กลับหน้าแรก   ปรับขนาดตัวอักษร เพิ่มขนาด ลดขนาด ขนาดปกติ 

 

          วันนี้เอิงเอยมาชวนแป๋วแหวว ไปเข้าคอร์สอบรมสมาธิเบื้องต้น แต่แป๋วแหววส่ายหัวไม่หยุด จนเอิงเอยต้องเอื้อมมือไปจับหน้าไว้

          “กลัวอะไร”

          “ทำไม่ด้ายยย” แป๋วแหววหลับตาพูด “นั่งสมาธิไม่ได้ มันฟุ้งซ่าน คิดอะไรไปเรื่อย พอไม่คิดก็หลับ” แป๋วแหววสัปหงกให้ดู

          “เขานั่งสมาธิกกัน เพื่อให้ใจสงบ เราทำงานกันมาก จิตใจวุ่นวาย ทำให้ใจมันเหนื่อย นั่งสมาธิให้ใจสงบ ใจจะได้มีแรง”

          “เออนี่” แป๋วแหววนึกขึ้นได้ “พี่มุ้งมิ้งเขาบอกว่า น้าสาวของเขานั่งสมาธิมาหลายปี เขาเห็นอะไรเยอะแยะเลยล่ะ เธอว่าจริงมะ”

          “นี่แป๋วแหวว” เอิงเอยทำเสียงดุ “การนั่งสมาธิไม่ใช่เพื่อจะเห็นอะไรนะ หลวงปู่ดุลย์ อตุโล ท่านบอกว่าที่เขาเห็นนะจริง แต่สิ่งที่เขาเห็นนั้นไม่จริง เรานั่งสมาธิเพื่อให้ใจสงบ ไม่ฟุ้งซ่าน”

          แป๋วแหววเงียบ แต่แลบลิ้นหลอกให้ เอิงเอยพูดต่อไป

          “การนั่งสมาธินั้น ถ้าอย่างเราๆ ก็นั่งสมาธิเพื่อเอาไปใช้ในชีวิตประจำวัน นั่งสมาธิให้จิตใจมีกำลัง มีสติ จะได้กับเรื่องยุ่ง ๆ ที่จะเข้ามาหาเรา”

          “ทำยังไงมั่งล่ะจ๊ะ” แป๋วแหววถามเอาใจ

          “ในชั่วโมงที่เรานั่งสมาธิ หรือเรียกว่าภาวนา เราก็เอาใจจดจ่ออยู่ที่ปลายจมูก ดูลมหายใจเข้าลมหายใจออกที่ผ่านตรงนั้นเราอาจจะภาวนาพุทโธ พุทโธ ไปด้วยก็ได้ เพื่อเป็นหลักประคองใจไว้ นั่งสักครึ่งชั่วโมง นี่สมาธิเบื้องต้น”

          “แล้วที่เขาเรียกว่าสมถะวิปัสสนาล่ะ” แป๋วแหววซักสนใจ

          “หลวงพ่อชา สุภัทโท สอนว่า สมถะกับวิปัสสนาเหมือนสันมีดกับคมมีด ไม่แยกกัน เวลายกมีดขึ้นมาก็ขึ้นมาหมดทั้งสันทั้งคม

          สมถะเป็นการทำใจให้สงบ ทำให้อารมณ์จดจ่อเป็นอารมณ์เดียว วิธีการที่พระพุทธเจ้าให้ไว้มีถึง 40 วิธี แล้วแต่จริตของแต่ละคน ใครถนัดแบบไหนก็เลือกทำไป ถ้าในที่สุดแล้วใจสงบก็เป็นอันใช้ได้

          อย่างพวกศรัทธาจริต ท่านก็ให้ระลึกถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นต้น กลุ่มนี้มีจิตใจน้อมเชื่อง่าย เมื่อระลึกจิตก็เป็นกุศล รู้สึกสงบ

          ถ้าพวกปัญญา ชอบคิดก็คิดถึงความตาย ชีวิตไม่แน่นอน แต่ความตายนั้นแน่นอน มองเห็นโทษเห็นความเสื่อมไปของร่างกาย ก็ปล่อยวาง เป็นต้น

          ส่วนพวกวิกลจริต ชอบคิดชอบสงสัย ให้ดูลมหายใจเข้าออกหรือความว่าง ให้ใจอยู่กับความว่าง

          ในชีวิตประจำวันของเราก็เอามาใช้ได้ สังเกตดูว่าขณะนี้อารมณ์จิตใจเราเป็นยังไง มันรู้สึกยินดีพอใจในรูปเห็นเป็นของสวย หัวใจเริ่มหลงตัวเอง ท่านก็ให้ดูกายว่าจริง ๆ ขน ผม เล็บ ฟัน หนัง เป็นของสกปรก

          ถ้าจิตกำลังลังเลสงสัยก็ดูลมหายใจ หรือตอนนี้จิตโกรธก็เจริญเมตตา คือสังเกตอารมณ์จิตปัจจุบันว่าเป็นยังไง ก็ทำไปตามจริตเรา เหล่านี้เป็นสมถะเพื่อให้จิตสงบ

          ท่านสอนว่า เมื่อเราเจริญสมถะ วิปัสสนาก็ซ่อนอยู่ในที่เดียวกัน วิปัสสนามีไตรลักษณ์เป็นอารมณ์

          เช่นแป๋วแหววกำลังเพลินหลงว่าผิวสวยจัง เริ่มฟุ้งซ่านแล้วก็ทำสมถะโดยพิจารณาความตาย มรณังเอ๊ยมรณัง อีกหน่อยผิวนี้ก็ต้องเหนี่ยว ต้องตาย ต้องเน่าไปสลายไป เมื่อจิตสงบจากสมถะ ใจก็ค่อย ๆ ลดลงจากฟ้ามาติดดินตามเดิม แล้วก็เห็นความเป็นทุกข์ของผิวหนัง คือทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ เป็นอนิจจัง ไม่มีความเที่ยงแท้แน่นอน เป็นอนัตตาบังคับให้สวยไปนิรันดร์ไม่ได้ เห็นไตรลักษณ์ของสังขารอย่างนี้แล้วก็จะทำปัญญาให้ก้าวหน้าไปตามลำดับจนแจ้งวิปัสสนาได้

          สมถะเป็นอุบายให้จิตสงบ วิปัสสนาเป็นอุบายให้จิตมีปัญญา จิตสงบน้อยปัญญาก็เห็นน้อย จิตสงบมากปัญญาก็เห็นมาก หลวงพ่อชาจึงบอกว่ามันมาพร้อมกัน เหมือนมะม่วงจะลูกเล็ก ลูกกลาง ห่าม สุก ก็อยู่ในใบเดียวกัน”

          เอิงเอยหยุดดื่มน้ำอึกใหญ่ แป๋วแหววยิ้มเงียบ ๆ มองเอิงเอยตาแป๋ว

          “แป๋วแหววว่าพอจะหยุดให้สงบ มันจะยิ่งไม่สงบเข้าไปใหญ่”

          “ใจคนเราที่ยังไม่ได้ฝึก ท่านว่าเหมือนลิง มันวิ่งไปทั่ว ทำสมถะก็เหมือนเอาเชือกมาผูกคอลิงไว้กับหลัก มันวิ่งวนไปวนมาเชือกพันหลักไปเรื่อย ๆ ก็สั้นเข้า ๆ มันก็จะมาหยุดอยู่กับหลักในที่สุด

          หลวงพ่อปราโมทย์ ท่านเทียบให้ฟังว่า “เหมือนเด็กมาวิ่งเล่นหน้าบ้านเรา สมถะคือเราต้องเอาขนมไปล่อให้เด็กมันหยุดซน มันจะได้มานั่งนิ่งๆ “

          การทำสมถะกับวิปัสสนานี่ บางคนก็ทำสมถะก่อน คือ พอให้จิตใจสงบลงดีแล้วก็พิจารณาความเป็นจริงของกายใจไปว่ากำลังเป็นยังไง แต่บางคนก็ถนัดที่จะพิจารณาไปเลย โดยไม่ทำสมถะก่อน แต่เมื่อพิจารณาไปเกิดปัญญาเห็นไตรลักษณ์แล้ว จิตก็สงบลงเองเหมือนกัน เรียกว่า สมาธิที่เกิดจากวิปัสสนา แต่ทั้งสองอย่างก็เป็นไปเพื่อเห็นธรรมะเหมือนกัน แล้วแต่ความชำนาญ”

          “วิปัสสนาทำยังไงนะ” แป๋วแหววถามยานคาง

          “ตามดูกายเช่น เราอยู่ในท่าไหน ยืนอยู่ เดินอยู่ นั่งอยู่ นอนอยู่ ให้รู้สึกตัวบ่อย ๆ หรือตามดูใจเรา ว่าตอนนี้กำลังรู้สึกอะไรอยู่ กำลังโกรธอยู่ กำลังดีใจ กำลังเศร้า กำลังหดหู่ หรือใจสงบก็รู้ว่าใจสงบ

          หลวงพ่อปราโมทย์ ท่านเทียบวิปัสสนาว่า “อารมณ์ต่าง ๆ เหมือนเด็กข้างบ้านมาเล่นหน้าบ้านเราเจี๊ยวจ๊าวเชียว ลูกใครก็ไม่รู้ไม่ใช่ลูกเรานี่ เรานั่งดูมันอยู่บนระเบียงเฉย ๆ ดูไปเรื่อย ไม่ลงไปพยายามจับให้เด็กนั่งนิ่งๆ หรอก ดูอย่างเดียว”

          แต่ท่านบอกว่าให้ตามดูตามรู้ไปเฉย ๆ ไม่ใช่ไปเพ่งจ้องเอา”

          “เกือบรู้เรื่องแล้ว” แป๋วแหววหัวเราะ เอิงเอยเล่าต่อ

          “ใครมาว่าให้เราโกรธ ใจเราโกรธ เราก็รู้ทันว่ามันโกรธ โกรธคือสิ่งที่เกิดกับใจเรานี่ เราก็รู้มัน เดินไปเห็นดอกไม้สวยรู้สึกชอบก็ให้รู้ว่าชอบ เพราะชอบเกิดที่ใจ ไม่ใช่ไปรู้ว่าดอกไม้สวยนะ เพราะนั่นมันดอกไม้ ไม่ใช่ใจเรา แป๋วแหววคิดถึงแฟนคิดถึงให้รู้ว่าคิดถึง”

          “โอ๊ย คิดถึงจัง” แป๋วแหววหัวเราะ

          “สภาพจิตเป็นยังไง เราคอยรู้ รู้อยู่ด้วยสติ ใจโลภรู้ว่าโลภ ใจหลงรู้ว่าหลง มีแต่ตัวรู้ รู้อยู่ตลอดเวลา คอยรู้”

          “รู้แล้วเป็นยังไง”

          “รู้แล้วสภาพอารมณ์นั้นมันจะหายไป เราก็ตามรู้ไปเรื่อย เกิดอะไรขึ้นกับใจ ตามรู้ให้ทันกับอารมณ์ที่ปรากฏอยู่เฉพาะหน้า รู้ซ้ำติดต่อกันไป จนปัญญาก้าวหน้าไปตามลำดับจนเห็นไตรลักษณ์ก็เป็นวิปัสสนา

          วันหนึ่งใจมันพัฒนา มันจะเรียนรู้เองว่า อะไร ๆ มันไม่เที่ยงเป็นทุกข์ บังคับไม่ได้ เช่น เราคิดถึงแฟน แต่อีกเดี๋ยว เราไปคิดถึงข้าวเหนียวหมูปิ้งแล้ว คือมันเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ จะไปบังคับว่าให้คิดถึงอย่างเดียวตลอดมันก็ไม่เชื่อนะ บังคับมันไม่ได้หรอก 3 อย่างนี้ อนิจจังความไม่เที่ยง ทุกขังเป็นทุกข์ อนัตตาบังคับไม่ได้นี่ เขารวมกันเรียกว่าไตรลักษณ์”

          “ไตรลักษณ์ ลักษณะ 3 อย่าง “ แป๋วแหววแปลศัพท์พลางยิ้มหวาน

          “ใช่ พอเราฝึกตามรู้นาน ๆ เข้า ใจมันจะเห็นไตรลักษณ์เองเขาเรียกว่าเกิดปัญญา ปัญญาคือการตามรู้ตามความเป็นจริง ว่ากายใจเรานี่เป็นเพียงธรรมชาติที่มันเกิดดับ เช่น เมื่อกี๊คิดถึงแฟนตอนนี้ลืมไปแล้ว คือมันดับไปตอนหนึ่งแล้ว เดี๋ยวอาจจะคิดถึงใหม่ เป็นต้น เกิด ๆ ดับ ๆ “

          “คิดถึงใหม่ก็ตามรู้ใหม่” แป๋วแหววหัวเราะอีก

          “ใช่ ก็เกิดดับอีก อย่างนี้ พอใจมันเห็นไตรลักษณ์มากๆ เข้า มันเกิดปัญญา มันก็จะเห็นว่าน่าเบื่อ ยึดอะไรไว้ไม่ได้สักอย่าง เพราะธรรมชาติมันเป็นของมันอย่างนั้นเอง ใจมันเบื่อมันก็เกิดความอยากคลายออก อยากวาง ขี้เกียจยึดแล้ว ทำให้ไม่เอาสาระกับพวกอารมณ์ต่าง ๆ ที่คอยฉิวไปฉิวมาผ่านใจเรา มันปล่อยวาง เราก็สบาย ไม่ต้องทุกข์”

          “นิพพานัง ปรมัง สุขัง” แป๋วแหววเก่ง เอ่ยบาลีที่เคยได้ยินมา เอิงเอยสาธุ

          “เวลาดูจากภายนอกของคนที่ฝึกนั่งนะ จะเห็นว่าเหมือนกัน คือเราไปเห็นเขานั่งเฉย ๆ นั่งนิ่งเงียบ แต่การตามรู้ตามดูข้างในไม่เหมือนกัน

          สมถะเขาพยายามทำให้ใจนิ่ง

          แต่วิปัสสนา เขานั่งนิ่ง แต่ในใจเขาตามรู้ว่ากำลังคิดละกำลังปวดล่ะ กำลังรำคาญ กำลังสุขใจ ฯลฯ

          แล้วเวลากลับไปบ้าน เขาก็ยังตามรู้ให้ได้บ่อย ๆ นะ รู้กาย รู้ใจ ใครพูดให้โกรธรู้ว่าโกรธ อยากกินขนม อยากรู้ว่าอยาก ไปช้อปปิ้งเห็นเสื้อสวย โอ๊ยชอบ ชอบรู้ว่าชอบ รู้ให้ทันสิ่งที่เกิดขึ้นกับใจเรา แต่อย่าปรุงแต่งต่อนะ ไม่ใช่ชอบแล้ว อยากซื้อ รู้ว่าอยาก แล้วซื้อเลย อันนี้โดนกิเลสเอาไปเจี๊ยะแล้ว ผิดฉมัง”

          “อ๋อ งั้นอยู่บ้านก็ทำได้” แป๋วแหววร้อง

          “ใช่ แต่พอทำจริง ๆ นะ รู้เช้าครั้งหนึ่ง แล้วเผลอไปทั้งวันไปนึกได้อีกที เย็นละ หลวงพ่อบอกว่า หน้าที่ของเรา ทำความรู้สึกตัวให้เกิดบ่อย ๆ อย่าเผลอยาว และอย่าถลำลงไปอยู่ในโลกของความคิด และใจเราเป็นยังไงก็รู้ทันลงไป ท่านบอกว่า ถ้าหากเราสามารถคิดนิดเดียวว่า ปัจจุบันนี้กำลังรู้สึกอะไร รู้หมดเลยเรียกว่าปฏิบัติ”

          “แต่แป๋วแหววควรจะรู้นิดหนึ่งว่า ถ้าใครปฏิบัติสมถะแล้วในขั้นแรก ได้จิตสงบแล้วนี่ ควรจะมาวิปัสสนา มาพิจารณาสังขาร คือกายใจโดยความเป็นไตรลักษณ์

          เพราะว่ามีบางคนที่พอจิตสงบแล้ว ก็ยังสงบลึกต่อไปอีกเรื่อย ๆ ไม่หยุด เขาเรียกว่าได้ฌาน อันนี้สงบมากจริง แต่ไม่ได้ปัญญา นอกจากจะกลับมาทำวิปัสสนาต่อ ไม่อย่างนั้นจะได้แต่ฌาน ฌานมีตั้ง 8 ขั้นนะ ถ้าตายไปตำราว่าจะได้ไปเกิดเป็นพรหมแต่ถ้าหมดบุญเมื่อไหร่ก็กลับมาเกิดเป็นคนอีก เรียกว่ายังเวียนว่ายอยู่ในวัฏสงสารนี่แหละ ยังไม่ไปไหน ทางนี้จึงไม่ใช่เป้าหมายที่พระพุทธเจ้าทรงชี้ให้ชาวพุทธไป

          พระพุทธเจ้าทรงชี้ให้เราวิปัสสนา เพราะปลายทางคือนิพพาน พ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด พ้นจากสังสารวัฏ นี้ไป ไม่ต้องมาเป็นทุกข์กันอีก

          แป๋วแหววห่อไหล่ “ไม่น่าจะไม่ยาก คงอีกนาน”

          เองเอยให้กำลังใจ “คิดถึงสังสารวัฏเขาไว้แป๋วแหวว พระพุทธเจ้าตรัสว่า

          “ราตรีของผู้ตื่นอยู่ ยาวนาน
โยชน์หนึ่งของผู้เมื่อยล้าแล้ว ไกล
สังสารวัฏของคนพาลผู้ไม่รู้พระสัทธรรม ยาวไกล”
เราฝึกนานสักสิบปียี่สิบปี ก็ยังสั้นกว่าสังสารวัฏนะ แป๋วแหวว อย่ารอช้า”

          แป๋วแหววยิ้มไปถอนหายใจไปเฮือกๆ เอิงเอยบอกว่า “ค่อย ๆ ฝึกไป ไม่ต้องเร่งรัดมาก เดี๋ยวเครียด ต้องถือทางสายกลางเอาไว้ แป๋วแหววอาจจะได้เป็นโสดาบันก็ได้ใครจะรู้ เราไม่รู้หรอกว่า เราสร้างบุญมาแล้วเท่าไหร่ แป๋วแหววอาจจะสร้างไว้แยะก็ได้”

          “คิดถึงพาหิยะเข้าไว้ แป๋วแหวว” แป๋วแหววร้องเชียร์ตัวเองด้วยเรื่องพาหิยะ ผู้ที่พระพุทธเจ้าทรงสอนเพียงว่า “ขอเธอจงเห็นสักแต่ว่าเห็น ได้ยินสักแต่ว่าได้ยิน เมื่อนั้นเธอจักไม่มีในโลก” เท่านั้นเอง พาหิยะผู้สะสมบุญมาเต็มเปี่ยมแล้วในชาติก่อน ก็บรรลุอรหัตผลเป็นพระอรหันต์ทันที”

          เอิงเอยหัวเราะตาม ตบมือเชียร์แป๋วแหวว

          “ใช่แล้ว แป๋วแหวว คิดถึงพาหิยะเข้าไว้”.

 


แค็ตตาล็อก
1. ก่อนช้อป 19. ไม่ได้มุสา 37. สมรรถภาพจิต
2. ธรรมะอินเตอร์เน็ต 20. เปลี่ยนจุดมอง 38. ยำความคิด
3. พญามารรับน้อง 21. กฐินของฝนสุย 39. ผู้ให้
4. ถังเหลืองแลกหุ้น 22. สร้างพระ 40. คนมีธรรม
5. น้ำตาบารมี 23. ศึกมังฉงาย 41. ธรรมะประจำชีวิต
6. ปล่อยบุญ 24. ให้อภัยตัวเอง 42. แผ่นดินสอนธรรม
7. ทิ้งเวร 25. บุญบนโต็ะทำงาน 43. เทียนชีวิตของจอม
8. สะดือพริตตี้ 26. ข้าวแกงใส่ธรรม 44. ซักใจ
9. บุญไม่เกี่ยว เหนียวไว้ก่อน 27. นักขายประกัน 45. สมถะกับวิปัสสนา
10. ส่งหรีดส่งบุญ 28. สุดสาครสันโดษ 46. เมตตาตัวเอง
11. ต้นไม้ของใจแก้ว 29. ติ่มซำอิจฉา 47. กรรมลิขิต
12. พระสร้างวัด 30. กรรมมาเยี่ยม 48. เบียดเบียนตนเอง
13. พระพุทธรูปสอนธรรม 31. บุญงามยามเช้า 49. คารวะแด่พระอาจารย์วศิน อินทสระ
14. ธรรมะโฮล อิน วัน 32. การพยาบาลของวันวิสาข์ 50. วันสงกรานต์
15. เทียนไสว 33. กรรมโบราณ 51. งานวันปีใหม่
16. ปากกาของเมฆอ้วน 34. ล้างจานล้างใจ 52. บันทึกท้ายเล่ม
17. หัวใจติดแอร์ 35. น้ำในเรือ 53. โอวาทคำสอน
18. รักษาใจ 36. ชีวิตหุ่นเชิด อ่านแบบไฟล์ .pdf
 
หน้าแรกธรรมจักร l กลับเรือนธรรม