ในอดีตกาล
พระโพธิสัตว์ (ผู้ที่จะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า) บังเกิดในสกุลพราหมณ์
ชื่อว่าการันทิยะ เจริญวัยแล้วได้เป็นศิษย์อาวุโสของอาจารย์ทิศาปาโมกข์ในเมืองตักกสิลา
อาจารย์ชอบให้ศีลแก่ผู้ที่ไม่ได้ขอ เขารับศีลไปแล้วจึงไม่รักษา
เมื่อเล่าให้พวกลูกศิษย์ฟัง พวกลูกศิษย์กล่าวว่า ตั้งแต่นี้ไป
ท่านพึงให้ศีลแก่ผู้ที่ขอเท่านั้น อย่าให้แก่ผู้ที่ไม่ได้ขอ
อาจารย์ได้รับความร้อนใจ แต่ก็ยังคงให้ศีลแก่คนทั่วไปซึ่งไม่ได้ขอศีลอยู่นั่นแหละ
วันหนึ่ง การันทิยะและมาณพอีก ๕๐๐ ได้ไปสวดมนต์ตามที่อาจารย์สั่ง
ขากลับในระหว่างทางเห็นซอกเขาแห่งหนึ่ง การันทิยะคิดว่า
อาจารย์เราพบใครก็ให้ศีลโดยที่เขาไม่ได้ขอ นับแต่นี้ไปเราจะทำอาจารย์นั้นให้ศีลเฉพาะแก่คนที่ขอเท่านั้น
เมื่อพวกมาณพกำลังนั่งสบายอยู่ การันทิยะจึงลุกขึ้นไปยกศิลาก้อนใหญ่โยนลงซอกเขา
ซ้ำแล้วซ้ำเล่าอยู่นั่นแหละ เมื่อพวกมาณพมาถามว่าทำอะไร
การันทิยะก็นิ่งเฉย มาณพเหล่านั้นจึงรีบไปบอกอาจารย์
อาจารย์มาแล้วกล่าวกับการันทิยะว่า
ดูก่อนการันทิยะ จะมีประโยชน์อะไรแก่ท่านด้วยการทิ้งก้อนหินลงในซอกเขา
การันทิยะประสงค์จะท้วงอาจารย์จึงกล่าวว่า ข้าพเจ้าเกลี่ยหินก้อนเล็กก้อนใหญ่ลง
จักกระทำแผ่นดินใหญ่นี้ให้ราบเรียบดังฝ่ามือ เพราะฉะนั้น
ข้าพเจ้าจึงได้ทิ้งหินลงในซอกเขา
อาจารย์กล่าวว่า การันทิยะ มนุษย์คนเดียวย่อมไม่สามารถทำแผ่นดินให้ราบเรียบดังฝ่ามือได้
แผ่นดินจงยกไว้ก่อนเถิด ซอกเขานี้เท่านั้น ท่านพยายามจะกระทำซอกเขานี้ให้เต็มขึ้น
เที่ยวแสวงหาหินทั้งหลายมา คิดค้นหาอุบายอยู่นั่นแล
ท่านก็จักละโลกนี้ (ตาย) ไปเสียเปล่าเป็นแน่
การันทิยะกล่าวว่า ข้าแต่ท่านอาจารย์ หากว่ามนุษย์คนเดียวไม่สามารถทำแผ่นดินใหญ่นี้ให้ราบเรียบได้
ฉันใด การที่ท่านจะชักนำคนทั่วไปซึ่งมีความคิดเห็นต่างกันให้มารับศีลจากท่าน
ก็เป็นไปไม่ได้ฉันนั้น ด้วยว่าคนที่เป็นบัณฑิตเท่านั้นจึงติเตียนการฆ่าสัตว์ว่าเป็นอกุศล
ส่วนคนพาลไม่เชื่อการเวียนว่ายตายเกิด ย่อมสำคัญผิดว่าการฆ่าสัตว์เป็นกุศล
ท่านจักชักนำคนเหล่านั้นมาได้อย่างไร เพราะฉะนั้นท่านอย่าให้ศีลแก่คนที่ไม่ได้ขอ
จงให้แก่คนที่ขอเท่านั้น
อาจารย์ได้ฟังดังนั้นคิดว่า การันทิยะพูดถูก บัดนี้เราจักไม่กระทำอย่างนั้น
คิดแล้วจึงกล่าวว่า การันทิยะ ท่านได้บอกความจริงโดยย่อแก่เรา
ข้อนี้เป็นอย่างนั้นจริง แผ่นดินนั้นมนุษย์ไม่สามารถจะทำให้ราบเรียบได้
ฉันใด เราก็ไม่อาจให้มนุษย์ทั้งหลายทำตามใจของเราได้
ฉันนั้น
(การันทิยชาดกและอรรถกถา ๒๗/๗๒๗)
คติที่ได้จากชาดกนี้คือ แผ่นดินนี้ไม่อาจทำให้ราบเรียบเสมอกันหมดได้
ฉันใด มนุษย์ทั้งหลายจะให้คิดเหมือนกันหมดก็ไม่ได้ ฉันนั้น
ดังนั้นอย่าโกรธหรือเดือดเนื้อร้อนใจ เมื่อคนอื่นมีความเห็นไม่เหมือนเรา
หรือทำไม่ถูกใจเรา ทุกสิ่งในโลกนี้ล้วนเป็นไปตามที่มันควรจะเป็น
ไม่เป็นไปตามใจเรา ไม่อยู่ในบังคับบัญชาของใคร ๆ ตัวเราเองแท้
ๆ ยังไม่รู้ใจทำไม่ถูกใจเรา แล้วคนอื่นจะรู้ใจทำถูกใจเราได้อย่างไร
?
จะหาใคร
เหมาะใจ ที่ไหนเล่า ตัวของเรา ยังไม่ เหมาะใจหนา
อนิจจัง
ทุกขัง อนัตตา รู้ล่วงหน้า เสียก่อน ไม่ร้อนใจ
(อุทานธรรม)