ทุกคนในโลกย่อมมีทั้งส่วนดีและไม่ดีปนกัน
ยากที่ใครจะเลวไปหมดเสียทุกอย่าง ในทางตรงกันข้าม เว้นพระพุทธเจ้าเสียแล้ว
ก็ไม่มีใครเลยที่จะดีพร้อมไปหมดทุกอย่าง ถ้าเราทำใจให้เป็นกลางไม่ลำเอียง
แล้วพิจารณาคนที่เราโกรธให้ดี ก็จะพบเห็นความดีของเขาบ้าง
แม้เพียงเล็กน้อยก็ยังดี พระสารีบุตรสอนให้ระงับความโกรธในบุคคลเช่นนี้
โดยอุปมาว่า
เปรียบเหมือนน้ำเล็กน้อยมีอยู่ในรอยเท้าโค บุคคลผู้เดินทางร้อนอบอ้าวเหนื่อยอ่อน
กระหายน้ำ เขาพึงเกิดความคิดอย่างนี้ว่า น้ำเล็กน้อยมีอยู่ในรอยเท้าโคนี้
ถ้าเราจะกอบขึ้นดื่ม หรือใช้ภาชนะตักขึ้นดื่มไซร้ เราก็จักทำน้ำนั้นให้ไหวบ้าง
ให้ขุ่นบ้าง ให้ไม่เป็นที่ควรดื่มบ้าง ถ้ากระไร เราพึงคุกเข่าก้มลงดื่มน้ำอย่างโคดื่มน้ำแล้วหลีกไปเถิด
(ทุติยอาฆาตวินยสูตร
๒๒/๑๖๒)
อุปมาข้างบนนี้มีอธิบายว่า
บุคคลผู้เดินทางร้อนอบอ้าวได้แก่ตัวเรา รอยเท้าโคคือคนที่เราโกรธ
ความดีเล็กน้อยของบุคคลนั้นคือน้ำนิดหน่อยในรอยเท้าโค
กิริยาอาการที่หมอบก้มลงดื่มน้ำอย่างโคหมายถึงสนใจเฉพาะความดีของเขา
ไม่สนใจความไม่ดีของเขา แล้วยังความโกรธให้ดับไปด้วยการระลึกถึงความดีเพียงเล็กน้อยของเขานั้น
อาจมีบางคนไม่ว่าเราจะพยายามมองด้านไหน ก็ไม่พบความดีของเขาเลย
เป็นคนที่ไม่มีดีติดตัวแม้แต่นิดเดียว (สุดเลว) พระสารีบุตรได้สอนให้ระงับความโกรธในบุคคลเช่นนี้
โดยอุปมาว่า
เปรียบเหมือนคนไข้หนัก
มีความทุกข์ ขาดที่พึ่งพิง ต้องเดินทางไกลตามลำพัง ขาดเสบียงอาหารและยา
ขาดคนพยาบาลและคนนำทาง คนเดินทางไกลบางคนมาพบคนไข้หนักนั้นเข้า
ย่อมเกิดกรุณาสงสารว่า ขออย่าให้บุคคลที่น่าสงสารนี้ต้องมาตายอย่างอนาถาในที่เช่นนี้เลย
แล้วให้ความช่วยเหลือ นำเขาไปที่พัก ให้การรักษา ให้หยูกยาและอาหารที่สบายไม่แสลง
(ทุติยอาฆาตวินยสูตร
๒๒/๑๖๒)
เราคงไม่ใจจืดใจดำกับบุคคลที่น่าสงสารอย่างที่ท่านอุปมาไว้
จึงขอให้พยายามละความโกรธในคนที่ไม่มีดีติดตัวนี้ ด้วยกรุณาสงสารว่า
ขออย่าให้เขาต้องไปสู่อบายภูมิเลย
เขามีส่วน
เลวบ้าง ช่างหัวเขา จงเลือกเอา
ส่วนที่ดี เขามีอยู่
เป็นประโยชน์
โลกบ้าง ยังน่าดู ส่วนที่ชั่ว
อย่าไปรู้ ของเขาเลย
จะหาคน
มีดี โดยส่วนเดียว อย่ามัวเที่ยว
ค้นหา สหายเอ๋ย
เหมือนเที่ยวหา
หนวดเต่า ตายเปล่าเลย ฝึกให้เคย มองแต่ดี
มีคุณจริง
(พุทธทาสภิกขุ)