอนโอวาทปาติโมกข์ อันเป็นหัวใจข้อหนึ่งของพุทธศาสนามี 3 ข้อ คือ การไม่ทำความชั่ว การทำดี การทำใจให้ผ่องแผ้วจากกิเลสทั้งปวง เพื่อการมีชีวิตที่สะอาด อันจะนำสุขมาให้

          5. สอน เรื่องพรหมวิหาร 4 ได้แก่ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา เพื่อการมีจิตใจที่ดีงาม มีความสุขในการดำเนินชีวิต

          6. สอนวิธีปฏิบัติธรรม คือการให้มีศีล สมาธิ และปัญญา


          การมีศีล คือการรักษาศีล 5 ข้อ และประพฤติคุณธรรมที่ดีงามเหมาะสม

          ศีล 5 เป็นสิ่งสำคัญ แต่ต้องมีธรรมอื่น ๆ ด้วย จึงจะทำให้ชีวิตสงบสุขได้ เราต้องพิจารณาต่อไปว่ามลทินใจอื่น ๆ อันทำให้ใจเศร้าหมอง เรามีอยู่เท่าใด เราพยายามละมลทินเหล่านี้อยู่หรือไม่ เช่น มลทิน 9 คือโกรธ, ลบหลู่คุณท่าน , ริษยา, ตระหนี่, มายา, มักอวด, พูดปด, มีความปรารถนาลามก, เห็นผิด เราต้องเรียนรู้ธรรมเหล่านี้ และละเสียให้มาก ยิ่งละได้มากเท่าใด ชีวิตก็จะมีสันติสุขมากขึ้นเท่านั้น

          การมีสมาธิ คือการมีสติตั้งมั่น มีจิตใจสงบมั่นคง

          การมีปัญญา คือการรู้ตามความเป็นจริงของชีวิตและทุกสิ่งในโลก ว่าทุกอย่างเป็นไตรลักษณ์ ดังนั้น ควรอบรมใจให้ไม่ยึดมั่นถือมั่น ให้ปล่อยวาง เพื่อไปสู่ความหลุดพ้นของใจ

          1. ไตรลักษณ์ คือ

          อนิจจัง ความไม่เที่ยงแท้แน่นอนของสรรพสิ่งในโลก มีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดังไป ทั้งนั้น
          ทุกขัง ความเป็นทุกข์ ทนอยู่ไม่ได้ของสรรพสิ่งในโลก
          อนัตตา ความไม่ใช่ตัวตน บังคับไม่ได้

          การไม่ใช่ตัวตนคือ การเป็นส่วนประกอบของสิ่งต่าง ๆ เช่น คนไม่ใช่คนจริง ๆ หากแต่เป็นส่วนประกอบของหัว คอ ลำตัว แขน ขา ต้องมารวมกัน เป็นอวัยวะร่างกาย และมีจิตใจที่รู้สึกนึกคิดได้ จึงเรียกว่าคน คำว่า “ตัวตน” นั้นมีอยู่โดยเราสมมุติขึ้นมาว่าหน้าตาอย่างนี้ให้เรียกว่าคน แต่แท้จริง ตัวคน คน สัตว์ หญิง ชาย ไม่มี สิ่งที่มีอยู่คือรูปธรรมและนามธรรมเท่านั้น จึงไม่ใช่ตัวตน

          การบังคับไม่ได้ ไม่อยู่ในอำนาจที่เราจะบังคับได้ สิ่งทั้งหลาย ที่ใครบังคับให้อยู่ในอำนาจไม่ได้ว่า จงอย่าแก่ จงอย่าตาย การไม่อยู่ในอำนาจบังคับนั้น คือเป็นอนัตตา เช่น เราปวดหัว เรายังคับไม่ให้มันไม่ปวดไม่ได้ หรือตัวเราต้องแก่ลงไปทุกวัน จะบังคับให้หยุดแก่ไม่ได้ หรือน้ำตั้งบนเตาไฟ เราบังคับให้ไม่เดือดไม่ได้ ไม่มีอะไรในโลกนี้ที่เป็นตัวเรา หรือของเราจริง ๆ เพราะเราบังคับไม่ได้สักอย่าง ถ้าเป็นตัวเราหรือของเรา เราต้องบังคับได้

          1. พุทธศาสนาสอนเรื่องกรรมว่า สัตว์โลกมีกรรมเป็นของของตน มีกรรมเป็นกำเนิน เราเป็นทายาทของกรรม


          สัตว์โลกมีกรรมเป็นของของตน คือ กรรมของใครก็ของใคร รับแทนคนอื่น หรือให้คนอื่นมารับแทนตัวเองก็ไม่ได้ ใครทำใครรับ ยกให้กันไม่ได้ เหมือนกินข้าว หิวเองกินเองอิ่มเอง กินแทนใคร หรือให้ใครกินแทนก็ไม่ได้

          มีกรรมเป็นกำเนิด คือ ทำกรรมอย่างไรไว้ จะเป็นตัวเหตุให้เกิดผลตามนั้น ถ้าเคยทำกรรมดีก็ส่งให้มาเกิดในที่ดี

          เราเป็นทายาทของกรรม คือ เราเป็นผู้รับมรดกกรรมเราเคยทำกรรมอันใดไว้ชีวิตนี้เรามาเป็นผู้รับมรดกกรรมของเราเอง

          ถ้าอ่านในตำราก็จะมีเรื่องของกรรมยาวเหยียด แสดงถึงลักษณะกรรม การให้ผลของกรรม ลำดับการให้ผลของกรรม เรื่องกรรมเป็นเรื่องหลักของศาสนาพุทธ กรรมแปลว่าการกระทำ ดังนั้นการที่เราเกิดมาเป็นอย่างไร ยากดี มีจน โง่ฉลาด แข็งแรงอ่อนแด เป็นผลมาจากการกระทำที่เราเคยสั่งสมมาแต่อดีต และปัจจุบันเราเลือกได้ว่าจะใช้ชีวิตอย่างไร เพราะปัจจุบันเป็นการสร้างเหตุอันจะก่อให้เกิดผลขึ้นในภายภาคหน้า เมื่อเราเรียนรู้เรื่องกรรมอย่างละเอียดแล้ว เราจะสามารถเลือกชีวิตที่ดีให้กับตัวเราเองได้

          ขอให้เชื่อมั่นว่า การปฏิบัติธรรมนั้นให้ผลเสมอ มากเท่าที่คุณสร้างเหตุ เส้นทางของธรรมะนั้นเปรียบเหมือนเส้นทางกรุงเทพฯ ไปเชียงราย เมื่อคุณออกเดินทาง คุณอาจจะเลือกหยุดที่อยุธยา หรือสุโขทัย หรือเชียงใหม่ หรือไปให้ถึงเชียงราย นั้นก็แล้วแต่ความประสงค์ของคุณว่าจะขับรถไปหยุดลง ณ ที่ใด เช่น หากคุณต้องการเพียงขอให้มีชีวิตครอบครัวที่สงบสุข คุณก็ประพฤติคุณธรรมดี และรักษาศีล 5 ก็จะได้ดังปรารถนา ดังนี้เป็นต้น

          ฉันหวังว่าเราจะได้รับความร่มเย็นจากพุทธธรรมร่วมกัน และส่งต่อความเย็นนี้จากคนคนหนึ่งสู่ครอบครัว จากครอบครัวหนึ่งสู่อีกครอบครัวหนึ่ง และอีกครอบครัวหนึ่งไปเรื่อย ๆ วันหนึ่งสังคมของเราจะประกอบด้วยครอบครัวที่มีความสุขและสงบเย็น

          ขอเพียงแต่ให้เราเริ่มต้นที่ตัวเราเองเท่านั้น

          ต่อไปขอนำโอวาทของพระพุทธองค์ และหลวงพ่อหลายท่านมาลงไว้ให้อ่านเป็นเครื่องเร้าจิตใจให้ร่าเริงเบิกบานในธรรม

          โอวาทคำสอนของพระพุทธองค์

          “ไม่มีใครสามารถทำร้ายทำลายตัวเราได้ นอกจากตัวของเราเอง ไม่มีใครหยิบทุกข์จากหัวใจใครทิ้งได้ ทั้งหมดต้องวางจากจิตตน”

          “เราไม่เล็งเห็นธรรมอย่างอื่นแม้สักข้อหนึ่ง ซึ่งเป็นเหตุให้สัมมาทิฐิที่ยังไม่เกิดขึ้นได้เกิดขึ้น หรือให้สัมมาทิฐิที่เกิดขึ้นแล้ว เจริญขึ้นเหมือน โยนิโสมนสิการเลย เมื่อมีโยนิโสมนสิการ (การพิจารณาโดยแยบคาย , คิดเป็น) สัมมาทิฐิที่ยังไม่เกิดย่อมเกิดขึ้นและสัมมาทิฐิที่เกิดขึ้นแล้วย่อมเจริญขึ้น”

          “ภิกษุทั้งหลาย ! บัดนี้เราขอเตือนพวกท่านให้รู้ว่า สิ่งทั้งหลายที่เกิดมาในโลก มีความเสื่อมสลายเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลายจงทำหน้าที่ อันเป็นประโยชน์แก่ตนและคนอื่นให้สำเร็จบริบูรณ์ด้วยความไม่ประมาทเถิด”

          “เธอจงมองดูโลกนี้โดยความเป็นของว่างเปล่า มีสติอยู่ทุกเมื่อ ถอนอัตตานุทิฎฐิคือความยึดมั่นถือมั่นเรื่องตัวตนเสียด้วยประการฉะนี้ เธอจะเบาสบายคลายทุกข์คลายกังวล ไม่มีความสุขใดยิ่งไปกว่าการปล่อยวาง และการสำรวมตนอยู่ในธรรม”
“ผู้จะถือเอาความสุขในนิพพาน ต้องวางความสุขในโลกีย์ให้หมด”

          “ตราบใดที่ยังไม่สลัดความพอใจในสังขารออก ความทุกข์ย่อมติดตามไปเสมอ เมื่อรากยังมั่นคง แม้ต้นไม้จะถูกตัดแล้วมันก็สามารถขึ้นได้อีก ฉันเดียวกัน เมื่อบุคคลยังไม่ถอนตัณหานุสัยออกจากดวงจิต ความทุกข์ก็เกิดขึ้นได้บ่อย ๆ “

          “ความสิ้นอาสวะ เป็นอานิสงส์สูงสุดแห่งการบำเพ็ญคุณงามความดีทั้งหลาย เพราะความทุกข์ความเดือดร้อนของหมู่สัตว์เกิดขึ้นได้ก็ด้วยอาสวะกิเลส”

          “การวางใจปลงใจนั้นคือ วางสุข วางทุกข์ วางบาปบุญ คุณโทษ วางโลภ โกรธ หลง วางลาภ ยศ นินทา สรรเสริญหมดสิ้นเหมือนกับไม่มีหัวใจ จึงชื่อว่าทำให้เหมือนแผ่นดิน ถ้ายังทำไม่ได้อย่าหวังว่าจักได้โลกุตรนิพพานเลย ถ้าทำตัวให้เหมือนแผ่นดินได้ ในกาลใด ถึงหวังซึ่งโลกุตรนิพพาน คงได้คงถึงในกาลนั้นโดยไม่ต้องสงสัย”

          “ผู้ฉลาดด้วยปัญญา ท่านบำเพ็ญอสุภานุสติกรรมฐานปรารถนาเอาพระนิพพานเป็นที่ตั้งนั้น ท่านย่อมถือเอาอสุภะในตัวเป็นอารมณ์ของกรรมฐาน ถ้ายังเอาอสุภะภายนอกเป็นอารมณ์อยู่แล้ว ยังไม่เต็มทางปัญญาเพราะยังอาศัยสัญญาอยู่ ถ้าเอาอสุภะในตัวเป็นอารมณ์ของกรรมฐานได้ จึงเป็นที่สุดแห่งทางปัญญาเป็นตัววิปัสสนาญาณได้ บุคคลผู้ใดปรารถนาพระนิพพาน จงยังอสุภะกรรมฐานในตนให้แจ้งชัดเถิด”

          “ปัญญาซึ่งมีความหนักแน่นมั่นคงเหมือนแผ่นดิน ย่อมเกิดขึ้นแก่ผู้ใคร่ครวญเสมอ ฉะนั้นจงพยายามทำปัญญาให้มั่นคงเหมือนแผ่นดิน และสามารถจะแทงทะลุอะไร ๆ ได้ให้เกิดขึ้นด้วยการพิจารณาอยู่เสมอ ไม่มีอะไรจะแหลมคมยิ่งกว่าปัญญา ปัญญานี้แลเป็นเครื่องตัดกิเลสทั้งมวล ไม่มีอะไรจะเหนือปัญญาไปได้”

          “ภิกษุทั้งหลาย น้ำในมหาสมุทรย่อมมีรสเดียวคือรสเค็มฉันใด ธรรมวินัยก็ฉันนั้น มีรสเดียว คือ “วิมุตติรส” หมายถึง ความหลุดพ้นจากกิเลสเป็นจุดมุ่งหมายสำคัญแห่งพรหมจรรย์ที่เราประกาศแล้ว”

          “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ยินดีในธรรม ตรึกตรองธรรม ระลึกถึงธรรมอยู่เสมอ ย่อมไม่เสื่อมจากพระสัทธรรม ไม่เสื่อมจากพระนิพพาน”

          “ในบรรดารอยเท้าทั้งหมดถือว่ารอยเท้าช้างใหญ่ที่สุดในบรรดาการฝึกสติทั้งหมด มรณานุสตินับว่ายิ่งใหญ่ที่สุด”

          “ดูก่อนอานนท์ ในวันหนึ่ง ๆ เธอระลึกถึงความตายวันละกี่หน เราตถาคตระลึกถึงความตายเป็นอารมณ์ ทุกลมหายใจเข้าออก”

          โอวาท หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต

          อดีต คือสิ่งที่ล่วงไปแล้วไม่ควรไปทำความผูกพัน เพราะเป็นสิ่งที่ล่วงไปแล้วอย่างแท้จริง แม้จะทำความผูกพันและมั่นใจให้สิ่งนั้นกลับมาเป็นปัจจุบันก็เป็นไปไม่ได้ ผู้ทำความสำคัญมั่นหมายนั้น เป็นทุกข์แต่ผู้เดียวโดยความไม่สมหวังตลอดไป

          อนาคต คือสิ่งที่ยังมาไม่ถึง ก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรยึดเหนี่ยวเกี่ยวข้องเช่นกัน อดีตควรปล่อยไว้ตามอดีต อนาคตก็ควรปล่อยไว้ตามกาลของมัน

          ปัจจุบัน เท่านั้นสำเร็จประโยชน์ได้ เพราะอยู่ในฐานะที่ทำได้ไม่สุดวิสัย

          “เพราะเหตุว่าการทำจิตใจให้สงบนั้นเป็นนามธรรม เมื่อเกิดความอัศจรรย์หรือความสบายก็ไปเข้าใจเสียว่าดีแล้ว จึงเป็นเหตุให้ไม่สามารถจะรู้ให้ยิ่งขึ้นได้ จึงไม่ควรตำหนิผู้ที่ทำสมาธิแล้วหลงใหลไปตามโลกียญาณเพราะเขาเหล่านั้นก็ได้ความดี ความเย็นใจซึ่งเป็นสิ่งที่หาได้ยาก แต่ที่ควรตำหนิก็เพราะว่าเขาไม่พยายามหาโลกุตรธรรมนั้น อันการติดในธรรมปฏิบัติอันเป็นภายในนี้ มันไม่ไปนรกดอก แต่มันทำให้ล่าช้าต่อการยิ่งเห็นจริงต่าง ๆ เพราะความรู้เท่าไม่ถึงการณ์นั่นเอง ที่ทำให้เขาต้องเสียประโยชน์ยิ่งคือ ฉิบหายเสียจากคุณอันใหญ่”

          “ท่านทั้งหลายจงอย่าทำตัวเป็นตัวบุ้งตัวหนอนคอยกัดแทะกระดาษแห่งคัมภีร์ใบลานอยู่เปล่า ๆ โดยไม่สนใจพิจารณาสัจธรรมอันประเสริฐที่มีอยู่กับตัว แต่มัวไปยึดธรรมที่ศึกษามาถ่ายเดียว ซึ่งเป็นสมบัติของพระพุทธเจ้ามาเป็นสมบัติของตนด้วยความเข้าใจผิดว่า ตนเรียนรู้และฉลาดพอตัวแล้ว ทั้งที่กิเลสยังกองเต็มหัวใจยิ่งกว่าภูเขาไฟ มิได้ลดน้อยลงบ้างเลย จงพากันมีสติคอยระวังตัว อย่าให้เป็นคนประเภทใบลานเปล่า ๆ เรียนเปล่าและตายทั้งเปล่า ไม่มีธรรมอันเป็นสมบัติของตัวอย่างแท้จริงติดตัวบ้างเลย “

          “การตายด้วยความเพียงพอทุกอย่าง เป็นการตายที่หมดกังวลพ้นทุกข์ แม้จะไปอยู่ที่ไหนก็ไม่มีอะไรบกพร่อง ผู้เพียงพอทุกอย่างแล้วไม่จำเป็นต้องคาดต้องหวังสิ่งใดๆ ทั้งสิ้น อยู่กับความเพียงพอนี้เอง”

          โอวาทคำสอนของหลวงพ่อชา สุภัทโท (วัดหนองป่าพง)

          “คนจะบรรลุธรรม จะได้เห็นธรรมะ ต้องรู้จักว่าธรรมะอยู่ตรงไหนเสียก่อน ธรรมะที่แท้จริงอยู่ที่ไหน อยู่ที่นี่ อยู่ที่กาย อยู่ที่ใจ ให้เอาใจนี้พิจารณากาย นี้เป็นหลักการพิจารณา”

          “ปัญญา(ที่แท้) จะไม่เกิดขึ้นจากความอยากนั้น ดังนั้นจงเพียรแต่ “ละความอยาก “ เสีย จงเฝ้าดูจิตและกายอย่างมีสติ แต่อย่ามุ่งหวังที่จะบรรลุอะไร อย่ายึดมั่นถือมั่นในเรื่องการปฏิบัติหรือในการรู้แจ้ง”

          “ถ้าท่านยึดติดอยู่กับภาวะจิตที่สงบ ท่านจะเป็นทุกข์เมื่อจิตไม่สงบ ฉะนั้นจงปล่อยวางหมดทุกสิ่งแม้แต่ความสงบ”

          “ถ้าเห็นสิ่งที่ไม่ชอบใจแล้วยังเอาไว้ในใจของเรา ให้เรียนใหม่ เพราะยังผิดอยู่ ยังไม่ยิ่ง ถ้ามันยิ่งแล้ว มันวาง ให้ดูอย่างนี้ดูจิตของเราจริง ๆ “

          “การทำจิตให้สงบคือการวางให้พอดี ตั้งใจเกินมากไปมันก็เลยไป ปล่อยมากเกินไปมากมันก็ไม่ถึง เพราะขาดความพอดี”

          “ข้อสำคัญที่สุดคือแนวทางปฏิบัติที่ดีและถูกต้องจะต้องนำไปสู่การไม่ยึดมั่นถือมั่น ลงท้ายแล้วก็ต้องปล่อยวาง แนวทางการภาวนาทุกรูปแบบจะต้องเป็นไปเพื่อการปล่อยวาง ผู้ปฏิบัติต้องไม่ยึดมั่นแม้ตัวอาจารย์ แนวทางใดที่นำไปสู่การปล่อยวาง สู่การไม่ยึดมั่นถือมั่น ก็เป็นทางปฏิบัติที่ถูกต้อง”

          โอวาทคำสอนหลวงพ่อพุทธทาส

          “ตายให้เป็นคือตายชนิดที่ไม่ตาย แต่กลับเป็นอยู่ตลอดกาล และต้องเป็นการกระทำชนิดที่เรียกว่าตายเสียก่อนตาย คือตายเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก่อนแต่ร่างกายแตกดับ “

          “การกุศลที่แท้จริงและสูงสุดนั้นคือ การทำให้มนุษย์ได้รู้ถึงสิ่งที่มนุษย์ควรรู้หรือจำเป็นต้องรู้ และให้ได้ถึงสิ่งที่ควรเข้าถึงหรือจำเป็นต้องเข้าถึง กล่าวคือ ธรรมะที่ทำให้จิตใจสูง ได้แก่การที่มีใจมีความสะอาดปราศจากกิเลส ใจสว่าง ปราศจากความเป็นผิดและใจสงบจากความทุกข์ร้อนภายในทุกประการ จะรู้หนังสือหรือไม่รู้หนังสือก็ตาม จะมีโบสถ์สำหรับสวดมนต์ทำพิธีหรือไม่ก็ตามก็ไม่สำคัญเท่าความสะอาด สว่าง สงบของจิตใจ ซึ่งจำเป็นเร่งด่วนหรือต้องการก่อนสิ่งอื่นใดทั้งหมดทั้งสิ้น”

          “อย่ามุ่งหมายความสุขอันประเสริฐอะไร ๆ ให้มากไปกว่าความปกติของจิตที่ไม่ยินดียินร้าย ไม่ขึ้นไม่ลงไปตามอารมณ์ที่กระทบ เพราะไม่มีสุขอะไรประเสริฐยิ่งไปกว่าความปกติของจิตนั้น”

           โอวาท หลวงปู่ดุลย์ อตุโล

          “ที่ใจเป็นทุกข์เพราะเกิดความยึดมั่น แล้วมีการปรุงแต่งในความคิดขึ้นและอุบายที่จะละความทุกข์ก็คือหยุดการปรุงแต่งแล้วปล่อยวางให้เป็น”

          “เมื่อสังขารดับแล้วความเป็นตัวเป็นตนก็จะไม่มี เพราะไม่ได้เข้าไปเพื่อปรุงแต่ง ครั้นเมื่อความปรุงแต่งขาดหายไป ความทุกข์จะเกิดได้อย่างไร”

          “เพียงแต่หยุดความคิดปรุงแต่ง และหมดความกระวนกระวายเพราะการแสวงหาเสียเท่านั้น พุทธะก็ปรากฏตรงหน้า เพราะว่าจิตคือพุทธะนั่นเอง”

          โอวาท สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี)

          ยศและลาภหาบไปไม่ได้แน่ มีเพียงแต่ต้นทุนบุญกุศล
ทรัพย์สมบัติทิ้งไว้ให้ปวงชน แม้ร่างตนเขายังเราไปเผาไฟ
เมื่อเจ้ามามีอะไรมาด้วยเจ้า เจ้าจะเอาแต่สุขสนุกไฉน
เจ้ามามือเปล่าเจ้าจะเอาอะไรไป เจ้าก็ไปมือเปล่าเหมือนเจ้ามา

          บุญเราไม่เคยสร้างใครที่ไหนจะมาช่วยเรา

          “ลูกเอ๋ย..........ก่อนจะเที่ยวไปขอบารมีหลวงพ่อองค์ใด เจ้าจะต้องมีทุนของตัวเองคือ บารมีของตนลงทุนไปก่อน เมื่อบารมีของเจ้าไม่พอจึงค่อยยืมบารมีคนอื่นมาช่วย มิฉะนั้นเจ้าจะเอาตัวไม่รอด เพราะหนี้สินในบุญบารมีที่เที่ยวไปขอยืมมาจนพ้นตัว เมื่อทำบุญกุศลได้บารมีมาก็ต้องเอาไปผ่อนใช้หนี้เขาจนหมดไม่มีอะไรเหลือติดตัว แล้วเจ้าจะมีอะไรไว้ในภพหน้า หมั่นสร้างบารมีไว้ (สร้างความดี) แล้วฟ้าดินจะช่วยเอง จงจำไว้นะ เมื่อยังไม่ถึงเวลาเทพเจ้าองค์ใดคิดช่วยก็ไม่ได้ แต่ครั้นถึงเวลาทั่วฟ้าจรดดินอะไรก็ต้านเจ้าไม่อยู่ จงอย่าไปเร่งเทวดาฟ้าดิน เมื่อบุญเราไม่เคยสร้างไว้เลย จะมีใครที่ไหนมาช่วยเจ้า”

          “ความจริง พอกิน พอใช้ พออยู่ รู้พอ ย่อมสงบ มนุษย์หยุดนิ่งไซร้ความจริงย่อมเกิด ถ้าท่านยังไม่หยุด ท่านยังไม่มีโอกาสพบความจริง”

          “หัวใจการเจริญวิปัสสนากรรมฐานนั้นต้องละจนถึงที่สุดมิใช่ไปยึด”

 


แค็ตตาล็อก
1. ก่อนช้อป 19. ไม่ได้มุสา 37. สมรรถภาพจิต
2. ธรรมะอินเตอร์เน็ต 20. เปลี่ยนจุดมอง 38. ยำความคิด
3. พญามารรับน้อง 21. กฐินของฝนสุย 39. ผู้ให้
4. ถังเหลืองแลกหุ้น 22. สร้างพระ 40. คนมีธรรม
5. น้ำตาบารมี 23. ศึกมังฉงาย 41. ธรรมะประจำชีวิต
6. ปล่อยบุญ 24. ให้อภัยตัวเอง 42. แผ่นดินสอนธรรม
7. ทิ้งเวร 25. บุญบนโต็ะทำงาน 43. เทียนชีวิตของจอม
8. สะดือพริตตี้ 26. ข้าวแกงใส่ธรรม 44. ซักใจ
9. บุญไม่เกี่ยว เหนียวไว้ก่อน 27. นักขายประกัน 45. สมถะกับวิปัสสนา
10. ส่งหรีดส่งบุญ 28. สุดสาครสันโดษ 46. เมตตาตัวเอง
11. ต้นไม้ของใจแก้ว 29. ติ่มซำอิจฉา 47. กรรมลิขิต
12. พระสร้างวัด 30. กรรมมาเยี่ยม 48. เบียดเบียนตนเอง
13. พระพุทธรูปสอนธรรม 31. บุญงามยามเช้า 49. คารวะแด่พระอาจารย์วศิน อินทสระ
14. ธรรมะโฮล อิน วัน 32. การพยาบาลของวันวิสาข์ 50. วันสงกรานต์
15. เทียนไสว 33. กรรมโบราณ 51. งานวันปีใหม่
16. ปากกาของเมฆอ้วน 34. ล้างจานล้างใจ 52. บันทึกท้ายเล่ม
17. หัวใจติดแอร์ 35. น้ำในเรือ 53. โอวาทคำสอน
18. รักษาใจ 36. ชีวิตหุ่นเชิด อ่านแบบไฟล์ .pdf
 
หน้าแรกธรรมจักร l กลับเรือนธรรม