บันไดขั้นที่สอง ที่ต่อจากขั้นแรก ที่จะเว้นเสียมิได้คือ
"การคบหากับบัณฑิต" ซึ่งจะต้องทำให้ต่อเนื่องกันไปจึงจะบรรลุถึงความสุขตามที่เราต้องการได้
สองขั้นนี้จึงถือว่า เป็นขั้นที่ต้องบังคับตายตัว
บัณฑิต คือ คนดี คนมีปัญญา หรือคนที่ดำเนินชีวิตด้วยปัญญา
คนที่คิดดี พูดดี และทำดี ดูได้จากการกระทำที่ออกมาทางกาย
และวาจา ที่เป็นไปด้วยความสุจริต ไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น
โดยนัยนี้ก็ย่อมจะไม่เกี่ยวกับการศึกษาเล่าเรียน หรือว่าจะมีปริญญาหรือไม่
?
การคบหากับบัณฑิต คบกับคนดีหรือเพื่อนที่ดีนั้น จัดว่าเป็นมงคลข้อที่สอง
ที่พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ เพราะมนุษย์เป็นสัตว์สังคม
ไม่อาจที่จะอยู่โดดเดี่ยวเดียวดายได้ ทุกคนต่างต้องพึ่งพาอาศัยกัน
มากบ้างน้อยบ้างตามฐานะหรือหน้าที่ ที่จำเป็นต้องเกี่ยวข้องกัน
อานิสงส์ที่ได้รับ จากการคบกับคนดีทันตาเห็นก็คือ เราย่อมจะได้ยินและได้เห็นแต่ในสิ่งที่ดี
สิ่งที่เป็นมงคลเป็นความก้าวหน้าในชีวิต จะช่วยให้ชีวิตพัฒนาไปสู่ความสุขตามลำดับ
จนถึงขั้นสูงสุดคือพระนิพพาน ตามนัยอุปัฑฒสูตร (๑๙/๒)
ที่พระพุทธองค์ได้ตรัสกะพระอานนท์ว่า
"อานนท์ ! ความเป็นผู้มีเพื่อนดี (หรือบัณฑิต)
นั้นนับว่าเป็นพรหมจรรย์หมดทั้งสิ้นเลยทีเดียว"
พูดกันตามภาษาชาวบ้านก็ว่า การมีเพื่อนที่ดีนั้น เท่ากับเป็นหมดทั้งเนื้อทั้งตัวเราเลยทีเดียว
หมายความว่า มีแต่ส่วนดีโดยตลอด อย่าได้สงสัยเลย จงเชื่อพระพุทธเจ้าเถิดรับรองว่าจะไม่ไปเกิดในอบายแน่
แต่ว่าคนเรานั้นมันดูยากกว่าสัตว์ คือมันไม่มีลายให้ดูเหมือนอย่างเสือ
เป็นต้น จะดูผิวก็ไม่ได้ว่า ผิวขาวจะดีกว่าผิวดำ ? มันแยกไม่ได้
ยิ่งความคิดของคนก็ยิ่งจะดูกันไม่ได้เลย แต่เราก็จะดูได้ที่คำพูด
และการกระทำของเขา ถ้าใครพูดดีและทำดีด้วย เราก็ให้เชื่อไว้ครึ่งหนึ่งก่อนว่าจะเป็นคนดี
ที่ไม่แนะนำให้เชื่อหมดหัวใจ ก็เพราะว่าคนเรามันนมีมายามาก
คนที่พูดดีอาจคิดและทำไม่ดีก็ได้ ทำดีอาจคิดไม่ดีก็ได้
เช่น ปากบอกว่ารัก เคารพ และนับถือ แต่ภายในใจจริง ๆ
อาจจะเกลียดจนเข้ากระดูกดำ ไม่มีความเคารพและไม่นับถือเลยก็ได้
เป็นต้น
แต่ชาวพุทธเรา ก็ยังนับว่ามีโชคดี ที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงเพื่อนแท้และเพื่อนเทียม
(สิงคาลกสูตร ๑๑/๑๖๘) ไว้ให้ดู ดังนี้
เพื่อนเทียม ๔ (หรือศัตรูผู้มาในร่างของมิตร)
๑. เพื่อนปอกลอก ๔
- คิดเอาแต่ได้ฝ่ายเดียว
- ยอมเสียน้อย โดยหวังจะเอาให้มาก
- ตัวมีภัย จึงมาช่วยทำกิจของเพื่อน
- คบเพื่อน เพราะเห็นแก่ประโยชน์ตน
๒. เพื่อนดีแต่พูด ๔
- ยกเอาของที่หมดแล้วมาพูด
- อ้างเอาของที่ยังไม่มีมาพูด
- สงเคราะห์ในสิ่งที่ไร้ประโยชน์
- เมื่อเพื่อนมีกิจ ก็อ้างแต่เหตุขัดข้อง
๓. เพื่อนหัวประจบ ๔
- จะทำชั่วก็คล้อยตาม
- จะทำดีก็คล้อยตาม
- ต่อหน้าสรรเสริฐ
- อยู่ลับหลังนินทา
๔. เพื่อนชวนให้ฉิบหาย ๔
- คอยเป็นเพื่อนดื่มน้ำเมา
- คอยเป็นเพื่อนเที่ยวกลางคืน
- คอยเป็นเพื่อนเที่ยวดูการเล่น
- คอยเป็นเพื่อไปเล่นการพนัน
พระพุทธองค์ทรงแนะให้ดูลายของคน ที่แสดงออกมาในรูป และแบบต่าง
ๆ กัน แม้ว่าจะแสดงออกมาในข้อใดข้อหนึ่ง ก็จัดว่าเป็นเพื่อนเทียมได้
คำพังเพยจึงมีอยู่ว่า
ยามทุกข์จะเห็นใจมิตร
ยามข้าศึกประชิด จะเห็นใจทหาร
นั่นก็หมายความว่า ในยามปกติไม่มีกิจธุระ เพื่อนก็ไม่มีความจำเป็น
แต่เมื่อมีความทุกข์เกิดขึ้น จึงจะตัดสินได้ว่า ใครจะเป็นมิตรเทียมหรือมิตรแท้ของเรา
? ทหารก็เช่นเดียวกัน เมื่อปลอดจากข้าศึกศัตรู ทหารก็เกือบจะไร้ค่า
แต่พอมีข้าศึกมา ทหารก็เป็นขวัญใจของประชาชน ต่อไปก็เป็นการดูลายของเพื่อนแท้
เพื่อนแท้ ๔ (เพื่อนที่จริงใจต่อกัน)
๑. เพื่อนอุปการะ ๔
- เพื่อนประมาท ช่วยรักษาเพื่อน
- เพื่อนประมาท ช่วยรักษาทรัพย์สินของเพื่อน
- เมื่อมีภัย เป็นที่พึ่งพำนักได้
- เมื่อมีกิจจำเป็น ออกทรัพย์ให้มากกว่าที่ออกปาก
๒. เพื่อนร่วมสุขร่วมทุกข์ ๔
- บอกความลับแก่เพื่อน
- รักษาความลับของเพื่อน
- มีภัยอันตรายก็ไม่ละทิ้ง
- แม้ชีวิตก็สละให้ได้
๓. เพื่อนแนะนำประโยชน์ ๔
- จะทำชั่วเสียหาย คอยห้ามปรามไว้
- แนะนำสนับสนุนให้ตั้งอยู่ในความดี
- ให้ได้ฟังได้รู้ ในสิ่งที่ไม่เคยได้รู้ได้ฟัง
- บอกทางสุข ทางสวรรค์ให้
๔. เพื่อนมีใจรัก ๔
- เพื่อนมีทุกข์ ก็พลายไม่สบายใจด้วย
- เพื่อนมีสุข ก็พลอยแช่มชื่นยินดีด้วย
- เขาติเตียนเพื่อน ช่วยยับยั้งแก้ให้
- เขาสรรเสริญเพื่อน ช่วยพูดเสริมสนับสนุน
เมื่อเรามีเพื่อนแท้ และมีเพื่อนที่ดีอย่างนี้แล้ว เราก็จำเป็นที่จะต้องผูกน้ำใจของเพื่อนไว้ให้ดี
ด้วยการแสดงตนเป็นเพื่อนที่ดีของเพื่อนด้วยการสนองกลับต่อเพื่อน
ดังที่เพื่อนแสดงมาแล้ว ก็ควรที่จะผูกน้ำใจของเพื่อน
ด้วยธรรม อีก ๒ หมวด ดังนี้
หมวดที่ ๑ มี ๕ ข้อ
- เผื่อแผ่แบ่งปัน
- พูดจามีน้ำใจ
- ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน
- มีตนเสมอ ร่วมสุขร่วมทุกข์ด้วย
- ซื่อสัตย์และจริงใจ
หมวดที่ ๒ มี ๕ ข้อ
- เมื่อเพื่อนประมาท ช่วยรักษาป้องกัน
- เมื่อเพื่อนประมาท ช่วยรักษาทรัพย์สินของเพื่อน
- ในคราวมีภัย เป็นที่พึ่งพิงได้
- ไม่ละทิ้งในยามทุกข์ยาก
- นับถือตลอดถึงวงศ์ญาติของเพื่อน.