ตอนเช้าตรู่วันอาทิตย์
ฉันจะเดินออกจากบ้านด้วยความรู้สึกสดชื่น อากาศเย็นของยามเช้ายังคงอ้อยอิ่งอยู่
แสงแดดอ่อนยังไม่ทำให้ร้อนในขณะเดินไปตามถนนราชสีมา เป็นความสุขอย่างหนึ่งของเช้าวันอาทิตย์
ในการเดินไปสู่วัดบวรนิเวศ บางลำพู เพื่อเรียนพระสุตตันตปิฎกกับท่านอาจารย์วศิน
อินทสระ
ทุกครั้งที่มีคนถามฉันว่าเรียนอะไรกับอาจารย์
และฉันตอบว่าเรียนพระสุตตันตปิฎก จะมีคำถามย้อนกลับมาเสมอว่าพระสุตตันตปิฎกคืออะไร
ฉันตอบว่าคือคำสอนทั้งหมดของพระพุทธเจ้า เราเรียนพระสูตรในพระไตรปิฎกกัน
คนถามจะพยักหน้าหงึกหงักอย่างไม่เข้าใจ และรู้สึกว่าคงจะเป็นเรื่องทั่ว
ๆ ไป ที่ รู้กันอยู่แล้ว ฟังพระเทศน์ที่ไหน ๆ ก็ได้
ในห้องเรียน
เราจะอ่านพระสูตรกัน แต่เป็นชุดที่อาจารย์ท่านได้ทำภาษาให้ง่ายลงแล้ว
แต่กระนั้นเมื่ออ่านแล้ว ก็ยังคงความไพเราะสุนทรีย์ของถ้อยคำและข้อความของพระสูตร
อ่านแล้วประทับใจ ทั้งยังได้เห็นพระอัจฉริยภาพของพระพุทธเจ้าในการสั่งสอนศาสนา
และรู้สึกอบอุ่นเหมือนได้พบได้ใกล้ชิดกับพระพุทธเจ้าด้วยว่าตอนนั้น
ๆ ท่านเสด็จอยู่ที่ใด และเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น ประหนึ่งว่าตัวเราเองได้อยู่ในกาลเวลานั้นด้วย
การอ่านพระสูตร นอกจากจะยังความประทับใจให้เกิดขึ้นแล้ว ยังได้เปิดโลกแห่งปัญญาให้แก่ตนเองอย่างมหาศาล
ไม่ใช่เพียงแค่เรื่องเล่าเล็ก ๆ น้อย ๆ อย่างที่ใครๆ คิดกันว่าเป็นเรื่องที่
รู้กันอยู่แล้ว เลยแม้แต่น้อย
นอกจากการอ่านพระสูตรแต่ละบทแล้ว
อาจารย์ก็อธิบายรายละเอียดปลีกย่อยเพิ่มเติมให้ เพื่อให้ผู้เรียนเข้าใจในเนื้อหามากยิ่งขึ้น
ในขณะเดียวกัน อาจารย์ผู้มีพรสวรรค์ในการบรรยายเนื่องจากท่านมีความเป็นนักประพันธ์อยู่ในตัวด้วย
ก็มักจะเอื้อเฟื้อสอนธรรมะข้อที่เป็นประโยชน์กับชีวิตประจำวันของเราด้วย
ซึ่งฉันก็จะคอยจดตามยิก ๆ อยู่เต็มในหนังสือเรียน เป็นความเพลิดเพลินอีกประการหนึ่งของการเรียน
วันหนึ่งฉันเรียนถามอาจารย์ว่า
จะตอบคนกินเหล้าอย่างไรว่าบาป เขาบอกไม่เห็นบาปตรงไหน เงินก็เงินของเขา
กินแล้วก็ไม่ได้เมา หรือเมาก็หลับไป ไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อน อาจารย์ตอบว่า
การกินเหล้านั้นเบียดเบียนสุขภาพของตนเอง เงินของเขาเองก็จริง แต่ควรจะใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างอื่นมากกว่า
เพราะธรรมะสอนให้ทำแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์
ฉันไปดูส่วนที่ฉันจดจากคำสอนของอาจารย์ในห้อง
พบข้อความว่า ไม่ควรละเลยโทษเล็กน้อย เหมือนผ้าขาดนิดหนึ่ง ต้องรีบปะชุน
ไม่อย่างนั้นก็จะขยายเป็นขาดมากในที่สุด
ธรรมดาคนเรามักจะเข้าข้างตัวเอง
อะไรที่ตนเองชอบก็มักจะพยายามหาเหตุผลมาแถลงเพื่อให้เห็นว่าดี เช่นการกินเหล้านี่แหละ
แถลงแล้วจะได้สบายใจ แล้วกินต่อไป ความจริงอะไรที่ต้องหาคำมาแถลง
ก็ต้องสงสัยหน่อยแล้วว่ามันดีจริงหรือเปล่าเพราะของดีแท้นั้น มันไม่ต้องแถลง
เหมือนทองที่มันไม่เคยต้องบอกว่ามันเป็นทอง
อาจารย์สอนว่า
ความดีกับสิ่งที่ดีนั้นไม่เหมือนกัน คนส่วนมากต้องการสิ่งที่ดี
แต่ไม่รู้จักความดี สิ่งที่ดีเป็นของใครก็ของคนนั้น สิ่งที่ดีของคนหนึ่งอาจไม่ดีสำหรับอีกคนหนึ่ง
เนื้อของคนหนึ่ง อาจเป็นพิษของอีกคนหนึ่ง แต่ความดีเป็นสากล ใครจะดี
ดี ไม่ดี มันก็ไม่เปลี่ยนเป็นไม่ดี มันเป็นความจริงในตัวของมันเองใครจะคิดว่าไฟเย็นก็แหย่มือเข้าไปดูก็รู้ว่าร้อน
มันเป็นความจริงในตัวของมันเอง ไม่เป็นความจริงไปตามความรู้สึกของเรา
ถ้าคนเราตระหนักในเรื่องนี้อย่างที่อาจารย์พูด
เราคงมีการถกเถียงกันน้อยลง ชีวิตคงจะมีเวลาสงบลงอีกนิดหนึ่ง
ปัญหาคือเรามักจะพูดเข้าข้างความคิดของตัวเอง
และบางครั้งแม้จะเกิดรู้ทีหลังว่าผิด ก็น้อยคนนักจะยอมแก้ไขความเห็นเพราะเรามีความเป็นฉัน
ความเก่ง ความหยิ่ง ทะนงตนอยู่ กลัวจะเสียหน้า เลยยอมผิดทั้งที่รู้ไปก็มี
ส่วนบางคนก็ดีมากเลย
เมื่อใครโต้แย้งก็รับฟัง ใครจะผิดหรือถูกก็มาวิเคราะห์กัน ถ้าผิดก็ยอมแก้ไขความเห็น
จะได้ส่งต่อความเห็นที่ถูกกันต่อไป แต่ไม่ใช่ทะเลาะกัน
อันนี้ก็ไปเข้ากับธรรมะข้อหนึ่งในสาราณียธรรม
6 ข้อที่ว่าด้วยทิฐิสามัญตา คือมีความเห็นถูกต้องดีงาม และแม้จะมีความเห็นไม่ตรงกันแต่ไม่ทะเลาะกัน
เรียกว่า แสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง หมายความว่า อะไรที่เห็นต่างกัน
พูดแล้วจะทะเลาะกัน ก็ไม่พูด
เรื่องความเห็นนี้
เกิดจากความรู้หรือประสบการณ์ของชีวิตเหมือนกัน บางคนได้เรียนรู้มามาก
ผ่านชีวิตมาเยอะ เข้าใจอะไร ๆ ได้ดี ก็อาจจะมองอะไรได้มากกว่า แต่การจะบอกเล่าประสบการณ์ของคนหนึ่ง
ให้อีกคนหนึ่งเข้าใจนั้นก็เป็นเรื่องยาก
มันยากอยู่
2 ประเด็น คือแม้ผู้ฟังเข้าใจอย่างไร ก็ไม่ถ่องแท้ด้วยไม่ได้ประสบกับตนเอง
มันนึกไม่ออก กับอีกข้อคือ คนเรามักคิดว่าเรื่องที่เกิดกับเขาไม่ถ่องแท้ด้วยไม่ได้ประสบกับตนเอง
มันนึกไม่ออก กับอีกข้อคือ คนเรามักคิดว่าเรื่องที่เกิดกับเขา คงไม่เกิดกับเรา
คล้าย ๆ กับที่เราประมาทเพลิดเพลินอยู่ในโลกนี้ทุกวันนี้นั้นแหละ
บางทีไปงานศพ เห็นเขาตาย ก็ยังไม่ได้นึกว่าตัวเองก็ต้องตายเหมือนกัน
ไม่ได้มรณานุสติติดมือกลับบ้าน มันแต่ไปเม้าท์กับเพื่อน ๆ เหมือนงานคืนสู่เหย้า
พระพุทธเจ้าตรัสว่า
นักปราชญ์ ย่อมมองเห็นคนพาล (คนโง่) เหมือนคนที่ยืนอยู่บนยอดเขาเห็นคนข้างล่าง
แต่คนข้างล่างมองไม่เห็นคนบนยอดเขา พูดง่าย ๆ คนฉลาดเข้าใจคนโง่
แต่คนโง่ไม่เข้าใจคนฉลาด
ตรงนี้อาจารย์ท่านอธิบายให้ฟังว่า
คนที่ยืนอยู่บนภูเขา
มองลงไปข้างล่าง ก็จะเห็นวิวหมดเลยว่าตรงไหนมีต้นไม้ มีหุบเขา มีลำธาร
แต่คนเชิงเขามองไม่เห็นและแม้จะบรรยายยังไง คนเชิงเขาก็นึกไม่ออก
ต้องขึ้นไปดูเองบนยอดเขา
หรือแม้แต่คนยืนบนยอดเขาเอง
ถ้าคนสองคนยืนบนยอดเขา แต่หันหน้าไปคนละทิศ ก็จะเห็นอะไรไม่เหมือนกันอีก
นี้ก็เป็นสาเหตุทำให้คนเราคิดเห็นไม่เหมือนกัน
มีความขัดแย้งกันทางความคิด ด้วยยืนคนละจุดทำให้ไม่เข้าใจกันได้
เหมือนอย่างนายจ้างมองลูกจ้าง นายจ้างก็มองเห็นปัญหาของตัวเอง แต่ไม่เห็นปัญหาของลูกจ้าง
ในทำนองเดียวกัน ลูกจ้างก็มองเห็นแต่ปัญหาของตัวเอง ไม่เข้าใจปัญหาของนายจ้าง
เพราะมองไม่เหมือนกัน
ผลของข้อนี้ทำให้เรารู้ว่า
เราไม่รู้ทุกข์ ไม่เข้าใจทุกข์ของคนอื่น เพราะฉะนั้น เราไม่ควรคิดว่าเราเข้าใจทุกข์ของคนอื่น
โอ้โฮ
คำสอนของอาจารย์ตรงนี้ ใช่เลย โดนใจเป๊ะ เรื่องอย่างนี้เจอบ่อย บางทีเราก็
(นึกว่า) เข้าใจคนอื่น บางทีคนอื่นก็(นึกว่า) เข้าใจเรา สรุปแล้วไม่มีใครเข้าใจใคร
แต่แนะนำกันใหญ่ให้วุ่นไป
อันนี้ก็ต้องเรียนกันต่อไป
เพื่อวันหนึ่งจะได้เป็นคนฉลาดกับเขาบ้าง อาจารย์สอนอีกว่า ถ้าอยากได้น้ำ
ต้องขุดดินให้ลึก ถ้าอยากรู้ความจริงก็ต้องคิดให้ลึก อย่าคิดอย่างผิวเผิน
อาจารย์สอนแล้วก็ต้องจำไว้ให้ดีๆ
หมั่นขุดดิน เอ๊ย หมั่นคิดให้ลึกเข้าไว้อย่างอดทน วันหนึ่งคงจะได้ดี
เพราะอาจารย์เคยบอกว่า
คนปลูกต้นไม้
ตอนแรกก็ต้องดูแลต้นไม้ แต่ต่อไปต้นไม้ก็จะดูแลคนปลูก คือให้ผลให้ดอกให้ร่มเงา
เหมือนพ่อแม่เลี้ยงลูก ต่อไปลูกก็จะเลี้ยงดูพ่อแม่ อันนี้เป็นเรื่องความกตัญญูด้วย
ความกตัญญูเป็นสิ่งที่เราทำดีกับคนอื่นแล้วไม่ต้องจำ แต่สิ่งที่คนอื่นทำดีกับตัวเองต้องจำไว้
และตอบแทน ความกตัญญูก็สืบเนื่องมาจากความไม่ประมาท คนไม่ประมาทเป็นเหตุให้ทำดีมากมาย
พุทธศาสนสุภาษิตมีอยู่ว่า
เพราะมัวเมา
ความประมาทก็เกิดขึ้น เพราะประมาท ความเสื่อมก็เกิดขึ้น เพราะความเสื่อม
โทษเป็นอันมากก็เกิดขึ้นฉะนั้น ท่านอย่าประมาทเลย
คนเราบางทีพอประมาท
เราก็ขาดความสำรวม เช่น ไม่สำรวมวาจา ก็เลยทำให้ต้องทะเลาะกัน ดังนี้เป็นต้น
อย่างนี้เอง
โอวาทสุดท้ายของพระพุทธเจ้า จึงเตือนสติ
ท่านทั้งหลาย จงถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด
สาธุ
อ่านแล้วสำนึกในบุญคุณของพระพุทธเจ้าและพระธรรมที่ทรงสั่งสอน ช่างทรงเมตตาแนะนำทางแก่เราผู้อ่อนด้อยโง่เขลา
เพื่อประโยชน์ของตัวเอาเองแท้ๆ แต่เราบางคนก็ยังไม่รู้ช่างน่าเสียดาย
เรียนธรรมะกับอาจารย์แล้ว
ได้ซาบซึ้งกับรสพระธรรมมากมาย นับเป็นบุญเหลือล้นที่ได้มีโอกาสมาให้ท่านสอนจนได้รู้รสทั้งอรรถและพจน์แห่งพุทธธรรม
ขอถือโอกาสนี้
กราบคารวะและขอบพระคุณท่านอาจารย์วศิน อินทสระ ด้วยความเคารพยิ่ง.