สันโดษ คือ ความยินดี ความพอใจ ตามที่มีและตามที่ได้มาโดยสุจริต
ไม่คิดยินดีหรือเปรียบเทียบ กับทรัพย์สินของผู้อื่น
ไม่ริษยาใคร ไม่คิดอยากได้ในทางที่ผิด
จิตที่ขาดสันโดษ
เป็นจิตที่แห้งผาก มีความหิว มีความอยากไม่จบสิ้น แม้ว่าจะมีเงินทองทรัพย์สินมากมายปานใดใจก็ไม่พอไม่อิ่ม
ไม่มีความยินดีในสมบัติของตน แต่มันชอบไปพอใจของที่ไม่ใช่สมบัติของตน
เห็นของคนอื่นมันดี มันน่าพิสมัย น่าเสน่หากว่าของตนอยู่ร่ำไป
จนใจขาดความสุข
ด้วยเหตุนี้
ใจที่มีสันโดษ จึงเป็นใจที่มีความสุข เพราะมันรู้สึกว่า
ได้มีอะไรๆ อยู่มากมาย จนเกินและใช้ไม่ทัน ต้องผันเอาไปแจกจ่ายผู้อื่นอยู่เสมอ
ตรงกันข้ามกับคนที่ขาดสันโดษ
แม้มีอะไรอยู่มากมาย ใจมันก็ยังไม่พอ ยังไม่เต็ม มันพร่องอยู่เสมอ
จน ถมไม่รู้จักเต็ม เหมือน ตัณหามันมีตื่น คือมันคอยจะเดินหนีอยู่เรื่อย
วิ่งตามมันไม่ทันสักที พอตามมันไปถึง มันก็วิ่งหนีไปอยู่ข้างหน้าอีกแล้ว
ชีวิตนี้ก็เลยไม่มีความสุข แม้ว่าจะกินดีและอยู่ดีปานใดก็ตาม
อนิจจา !
จงมั่นใจเถิดกัลยาณมิตร
! ถ้าไม่รู้จักควบคุมตัณหาคือความอยาก ให้อยู่ในขอบเขตของศีลและธรรมแล้ว
ชาตินี้ทั้งชาติก็อย่าได้หวังเลยว่า จะพบความสุข ?
เพราะมีหลักความจริงอยู่ว่า
ไฟย่อมไม่อิ่มด้วยเชื้อ และทะเลไม่อิ่มด้วยน้ำ ฉันใด
? ความอยาก (ตัณหา) ก็ไม่อาจที่จะอิ่มด้วยการสนองมันได้ฉันนั้น
!
เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว
ก็อย่าได้พยายามดับไฟด้วยเชื้อ หรือถมทะเลด้วยน้ำเลย
มันจะเหนื่อยจนขาดใจตายไปเสียก่อนที่จะไฟจะดับหรือทะเลจนเต็ม
!
สันโดษนี้
จะเป็นยาใจ ช่วยให้ใจอิ่มใจพอ มีแค่ไหนก็พอใจแค่นั้น
มีมากก็พอมาก มีน้อยก็พอน้อย ไม่มีเลยก็พอใจในความไม่มีนั้น
เพราะจะไม่เกิดความทุกข์จากความมีหรือไม่มีน้อย (บางคนมีจนนอนไม่หลับ)
ดังนั้น
เมื่อมีหรือได้สิ่งใด ก็จงพอใจในสิ่งนั้น อย่าคิดเปรียบเทียบกับคนที่เขามีมากกว่าเรา
ถ้าจะเทียบก็จงเทียบกับคนที่เขามีน้อยกว่าเรา หรือคนที่เขาไม่มีเลย
แล้วใจเราก็จะเป็นสุข กินได้นอนหลับ
พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในรัชชสูตร
(๑๕/๑๖๕) ว่า แม้ให้ภูเขาที่เป็นทองคำถึงสองลูกแก่คนโลภ
(ขาดสันโดษ) ก็ไม่ทำให้เขาพอใจ หรือมีความสุขได้ เพราะคนที่มีกิเลสตัณหานั้น
ถ้าไม่ควบคุมด้วยสันโดษ มันก็จะไม่รู้จักอิ่มหรือพอได้เลย
ไม่ว่าเขาจะร่ำรวยระดับเศรษฐี หรืออภิมหาเศรษฐีก็ตามที.