สูตรเศรษฐี
ได้แก่ วิธีสร้างความร่ำรวย หรือกำจัดความยากจน เพื่อให้มีโภคทรัพย์พอจับจ่ายใช้สอยนั้น
มีความจำเป็นในการครองเรือนมาก เพราะความยากจน เป็นที่มาของความทุกข์
หรือเป็นอุปสรรคของความสุขประการหนึ่ง
พระพุทธเจ้าได้ตรัสกะทีฆะชาณุสูตร
(๒๓/๒๕๖) ที่ชาวพุทธเอามาใช้เรียกว่า "หัวใจเศรษฐี"
และเรียกย่อว่า อุ อา กะ สะ มีคำเต็มและความหมายดังนี้
๑.
อุ อุฏฐานสัมปทา คือ ถึงพร้อมด้วยความหมั่น
ได้แก่ ขยันหมั่นเพียรประกอบการงาน หาเลี้ยงชีพในทางสุจริต
หลักเอาเบาสู้ ไม่เกียจคร้านสันหลังยาว เอาแต่นอนแต่เที่ยวเล่น
ไม่ปล่อยเวลาให้ล่วงไปเปล่า เป็นต้น
๒.
อา อารักขสัมปทา คือ ถึงพร้อมด้วยการรักษา
ได้แก่ การรู้จักคุ้มครอง และรักษาโภคทรัพย์ ที่หามาได้ด้วยความหมั่นเพียร
โดยชอบธรรม ด้วยความสุจริตนั้น ไม่ให้เป็นอันตรายสูญหายไป
โดยทางไม่สมควรเป็นต้น
๓.
กะ กัลยาณมิตตตา คือ การคบหาคนดีเป็นมิตร
ได้แก่ การรู้จักเลือกคบคนดี ไม่เอาอย่างในทางเสื่อมเสียของเพื่อน
เมื่อเพื่อนชักจูงไปในทางเสื่อมเสีย ก็ไม่ใจอ่อนคล้อยตาม
เป็นตัวของตัวเองในทางที่ถูกต้อง เป็นต้น
๔. สะ สมชีวิตา คือ การเลี้ยงชีวิตแต่พอดี
ได้แก่ การรู้ประมาณรายรับ และรายจ่ายของตน
ไม่ให้ฝืดเคืองจนลำบาก ไม่จ่ายมากจนเป็นหนี้ ดำเนินตามหลัก
"มัชฌิมา" คือไม่ตึงจนเดือดร้อน
และไม่หย่อนจนตกเป็นทาส
ทุกวันนี้
สินค้า "ส่วนเกินของชีวิต"
มีมาก ต้องมีปัญญาประกบความคิดด้วย ต้องแยกให้ออกด้วยว่า
อะไรเป็นสิ่งบำรุง ? อะไรเป็นสิ่งบำเรอ ? อะไรจำเป็นหรือไม่จำเป็นแก่ชีวิต
? เป็นต้น
ถ้ามีแต่ความคิด
มีแต่ความขยันหาเงินเก่ง แต่ขาดปัญญา ที่จะช่วยวินิจฉัยว่า
สิ่งใดควรหรือสิ่งใดไม่ควร ? ชีวิตนี้ก็จะ "ถมไม่รู้จักเต็ม"
หาเงินกันจนตาย ก็ไม่พบความสุข หรือมีเงินมากมายเท่าไร
ก็ไม่พบความสุข !
ผู้ที่รู้จักการครองเรือนที่ถูกต้อง
แม้มีรายได้น้อย มีความรู้น้อยก็มีความสุขได้ ตรงกันข้าม
ผู้ที่ครองเรือนไม่เป็น หรือครองเรือนไม่ถูกต้อง มีความรู้สูงมีเงินมาก
เงินนั่นแหละมันจะกลายเป็น "เพชฌฆาตความสุข"
เสียเอง ดังที่มหาเศรษฐี ต้องกลายเป็นโรคประสาทและฆ่าตัวตายเพราะเงินมามากแล้ว.