พระพุทธองค์ ได้ทรงแสดงเหตุที่จะให้เกิดความสุขไว้มากมายหลายแห่ง
และหลายระดับ ตั้งแต่ระด้บความสุขของผู้ครองเรือนจนถึงระดับความสุข
ของผู้ไม่ครองเรือนคือนักบวชทั้งหลาย
ในบรรดาคำสอนอันมากมาย ที่จะเป็นบันไดไปสู่ความสุขนั้น
มีอยู่ข้อหนึ่ง ที่ผู้เขียนเห็นว่ารัดกุม และสามารถครอบคลุมความหมายของปัญหาข้างต้นได้ครบถ้วน
ได้แก่พุทธวจนะที่มาในพระธรรมบท (๒๕/๕๐) ที่ว่า
เว้นเหตุแห่งทุกข์ ย่อมมีสุขในที่ทั้งปวง
เมื่อท่านได้อ่านพุทธภาษิตนี้แล้ว บางท่านอาจจะร้อง
"ว้า...มันกว้างเกินไป จนจับหลักไม่ได้"
ก็ถูกละ...ความทุกข์นั้นมีมากมาย เราก็ควรที่จะต้องหาทางเว้น
"ต้นเหตุ" ที่จะให้เกิดความทุกข์ต่าง
ๆ เหล่านั้นให้มากที่สุด"
ถ้าเราสามารถเว้นเหตุแห่งความทุกข์ ได้มากเท่าไหร่ ?
เราก็ย่อมจะได้รับความสุขมากขึ้นเท่านั้น
นี่จัดวว่าเป็นหลักการ เหมือนกำปั้นทุบดิน แต่ปัญหามีต่อไปว่า
เราจะรู้ได้อย่างไร ? ว่าต้นเหตุแห่งความทุกข์นั้นมีอย่างไรบ้าง
?
การที่คนเราจะรู้ว่า อะไรจะเป็น "ต้นเหตุ"
ของความทุกข์ และอะไรจะเป็น "ต้นเหตุ"
ของความสุขนั้น ไม่มีเครื่องมืออะไร ที่จะไปวินิจฉัยได้เลย
นอกจาก "ปัญญา" เพียงตัวเดียวเท่านั้น
ในพระธรรมบท (๒๕/๕๐) ที่เดียวกัน พระพุทธองค์ จึงได้ตรัสไว้อีกว่า
มีปัญญา พาให้บรรลุความสุข
ก็เป็นอันว่า ทางพระพุทธศาสนา ท่านเน้นที่ตัวปัญญา ว่าสามารถใช้ได้ทั้งดับทุกข์
และใช้สร้างความสุขได้ด้วย หรือจะว่าให้ตรงก็ว่า เมื่อเว้นเหตุแห่งทุกข์แล้ว
ก็ย่อมจะพบความสุขเอง ก็ไม่ผิดหรอก
เอาละ, ที่นี้เราก็มีความจำเป็น ที่จะต้องมา "ปลูกปัญญา"
กันละว่า ปัญญานั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร ?
ในสังคีติสูตร (๑๑/๑๙๙) ท่านพระสารีบุตร ได้แสดงถึงเหตุที่จะให้เกิดปัญญาได้
๓ ทางด้วยกัน คือ
๑. จินตามยปัญญา ปัญญาเกิดจากความคิด การคิดหรือพิจารณาทบทวนเหตุผล
เรียกว่าต้องใช้สมอง ปัญญาจึงจะเกิด
๒. สุตมยปัญญา ปัญญาเกิดจากการฟัง การอ่าน การเล่าเรียนศึกษา
การค้นคว้าหาความรู้ การสอบถามท่านผู้รู้
๓. ภาวนามยปัญญา ปัญญาเกิดจากการฝึกฝนอบรม การลงมือกระทำหรือปฏิบัติ
การทดลองปฏิบัติด้วยตนเองเนือง ๆ
มีข้อที่ควรสังเกต ระหว่างคนที่มีความคิด กับคนที่มีปัญญานั้น
อย่าได้เอาไปปะปนกัน มันจะแก้ปัญหาในการดับทุกข์ไม่ได้
หรือแม้จะใช้แก้ปัญหาเล็กน้อย ในชีวิตประจำวันก็ยังยาก
จริงอยู่
แม้ว่าความคิดจะเป็นต้นเหตุ ให้เกิดปัญญาก็จริง แต่ถ้าคิดเพียงตื้น
ๆ หรือผิวเผิน ก็ไม่เกิดปัญญา ก็เรียกได้เพียงว่า มีแต่ความคิด
แต่ไม่มีปัญญา คือไม่อาจที่จะแก้ปัญหาในชีวิตได้ หรือใช้ดับทุกข์ไม่ได้
คนมีความคิด คิดอะไรเก่ง ทำอะไรเก่ง แต่ขาดปัญญานั้น
ยิ่งคิดอะไรมาก ทำอะไรมากขึ้นเท่าไร ? ก็ยิ่งก็จะเพิ่มปัญหา
ก่อความทุกข์ให้เพิ่มมากขึ้นเพียงนั้น !
ดังนั้น ความคิดกับปัญญาจึงไม่เหมือนกัน แต่ว่าความคิดนั้นอาจเป็นบ่อเกิดของปัญญาได้
ถ้าจะเกณฑ์ให้ความคิดเป็นปัญญาด้วย ก็ย่อมจะได้ โดยจะต้องแยกว่าเป็นปัญญาฝ่ายโลก
ไม่ใช่ปัญญาฝ่ายธรรม เพราะปัญญาฝ่ายธรรมนั้น ใช้ดับทุกข์ได้
เมื่อเรามีปัญญาแล้ว ก็เสมือนว่ามีดวงตา หรือมีแสงสว่างที่จะใช้ส่องนำทาง
ให้ชีวิตเกิดความปลอดภัย และบรรลุถึงจุดหมายปลายทาง
คือความดับทุกข์ตามลำดับขั้นจนถึงพระนิพพาน อันเป็นจุดหมายปลายทางของทุกชีวิต.