สุภาพสตรีผู้หนึ่งเป็นเจ้าของสวนกล้วยหอมและสวนละมุดอันกว้างขวาง
สวนทั้งสองอยู่ในจังหวัดธนบุรี แต่อยู่ห่างไกลกัน คุณนายจึงดูแลไม่ทั่วถึง
สามีก็รับราชการอยู่ต่างจังหวัด ดังนั้น กล้วยหอมที่ออกเครือถูกขโมยตัดเป็นประจำ
ส่วนละมุดที่ลูกยังดิบยังอ่อนไม่ทันแก่ก็ถูกเก็บเอาไปเป็นประจำ
แทนที่จะตีโพยตีพายแสดงความโกรธแค้นแช่งด่าคนที่มาลักขโมยของในสวนเหมือนชาวสวนคนอื่น
คุณนายกลับนิ่งเงียบเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น
ต่อมากล้วยหอมได้หายไปหลายเครือ คุณนายจึงเขียนหนังสือปักติดไว้บริเวณที่กล้วยถูกตัดไป
ความว่า ฉันทราบว่าใครตัดกล้วยไป แต่ฉันไม่เอาเรื่อง
จะตัดไปกินบ้างฉันก็ไม่ว่าอะไร และฉันก็ไม่ใช่คนใจไม้ไส้ระกำ
ฉะนั้น ฉันอนุญาตให้ตัดไปกินได้ตามความประสงค์
หลังจากประกาศ กล้วยหอมที่หายไปได้กลับมาปรากฏที่ตรงป้ายหนังสือ
พร้อมกับมีหนังสือเขียนไว้ที่ใบตองแห้ง ความว่า คุณนายที่เคารพ
ผมไม่ทราบว่าคุณนายเป็นคนใจดีอย่างนี้ ความดีของคุณนายทำให้ผมรู้สึกตัว
ผมขอนำกล้วยที่ผมตัดไปวันก่อนนั้นมาคืนให้ ผมจะไม่มารบกวนอีก
ส่วนทางสวนละมุดนั้น คุณนายก็เขียนหนังสือปักไว้ว่า
ฉันอนุญาตให้เก็บละมุดกินได้ แต่ขอให้ลูกมันโตและสุกเสียก่อน
ถ้าเก็บไปดิบ ๆ มันก็บ่มไม่สุก กินไม่ได้ เสียของเปล่า
ๆ ขอให้เก็บไปกินเมื่อมันแก่มันสุกเถิด
นับแต่นั้นมาเกือบ ๒ ปีแล้ว ทั้งกล้วยหอมและละมุดไม่หายอีกเลย
(กฎแห่งกรรม
โดย ท.เลียงพิบูลย์)
คุณนายเป็นคนมีเมตตาและไม่ตระหนี่
ดังนั้น แม้จะถูกขโมยผลไม้หลายครั้งก็ไม่โกรธ ทั้งยังอนุญาตให้เก็บกินได้ตามสบาย
ถ้าคนอื่นโดนอย่างคุณนายก็คงจะโกรธแค้นบ้างไม่มากก็น้อย
เพราะไม่สามารถทำใจได้อย่าง คุณนาย ในกรณีเช่นนี้ ขอให้บรรเทาความโกรธด้วยการพิจารณาว่า
บุคคลในโลกนี้ส่วนมากยังเป็นปุถุชนที่หนาแน่นไปด้วยกิเลส
เห็นแก่ตัว เมื่อจะทำหรือพูดสิ่งใด ก็กระทำตามความพอใจของตนและเพื่อประโยชน์ของตนเท่านั้น
จึงก่อความเดือดร้อนแก่คนอื่นอยู่เสมอ ดังนั้น การที่ใครสักคนหนึ่งได้ทำ
(หรือกำลังทำ) สิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์แก่เรา ได้ล่วงเกินเรา
จึงเป็นเรื่องธรรมดา การหวังให้เขาทำสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่เรา
จะมีมาแต่ไหน เมื่อพิจารณาอย่างนี้ก็อาจจะบรรเทาความโกรธหรือความอาฆาตในบุคคลนั้นลงได้บ้าง
ถ้าชนะ
ด้วยอาวุธ จะสิ้นสุด
ด้วยความแค้น
ใช้ธรรมะ
ชนะแทน ความขุ่นแค้น
จะหายไป
(พระธรรมดิลก
จันทร์ กุสโล)