พรหมวิหาร คือ ธรรมเป็นเครื่องอยู่ของพรหม,
ธรรมประจำใจอันประเสริฐ หรือธรรมประจำใจของท่านผู้มีคุณความดียิ่งใหญ่
การเจริญพรหมวิหาร ก็คือการบำเพ็ญให้มีคุณธรรมอยู่เป็นประจำ
๔ ประการ คือ
๑. เมตตา คือ ความรัก ความปรารถนาดี
ความมีไมตรี ต้องการเห็นผู้อื่นหรือสัตว์อื่นมีความสุข
เมตตาเป็นปฏิปักข์กับความโกรธและพยาบาท
ผู้มีเมตตา จิตใจย่อมเย็น สงบ และมีความสุข ในเมตตาสูตร
(๒๔/๓๖๑) ท่านแสดงอานิสงส์หรือผลของผู้ที่เจริญเมตตาไว้
๑๑ ประการ คือ
๑. ย่อมหลับเป็นสุข
๒. ย่อมตื่นเป็นสุข
๓. ไม่ฝันร้าย
๔. เป็นที่รักของมนุษย์
๕. เป็นที่รักของอมนุษย์
๖. เทวดาย่อมรักษา
๗. ปลอดภัยจากไฟ ยาพิษ หรืออาวุธ
๘. จิตตั้งมั่นได้เร็ว
๙. ใบหน้าย่อมผ่องใส
๑๐. ไม่หลงตาย
๑๑. เมื่อยังไม่บรรลุธรรมอันยิ่ง ย่อมเข้าถึงพรหมโลก
๒. กรุณา คือ ความสงสาร
อยากช่วยเหลือผู้อื่นให้พ้นจากความทุกข์ ใฝ่ใจที่จะปลดเปลื้อง
หรือบำบัดความทุกข์ยากเดือดร้อนของคนและสัตว์ทั้งปวง
มีความหวั่นไหวในจิต เมื่อเห็นผู้อื่นหรือสัตว์อื่นมีความทุกข์
๓. มุทิตา คือ ความเบิกบาน
ความพลอยยินดี เมื่อเห็นผู้อื่นหรือสัตว์อื่นมีความสุข
หรือเห็นเขาประสบความสำเร็จ ก็พลอยยินดีและบันเทิงใจไปด้วย
มุทิตาเป็นปฏิปักข์กับริษยา
๔. อุเบกขา คือ ความดีใจเป็นกลาง
มองตามความเป็นจริง มีจิตราบเรียบสม่ำเสมอ เมื่อเห็นคนหรือสัตว์
ได้รับผลกรรมที่ตนประกอบ ไม่เอนเอียง วางตนเที่ยงธรรม
พรหมวิหาร ๔ ประการนี้ ผู้ใดหมั่นเจริญให้มีอยู่ในจิตเป็นนิจ
ย่อมจะควบคุมไม่ให้จิตฟู ๆ แฟบ ๆ มีสภาพเย็นและสงบ ย่อมประสบความสุข
ดังนั้น ผู้หวังความสุขอันถาวร จึงควรหมั่นเจริญเมตตาและหมั่นเจริญพรหมวิหารไว้เป็นประจำ
เพราะนอกจากตนเองจะได้พบกับความเย็น ความสงบและเป็นสุขแล้ว
ยังพลอยให้ผู้ที่อยู่ใกล้เคียงได้รับอานิสงส์ของความสงบตามไปด้วย.