เมื่อวันที่
๔ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๘ พล ว. พลทหารเกณฑ์สังกัดหน่วย ท.๓
จ.พิษณุโลก ได้เขียนจดหมายถึง พ.อ.ปิ่น มุทุกันต์ (สมัยนั้นมียศ
พ.ต.) เล่าความคับแค้นของตน ความว่า
แม่ตายตอนผมอายุ ๑๕ ปี พ่อก็แต่งงานใหม่กับแม่ม่ายลูกติด
ผมกับน้องสาวต้องอยู่ในปกครองของแม่เลี้ยง ต่อมาแม่เลี้ยงได้ผลาญสมบัติของพ่อจนหมดด้วยการเล่นการพนัน
และนำไปให้ลูกสาวของแก ซึ่งมีอายุรุ่นเดียวกับน้องสาวผม
จากนั้นแกกับลูกสาวก็ตั้งตัวเป็นนาย เกรี้ยวกราด ทารุณโหดร้ายกับผมและน้องสาวเยี่ยงคนใช้
ผมกับน้องเตรียมจะแยกไปอยู่ที่อื่น เพราะผมกำลังจะได้เป็นครูพอจะเลี้ยงน้องได้
แต่ต้องมาเป็นทหารเสีย น้องยังคงตกอยู่ใต้อิทธิพลของแม่เลี้ยงต่อไป
พ่อมีอาชีพขึ้นล่องกรุงเทพฯ เสมอ เดือนหนึ่งอยู่บ้านไม่ถึง
๑๐ วัน ทำให้แม่เลี้ยงรังแกน้องผมได้มาก
เมื่อวันเสาร์ที่แล้วผมไปเยี่ยมน้อง ได้เห็นสภาพของน้องแล้วผมแทบร้องไห้
น้องได้ป่วยเป็นไข้มาแต่วันพฤหัส ลูกแม่เลี้ยงยังใช้ไปซักผ้าให้เขา
น้องผมสู้พยุงกายเอาผ้าไปซักให้ พอถูกน้ำเย็นก็จับไข้ทันที
จึงหอบผ้ากลับมาบ้าน ตัวเองก็นอนห่มผ้า ลูกแม่เลี้ยงเห็นเข้าก็ด่าว่าน้องผม
และกระชากผ้าห่มออกจากตัว พอดีแม่เลี้ยงกลับจากเล่นไพ่
จึงเข้าไปตบน้องผมที่กกหูจนหูอื้อ แล้วยังเอาเท้ากระทืบหน้าท้องอีกด้วย
เมื่อแม่เลี้ยงเห็นผมไปเยี่ยมน้อง ก็เข้าใจว่าน้องให้คนตามผมมาสู้กับเขา
เขาก็ไปตามเอาตำรวจซึ่งเป็นคู่รักของลูกสาวเขามาเตร่อยู่หน้าบ้าน
ขณะที่ผมพยุงน้องลงจากบ้าน พวกนั้นพากันหัวเราะและพูดเยาะเย้ย
แม่เลี้ยงพูดประชดว่า จะเอาไปฝังวัดไหน
คนที่เป็นตำรวจถามลูกสาวแม่เลี้ยงว่า เขาเป็นโรคอะไร
ลูกสาวแม่เลี้ยงตอบว่า เป็นโรคกลัวน้ำ
ขณะนั้นผมข่มใจไว้ได้ตามที่ท่านเคยสอนทางวิทยุ จึงไม่ได้โต้ตอบอะไร
พาน้องขึ้นรถไฟมาพิษณุโลก และไปขอความช่วยเหลือจากผู้หมวดเสนารักษ์
ท่านให้ยารักษาจนหาย เวลานี้ผมเอาน้องไปฝากไว้กับแม่ชีที่วัดแห่งหนึ่ง
ผมยังแค้นมาก จะต้องย้อนกลับไปแก้แค้นพวกแม่เลี้ยงให้สาสม
แต่จะคอยอีก ๒ เดือนให้ถึงวันปลดทหารเสียก่อน เพราะตั้งแต่เป็นทหารมาผมยังไม่เคยทำผิดเลย
ถ้าทำอะไรลงไปในระหว่างนี้ คนเขาก็จะติเตียนทหารว่าเป็นโจรผู้ร้าย
เวลานี้น้องผมตกลงใจแล้วว่าจะบวชชี ส่วนตัวผมจะเข้าตะราง
เปลี่ยนแปลงตัวเองไปอยู่อีกโลกหนึ่ง จากคนดีไปเป็นคนร้าย
จึงเขียนจดหมายมากราบเท้าเสียก่อน อย่างน้อยท่านอาจารย์ก็คงจะเห็นใจผม
แม้คนทั้งโลกจะดูหมิ่น
พ.อ.ปิ่น มุทุกันต์ ได้ตอบจดหมายลงวันที่ ๗ ก.พ. ๒๔๙๘
แสดงความเห็นใจพล ว. พร้อมกับเสนอทางเลือก ๕ ทาง คือ
๑.
สังหารพวกแม่เลี้ยงแล้วยอมเข้าตะราง
๒.
ฆ่าเขาให้หมดแล้วฆ่าตัวตายตาม
๓.
ฆ่าเขาแล้วหลบหนีออกนอกเขตแดนไทย
๔.
ชักชวนพ่อให้หย่ากับแม่เลี้ยงเสีย ปล่อยให้พวกแม่เลี้ยงตายซากไปเอง
๕.
ไม่ต้องทำอะไรพวกนั้นเลย หันมาเร่งสร้างตัวเอง ปล่อยให้พวกเขาหายนะไปตามยถากรรมของเขา
จากนั้น พ.อ.ปิ่นแนะนำว่า พวกแม่เลี้ยงนั้น พล ว.จะฆ่าเสียเมื่อไรก็ได้
การที่พล ว.ใจเย็นอยู่ได้เท่ากับเป็นฝ่ายชนะแล้ว แต่ถ้าหวนไปทำตามวิธีที่
๑-๒-๓ พล ว.ก็จะเป็นผู้แพ้ เพราะในสามทางนั้น ไม่ว่าจะเลือกทางไหน
น้องสาวของพล ว.จะต้องได้รับทุกข์อย่างมาก เพราะแม่ก็ตายไปแล้ว
พ่อก็เป็นอื่น หัวใจ ความหวังและชีวิตฝากไว้กับพี่ชายคนเดียว
ถ้าพล ว.มีอันเป็นไป แม้น้องสาวจะบวชชี ก็ไม่อาจจะเปลื้องความทุกข์จากใจได้
อนึ่ง การที่คนสองคนต่อสู้กันแล้วตายลงทั้งคู่ พล ว.จะต้องตัดสินให้แพ้ทั้งสองคน
การฆ่าพวกเขา แล้วตัวเองเข้าตะรางก็เหมือนกับพล ว. ตายนั่นเอง
การเลือกหนทางที่ ๔ อาจเป็นการลงโทษพ่อของพล ว.ก็ได้
จึงไม่น่าจะเลือก
ทางที่ ๕ เป็นทางที่ประเสริฐแท้ ศัตรูของพล ว.กำลังจะพินาศอยู่แล้วเพราะติดการพนัน
ผีการพนันลงได้เกาะใครเข้าแล้วตายทั้งยืนทุกคน เป็นการตายที่ทุเรศมาก
ตายแล้วยังมีลมหายใจ ศัตรูกำลังป่วยด้วยโรคร้ายอยู่แล้ว
อีกไม่กี่วันเขาก็จะตาย ธุระอะไรที่พล ว.จะไปบีบจมูกเขา
ทำให้พล ว.ต้องกลายเป็นผู้ร้ายฆ่าคนโดยไม่จำเป็น ก็เขากำลังจะตายอยู่แล้วนี่
พ.อ.ปิ่นได้สรุปว่า พล ว.กำลังจะได้รับการปลดปล่อยแล้ว
จงอย่าทำความผิดใด ๆ เลย ออกจากทหารแล้วไม่ควรกลับบ้าน
ควรเดินทางไกลหรือหางานทำแถวพิษณุโลก เมื่อได้งานแล้ว
จึงค่อยไปรับน้องสาวมาอยู่ด้วย ภายหน้าน้องสาวก็คงมีครอบครัวเลี้ยงตัวได้
พล ว.ได้ทำตามคำแนะนำของพ.อ.ปิ่น เมื่อปลดจากทหารก็ได้งานทำเป็นครูโรงเรียนราษฎร์
และจะรับน้องสาวมาอยู่ด้วย จากนั้นก็จะบวชเพื่อให้ใจสงบ
สึกแล้วก็จะเริ่มงานสร้างชีวิตอย่างจริงจังต่อไป
(ปัญหาชาวบ้าน
โดย พ.อ.ปิ่น มุทุกันต์)
เพื่อรักษาชื่อเสียงเกียรติยศของทหาร พล ว.จึงสกัดกั้นความโกรธให้อยู่เพียงในใจ
ไม่ลุกลามออกมาภายนอกถึงขนาดฆ่าหรือทำร้ายพวกแม่เลี้ยง
ดังนั้น การพิจารณาถึงยศ ตำแหน่ง ความรู้ วัย ชื่อเสียงของตน
ชื่อเสียงของวงศ์ตระกูลหรือสถาบันที่ตนสังกัด หรือฐานะทางสังคมอื่น
ๆ ก็อาจช่วยให้ระงับหรือบรรเทาความโกรธลงได้
ในปัจจุบัน นักเรียนวัยรุ่นบางคนแทนที่จะระลึกถึงชื่อเสียงของสถานศึกษาของตน
แล้วบรรเทาความโกรธ เว้นสิ่งที่ทำให้เสียชื่อเสียงของสถานศึกษาของตน
กลับเห็นผิดเป็นชอบ ยึดมั่นถือมั่นอย่างผิด ๆ ในสถานศึกษาของตน
ทำให้ความโกรธลุกลามมากขึ้นจนเปลี่ยนสภาพจากนักเรียนเป็นนักเลง
(โจร ฆาตกร) ยกพวกตีกันโดยไม่รู้ว่าใครเป็นใคร และไม่มีเรื่องโกรธเคืองกันเป็นส่วนตัวมาก่อน
รู้แค่สถานศึกษาของฝ่ายตรงข้ามเท่านั้น สร้างความเสียหายให้แก่ชีวิต
ทรัพย์สิน และชื่อเสียงของสถานศึกษาของทั้งสองฝ่าย ความเหลวไหลด้วยกันทั้งสองฝ่ายนี้
สำนวนไทยเรียกว่า ฝนตกขี้หมูไหล คนจัญไรมาพบกัน
เมื่อพิจารณาถึงผลดีผลเสียแล้ว พล ว.จึงยอมทำตามคำแนะนำของพ.อ.ปิ่น
ปล่อยให้พวกแม่เลี้ยงฉิบหายไปเอง ยอมเป็นผู้แพ้ในสายตาของแม่เลี้ยง
แต่เป็นผู้ชนะในสายตาของปัญญาชนคนดีทั่วไป
คมสิ่งใด
ไม่เทียบ เปรียบคมถ้อย ถ้าพูดน้อย
ตื้นแผล ก็แก้หาย
ถ้าพูดมาก
แผลลึก นึกไม่วาย ถึงเจ็บหาย
รอยอยู่ ไม่รู้จาง
(สำนวนเก่า)