ฆราวาสธรรม คือ หลักธรรมสำหรับผู้ครองเรือน
ที่จำเป็นต้องมีอยู่ประจำ เพื่อเสริมให้มีความสุขยิ่งขึ้น
พระพุทธองค์ได้ตรัสกะยักษ์ ชื่ออาฬวกะ ปรากฎอยู่ในอาฬวกสูตร
(๑๕/๒๙) มี ๔ ประการ คือ
๑. สัจจะ
คือ ความจริง ดำรงมั่นอยู่ในสัจจะ
ซื่อตรง ซื่อสัตว์ จริงใจ พูดจริง ทำจริง เป็นเหตุนำมาซึ่งความเชื่อถือ
หรือไว้วางใจได้
๒. ทมะ
คือ ฝึกตน ปรับปรุงตน บังคับควบคุมตนเองได้รู้จักปรับตัว
และแก้ไขปรับปรุงตน ให้เจริญก้าวหน้าอยู่เสมอ รวมทั้งการยอมรับและแก้ไขสิ่งบกพร่องของตนด้วย
๓. ขันติ คือ อดทน
อดทนต่อความหนาว ร้อน หิว กระหาย ทนตรากตรำ ทนต่อความเจ็บใจ
ทนข่มอารมณ์ของตนได้ ทนต่อความยั่วยวนต่าง ๆ อดทนต่ออำนาจฝ่ายต่ำ
อดทนต่อการทำการงาน
๔. จาคะ
คือ เสียสละ เอื้อเฟื้อ เกื้อกูล ช่วยเหลือบำเพ็ญประโยชน์
สละความโกรธ ความเห็นแก่ตัว มีใจกว้างร่วมงานกับคนอื่นได้
สละอารมณ์ขุ่นมัวภายในจิตใจได้
หลักฆราวาสธรรม ส่วนใหญ่ก็มีในที่อื่น ๆ ดังที่ยกมาแสดงแล้ว
แต่จำเป็นต้องเอามาเขียนอีก ก็เพื่อจะเน้นเฉพาะข้อ ทมะ
เท่านั้น และที่ต้องยกมาทั้งชุด ก็เพื่อจะให้รู้ว่าธรรมะข้อทมะนี้มาในชุดฆราวาสธรรม
ทมะ ผู้เขียนอยากจะชี้ธรรมข้อนี้ว่า
เป็น "หัวใจ" ของธรรมข้ออื่น
ๆ อีกมาก ถ้าใครขาดธรรมข้อนี้แล้ว ชีวิตจะไม่ก้าวหน้า
หรือพัฒนาไม่ขึ้นเอาเลยทีเดียว เรามาดู "จุดเด่น"
ของทมะกันสักเล็กน้อย
ทมะ คือ
ฝึกฝน หรือปรับปรุงตน นั่นก็หมายความว่า ใครที่มีทมะเป็นธรรมประจำในจิตใจแล้ว
คนนั้นไขลานเดิน คือสามารถที่จะฝึกฝนและปรับปรุงตน ให้ดีขึ้นให้สูงขึ้นไปตามลำดับ
จนถึงขั้นสูงสุดได้ไม่ยากนัก อย่าว่าแต่เพียงความสุขขั้นธรรมดาสามัญเลย
เราต้องยอมรับความจริงว่า
ปุถุชนทุกคนที่เกิดมา ย่อมจะต้องมี "เชื้อแห่งความโง่"
ติดมาบ้างไม่มากก็น้อย ดังนั้นใครที่เกิดมาแล้ว ไม่มีการฝึกฝนปรับปรุงตน
มันก็จะดักดานย่ำเท้าอยู่กับที่ ไม่ว่าจะได้รับการสั่งสอน
หรือศึกษาเล่าเรียนอะไร ? ก็ไม่อาจที่จะพัฒนาตนเองให้ดีขึ้นได้
ถ้าหากว่าผู้นั้นขาดทมะ
ดังนั้น
ผู้หวังความก้าวหน้า หวังความเจริญทั้งร่างกายและจิตใจ
หวังความสุขที่สมบูรณ์ ก็จำเป็นที่จะต้องน้อมนำเอาทมะเข้ามาไว้ในตนให้ได้
แล้วธรรมะข้ออื่น ๆ ก็จะตามเข้ามาเป็นแถว นั่นก็คือชีวิตก็ย่อมจะประสบความสำเร็จ
ไม่แต่เฉพาะของผู้ครองเรือนเท่านั้น แม้ในชีวิตของนักบวชก็ย่อมจะบรรลุธรรมขั้นสูงสุดได้
นั่นคือการบรรลุพระนิพพาน อันเป็นยอดของความสุข.