กลับหน้าแรก   ปรับขนาดตัวอักษร เพิ่มขนาด ลดขนาด ขนาดปกติ 

 
          ดาหลาไปงานศพญาติที่นครปฐม เธอแวะไปที่โต๊ะทำบุญหน้าศาลาเพื่อร่วมทำบุญด้วย เจ้าหน้าที่เป็นคุณลุงแก่ๆ ท่าทางใจดีช่วยลงชื่อไว้ในสมุดรับแขก และมอบด้ายสีแดงไว้ให้เธอเส้นหนึ่งตามธรรมเนียมจีนที่ว่า คนที่ได้รับด้ายแดงจะไม่พาความเศร้าโศกในวัดติดตัวไปด้วย

          เธอนั่งที่เก้าอี้รับแขกมองดูไปรอบๆศาลา มีผ้าขนหนูผืนใหญ่ยาวติดป้ายชื่อห้างร้าน หรือชื่อคนผู้มอบมาให้ แขวนเรียงๆกันเต็มผนัง เจ๊กิมลั้งพูดให้ฟัง เมื่อเธอถามถึงพวงหรีดดอกไม้สดที่ตั้งโดดเดี่ยวใกล้ประตู

          “ของคนที่มาจากกรุงเทพฯ ถ้าคนที่นี่เขาใช้ผ้าขนหนูซะมาก มันมีประโยชน์ ให้ลูกหลานใช้ต่อไปไม่ต้องทิ้งเหมือนพวงหรีด เสียของ”

          ดาหลากลับมาล่าให้เรณูฟัง เรณูหัวเราะ บอกว่าจุดไต้ตำตอเพราะญาติผู้พี่ของเธอเป็นเจ้าของร้านทำหรีดผ้าห่มอยู่ที่ผักไห่ แต่ไม่ใช่แบบแขวนเฉยๆอย่างนี้ หากแต่พับเป็นรูปดอกไม้ รูปนก รูปอะไรสารพัด มีรถจากต่างจังหวัดมารับไปขายส่งทีละเป็นคันรถเลย ส่งทั่วประเทศโดยที่พี่แกไม่ต้องประชาสัมพันธ์ เขามารับเองถึงบ้าน แกจ่ายงานให้คนทั้งตำบลเอาไปทำที่บ้าน เป็นอุตสาหกรรมในครัวเรือนชั้นดีทีเดียว

          ส่วนในกรุงเทพฯก็มีพวงหรีดผ้าห่มขายอยู่ตามร้านพวงหรีดดอกไม้สดบ้างเหมือนกัน แต่คนยังสั่งซื้อไม่มาก คงเพราะไม่ค่อยรู้กัน เรณูบอกว่าถ้ามีผ้าห่มมากก็จะสามารถเอาไปแจกชาวบ้านยากจนทางเหนือ ซึ่งอากาศหนาวมาก ชาวบ้านยากจนมีเยอะ เกือบทุกจังหวัด แจกไปเท่าไรก็ไม่พอ

          “ให้กับคนที่จำเป็นมาก ก็ยิ่งได้บุญมากนะ” ดาหลาเอ่ยเห็นด้วย เรณูยังบอกอีกว่า มีแต่คนกรุงเทพฯเท่านั้นแหละที่ใช้พวงหรีดดอกไม้สด ยิ่งพวกดอกไม้นอก ตกเกือบพวงละ 2,000 บาท

          “เลิกงานก็เหนี่ยวแล้ว เอาไปทิ้งหลังวัด เทศบาลมาโกยไม่ไหวหรอก มันเยอะ เน่าแห้งอยู่หลังวัดนั่นแหละ เป็นภูเขาเลากา เป็นกรรมของวัดไป บาปของใครไม่รู้ ทั่วกรุงเทพฯน่ะ วันหนึ่งสงสัยทิ้งไปหลายล้านบาท”

          ดาหลาฟังเพลินๆ ถึงกับสะดุ้ง

          “เฮ้ย มากไปมั้ง”

          “อะไรมาก สมมติมีพวงหรีดแบบ 2,000 บาท แค่ 10 พวงนะ แล้วพวงละ 1,000 สัก 100 พวง เอาแค่ศาลาเดียวแล้วก็เอาแค่ 50 วัด ก็ 6 ล้านแล้ว แต่กรุงเทพฯมีเป็นร้อยวัดนา วัดละหลายศาลาด้วย นี่แค่วันเดียว ปีหนึ่งเท่าไหร่ ซื้อทีมฟุตบอลได้เลย”

          “โอ้โฮ” ดาหลาเห็นรูปธรรมของพวงหรีด เป็นรูปธรรมของธนบัตรขึ้นมาทันทีตามทฤษฎีของเรณู ชักรู้สึกไม่อยากใช้พวงหรีดดอกไม้สดอีกแล้ว เพราะแม้จะต้องส่งพวงหรีดเพราะหน้าตาบริษัทที่จะต้องไปโชว์ตัวว่า บริษัทของดาหลาก็มอบให้เหมือนกัน แต่การคิดที่ “เสร็จธุระ” แค่นั้น ก็ดูจะอกตัญญูต่อค่าของเงินไปหน่อย ที่มันมีค่าแต่ใช้มันไม่คุ้มค่า ไม่สมกับที่แม่สอนไว้ว่าให้รู้ค่าของเงิน เพราะการไม่รู้ค่าของเงินเท่ากับไม่รู้ค่าของหยาดเหงื่อแรงงานของเราเอง ดูถูกว่าเหงื่อของเราไม่แพง ถ้าเหงื่อเราแพง เงินที่เราจะใช้ไปต้องได้ประโยชน์เยอะๆ

          “เอ แล้วเปลี่ยนเป็นอะไรดีถึงจะมีประโยชน์ มีอะไรนอกจากผ้าห่มอีกมั้ย”

          “เดี๋ยวนี้มีหรีดต้นไม้” เรณูทำตัวเป็นประชาสัมพันธ์ที่ดีของสิ่งแวดล้อมโลก “เป็นขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ ตรงถนนราชดำเนิน ใกล้ๆสะพานมัฆวาน โทรศัพท์ 0-2629-8659, 0-1908-3458 ฉันเคยไปสั่งนะ เขาไปส่งให้ที่วัดเลยหล่ะ สบาย”

          ดาหลาสนใจจดเบอร์โทรฯ ยิกๆ ขณะที่เรณูฝอยต่อ “ถ้ามีคนสั่งเยอะๆ ต่อไปบ้านเมืองเราจะได้มีต้นไม้เยอะๆ เจ้าของงานอาจจะเอาไปปลูกที่บ้าน หรือมอบให้สวนสาธารณะ ปลูกแล้วโตให้ร่มเงาแก่คนมาพักผ่อน เป็นกุศลแก่ผู้ล่วงลับทุกวัน หรือปลูกในวัด ในโรงเรียนที่ยังไม่มีต้นไม้ ให้เด็กๆ วิ่งเล่นกันใต้ต้นไม้ หรือถ้าเป็นต้นไม้ต้นเล็กๆ น่ารักๆ ก็ปลูกในบ้านและแจกญาติๆ กันไป แจกเพื่อนฝูงกันไป ให้ช่วยกันปลูกต้นไม้ ประเทศของเราจะได้มีต้นไม้ทุกบ้าน ทำให้อากาศดีมีประโยชน์กับตัวเราเอง เวลาไปทำงานเหนื่อยๆ กลับมาบ้าน เห็นต้นไม้แล้วสบายใจ”

          ดาหลาเห็นดีเห็นงามตามไปด้วย เสริมว่า “แต่ใจฉันนะ อยากให้กรมป่าไม้เอาไปปลูกป่าจังเลย ได้วันหนึ่งๆ คงเป็นพันๆ ต้น เท่ากับทุกคนได้ช่วยปลูกป่าไปในตัวโดยไม่ต้องจัดทัวร์ไปปลูกป่า ประเภทต้นสูง 5 เซนต์ ปลูกแล้วรอด 10 เปอร์เซ็นต์ อะไรทำนองนั้น ได้ประโยชน์หลายต่อเลยนะจริงมะ”

          เรณูยิ้ม “เอ๊ะ นี่เราได้นักอนุรักษ์ใหม่เกิดขึ้นอีกคนด้วยแฮะ ดีจัง แต่ตอนนี้เอาแค่ที่เราทำเองได้ก่อนก็แล้วกันนะ”

          ดาหลาขมวดคิ้วสงสัย “เอ๊ะ! แล้วจะกระเทือนคนปลูกดอกไม้มั้ยเนี่ย”

          เรณูส่ายหน้า “ไม่หรอก เขาปลูกต้นไม้เป็นอยู่แล้ว จะดอกไม้หรือต้นไม้เขาก็ปลูกตามที่ตลาดต้องการเองแหละ ขอบใจที่ห่วง อย่างร้านพวงหรีดก็เหมือนกัน ถ้ามีลูกค้าซื้อเป็นต้นไม้ เขาก็สั่งเป็นต้นไม้มาขาย เพราะราคาก็ได้เท่าๆกัน เขาก็ไม่ได้เสียรายได้อะไร”

          ดาหลาค่อยยิ้มออก “เอาละ รับรอง ทีนี้จะสั่งเป็นพวงหรีดผ้าห่มมั่ง เป็นหรีดต้นไม้บ้างจ้า คุณเรณูจ๋า”

          เรณูยิ้มร่าเริง “ดีแล้วจ๊ะ การทำสิ่งที่ดีมีประโยชน์นั้นเป็นบุญแก่ตัวเรา การไม่ทำร้ายสิ่งแวดล้อม เป็นการตอบแทนบุญคุณของธรรมชาติ เป็นบุญอย่างหนึ่งที่เราควรทำ เพราะเรามีชีวิตอยู่ได้นี่ เราอาศัยสิ่งแวดล้อมมากเลย อาศัยเขาแล้วก็ต้องตอบแทนดูแลเขาให้ดี จริงมั้ยจ๊ะ”

          “จริงซีนะ แล้วเวลาเจอสิ่งแวดล้อมที่ดี ใจเราก็สงบอ่อนโยนขึ้นด้วย” ดาหลาสนับสนุนเพื่อนอย่างเต็มที่ เรณูยิ้มอย่างมีความสุขกับแนวร่วมคนใหม่.

 


แค็ตตาล็อก
1. ก่อนช้อป 19. ไม่ได้มุสา 37. สมรรถภาพจิต
2. ธรรมะอินเตอร์เน็ต 20. เปลี่ยนจุดมอง 38. ยำความคิด
3. พญามารรับน้อง 21. กฐินของฝนสุย 39. ผู้ให้
4. ถังเหลืองแลกหุ้น 22. สร้างพระ 40. คนมีธรรม
5. น้ำตาบารมี 23. ศึกมังฉงาย 41. ธรรมะประจำชีวิต
6. ปล่อยบุญ 24. ให้อภัยตัวเอง 42. แผ่นดินสอนธรรม
7. ทิ้งเวร 25. บุญบนโต็ะทำงาน 43. เทียนชีวิตของจอม
8. สะดือพริตตี้ 26. ข้าวแกงใส่ธรรม 44. ซักใจ
9. บุญไม่เกี่ยว เหนียวไว้ก่อน 27. นักขายประกัน 45. สมถะกับวิปัสสนา
10. ส่งหรีดส่งบุญ 28. สุดสาครสันโดษ 46. เมตตาตัวเอง
11. ต้นไม้ของใจแก้ว 29. ติ่มซำอิจฉา 47. กรรมลิขิต
12. พระสร้างวัด 30. กรรมมาเยี่ยม 48. เบียดเบียนตนเอง
13. พระพุทธรูปสอนธรรม 31. บุญงามยามเช้า 49. คารวะแด่พระอาจารย์วศิน อินทสระ
14. ธรรมะโฮล อิน วัน 32. การพยาบาลของวันวิสาข์ 50. วันสงกรานต์
15. เทียนไสว 33. กรรมโบราณ 51. งานวันปีใหม่
16. ปากกาของเมฆอ้วน 34. ล้างจานล้างใจ 52. บันทึกท้ายเล่ม
17. หัวใจติดแอร์ 35. น้ำในเรือ 53. โอวาทคำสอน
18. รักษาใจ 36. ชีวิตหุ่นเชิด อ่านแบบไฟล์ .pdf
 
หน้าแรกธรรมจักร l กลับเรือนธรรม