ภิกษุชาวเมืองอาฬวีรูปหนึ่งได้ตัดต้นไม้ที่เป็นวิมานของเทวดาองค์หนึ่งตามอำเภอใจของตน
โดยไม่ยอมฟังคำห้ามปรามของเทวดาผู้เป็นเจ้าของวิมาน
เทวดาโกรธมากจึงยกมือขึ้น ตั้งใจจะฟาดภิกษุรูปนั้นให้ตาย
แต่ฉุกคิดได้ว่า ถ้าฆ่าภิกษุผู้มีศีลต้องไปนรก ทั้งยังเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีแก่เทวดาอื่น
จึงลดมือลงแล้วไปทูลเรื่องให้พระศาสดาทรงทราบ
พระศาสดาสดับแล้วตรัสว่า ถูกแล้ว ๆ เทวดา เธอข่มความโกรธที่เกิดขึ้นอย่างนั้นไว้อยู่
เหมือนห้ามรถกำลังหมุนไว้ได้ ชื่อว่าทำความดีแล้ว แล้วตรัสว่า
ผู้ใดสะกดความโกรธที่พลุ่งขึ้น เหมือนคนห้ามรถที่กำลังแล่นไปได้
เราเรียกผู้นั้นว่า สารถี ส่วนคนอื่น ๆ เป็นเพียงผู้ถือเชือก
เมื่อจบเทศนา เทวดาได้ดำรงอยู่ในโสดาบัน และได้สถิตในต้นไม้ใกล้คันธกุฎี
(ชื่อกุฏิที่พระพุทธเจ้าประทับ แปลว่า กุฏิที่มีกลิ่นหอม)
ต้นหนึ่งที่พระศาสดาประทานให้ อาศัยเรื่องนี้เป็นเหตุ
พระศาสดาทรงบัญญัติสิกขาบทห้ามภิกษุตัดต้นไม้
(อรรถกถาธรรมบท ภาค ๖ หน้า ๑๖๓)
เช้าตรู่วันหนึ่ง เศรษฐีชื่อสุมงคลได้ไปเฝ้าพระพุทธเจ้าพระนามว่า
กัสสปะ เห็นโจรคนหนึ่งนอนเอาผ้าคลุมร่างทั้งที่มีเท้าเปื้อนโคลน
จึงพูดว่าเจ้าคนนี้มีเท้าเปื้อนโคลน คงเป็นคนที่ท่องเที่ยวในเวลากลางคืนแล้วมานอน
ด้วยเหตุแค่นี้โจรโกรธผูกอาฆาตไว้ แล้วลอบเผานา ๗ ครั้ง
ตัดเท้าโค ๗ ครั้ง เผาเรือน ๗ ครั้ง ก็ยังไม่หายแค้น
รู้ว่าพระคันธกุฎีเป็นของที่รักยิ่งของเศรษฐี ก็ลอบเผาเสียอีก
เศรษฐีรู้ข่าวว่าพระคันธกุฎีถูกไฟไหม้ แทนที่จะโกรธหรือเสียใจ
กลับดีใจ แล้วสร้างพระคันธกุฎีถวายพระศาสดาอีก โจรเห็นดังนั้นก็ยิ่งแค้น
เดินเตร่อยู่ในวิหารถึง ๗ วัน ก็ไม่มีโอกาสฆ่าเศรษฐีได้
ฝ่ายเศรษฐีถวายทานแด่ภิกษุสงฆ์มีพระศาสดาเป็นประมุขสิ้น
๗ วัน
ถวายบังคมพระศาสดาแล้วกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
บุรุษผู้หนึ่งเผานาของข้าพระองค์ ๗ ครั้ง ตัดเท้าโค
๗ ครั้ง เผาเรือน ๗ ครั้ง แม้พระคันธกุฎีก็คงเป็นเจ้าคนนั้นแหละเผา
ข้าพระองค์ขอให้ส่วนบุญในทานนี้แก่เขาก่อน
โจรได้ยินดังนั้น เกิดสำนึกผิดว่าได้ทำกรรมอันหนักต่อเศรษฐีผู้ไม่โกรธแค้นเลย
ยังกลับให้ส่วนบุญในทานนี้แก่ตนก่อนอีก จึงเข้าไปหมอบใกล้เท้าเศรษฐี
กล่าวขออภัย เศรษฐีก็ให้อภัย โจรขอมอบตัวเป็นทาส แต่เศรษฐีไม่รับ
เมื่อโจรสิ้นอายุขัย ก็ไปหมกไหม้ในอเวจี หลังจากนั้นก็เกิดเป็นเปรตถูกไฟไหม้ทั้งตัว
ด้วยวิบากแห่งกรรมที่ยังเหลืออยู่
(อรรถกถาธรรมบท ภาค ๕ หน้า ๕๕)
สารถีหมายถึงคนบังคับรถหรือม้า คนที่ทำให้รถแล่นไปเร็วยังไม่จัดว่าเป็นสารถี
คนที่รู้ว่าเมื่อไรควรช้า เมื่อไรควรเร็ว เมื่อเร็วแล้วก็สามารถหยุดได้ตามเวลาที่ต้องการ
ในที่ที่ต้องการ จึงจัดเป็นสารถี ทั้งที่กำลังโกรธ เทวดาก็สามารถหยุดความโกรธของตน
จึงได้ชื่อว่าเป็นสารถี ส่วนคนที่บังคับความโกรธไม่ได้
พระพุทธเจ้าตรัสว่าเป็นเพียงคนถือเชือก
โจรในเรื่องจัดเป็นบุคคลประเภทผู้ถือเชือก เพราะบังคับความโกรธไม่ได้
ตกเป็นทาสของความโกรธ ทำตามคำบงการของความโกรธ ก่อความเสียหายแก่ตนเองและผู้อื่นไปแล้ว
กว่าจะรู้ตัวก็สายไปเสียแล้ว จึงขอให้ทุกท่านถือเอาเรื่องทั้งสองนี้เป็นบทเรียน
อย่าตกเป็นทาสของความโกรธ เพราะอาจได้รับผลตอบแทนที่น่าสยดสยองอย่างโจร
เมื่อรู้ตัวว่าโกรธ ก็รีบระงับเสีย (ก่อนที่จะก่อความเสียหาย)
อย่างเทวดา แต่ที่ดีที่สุดควรเอาอย่างเศรษฐีผู้ไม่โกรธเลย
แม้ในเรื่องที่น่าจะโกรธ
มีอะไร
น่าโกรธ อย่าโทษเขา ต้องโทษเรา
ว่าใจ ไม่เข้มแข็ง
เรื่องน่าโกรธ
แม้นว่า จะมาแรง ถ้าใจแข็ง เหนือกว่า
ชนะมัน
(สำนวนเก่า)