พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสกับภิกษุทั้งหลาย
ว่า
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย
หากมีพวกโจรผู้มีความประพฤติต่ำช้า เอาเลื่อยที่มีที่จับทั้งสองข้าง
เลื่อยอวัยวะใหญ่น้อยของพวกเธอ แม้ในเหตุนั้น ภิกษุรูปใดมีใจคิดร้ายต่อโจรเหล่านั้น
ภิกษุรูปนั้นไม่ชื่อว่า เป็นผู้ทำตามคำสั่งสอนของเรา
เพราะเหตุที่อดกลั้นไม่ได้นั้น ภิกษุทั้งหลาย แม้ในข้อนั้น
พวกเธอพึงศึกษาอย่างนี้ว่า จิตของเราจักไม่แปรปรวน เราจักไม่เปล่งวาจาลามก
เราจักอนุเคราะห์ด้วยสิ่งที่เป็นประโยชน์ เราจักมีจิตเมตตาไม่มีโทสะภายใน
เราจักแผ่เมตตาจิตไปถึงบุคคลนั้น และเราจักแผ่เมตตาจิตอันไพบูลย์
ใหญ่ยิ่ง หาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีพยาบาท ไปตลอดโลก
ทุกทิศทุกทาง ซึ่งเป็นอารมณ์ของจิตนั้น
(กกจูปมสูตร
๑๒/๒๗๒)
เย็นวันหนึ่ง พระปุณณะได้ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ขอพระโอวาทย่อเพื่อนำไปปฏิบัติ
พระองค์ก็ตรัสสอนให้ละความยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส
โผฏฐัพพะ (สิ่งที่ถูกต้องกาย) และธรรมารมณ์ (สิ่งที่ใจคิด)
จากนั้นตรัสถามพระปุณณะว่าจะไปอยู่ที่ไหน
ป. ชนบทชื่อว่าสุนาปรันตะ
พ.
ชาวสุนาปรันตะเป็นคนดุร้าย หยาบช้า ถ้าเขาด่า เธอจะคิดอย่างไร
ป.
ยังดีที่เขาไม่ทุบตีด้วยฝ่ามือ
พ.
ถ้าเขาทุบตีด้วยฝ่ามือ เธอจะคิดอย่างไร
ป.
ยังดีที่เขาไม่ขว้างด้วยก้อนดิน
พ.
ถ้าเขาขว้างด้วยก้อนดิน เธอจะคิดอย่างไร
ป.
ยังดีที่เขาไม่ตีด้วยท่อนไม้
พ.
ถ้าเขาตีด้วยท่อนไม้ เธอจะคิดอย่างไร
ป.
ยังดีที่เขาไม่ตีด้วยอาวุธ
พ.
ถ้าเขาตีด้วยอาวุธ เธอจะคิดอย่างไร
ป.
ยังดีที่เขาไม่ปลิดชีพเราเสียด้วยอาวุธอันมีคม
พ.
ถ้าเขาปลิดชีพเธอเสียด้วยอาวุธอันมีคม เธอจะคิดอย่างไร
ป.
มีบางคนต้องการฆ่าตัวตาย ต้องเที่ยวแสวงหาอาวุธอันมีคม
เราไม่ต้องแสวงหา ก็ได้อาวุธอันมีคมสำหรับปลิดชีพแล้ว
เมื่อพระปุณณะตอบอย่างนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ตรัสสรรเสริญความรู้จักข่มใจของพระปุณณะ
หลังจากพระปุณณะไปอยู่ที่สุนาปรันตชนบทแล้ว ก็สามารถทำให้ชาวสุนาปรันตะจำนวนหนึ่งกลับใจแสดงตนเป็นอุบาสกอุบาสิกา
ต่อมาท่านก็ได้เป็นพระอรหันต์ในพรรษานั้นเอง
(ปุณโณวาทสูตร
๑๔/๗๕๔-๗๖๕)
ในชีวิตประจำวันของแต่ละคนนั้น ต้องพบปะกับบุคคลต่าง
ๆ มากหน้าหลายตา ทั้งดีและชั่ว การกระทบกระทั่งกันหรือล่วงเกินกัน
ด้วยกายหรือด้วยวาจา ก็อาจมีบ้างเป็นของธรรมดา เมื่อมีใครล่วงเกินเราหรือทำไม่ดีต่อเรา
ก็ขอให้คิดไปในทางที่ดีอย่างพระปุณณะว่า ยังดีที่เขาไม่ทำ
(เลว) ยิ่งไปกว่านี้ หรือไม่ก็คิดว่า เขาทำเลวมาอย่างหนึ่ง
เราได้ทำดีตั้งสองอย่างคืออดทนและให้อภัย ถ้าเราคิดได้และทำได้อย่างนี้
ก็ยากที่ใคร ๆ จะทำให้เราโกรธได้
เขาทำดี
ทำชั่ว ตัวของเขา อย่าหาเหา ใส่หัว
ของตัวหนา
มันจะยุ่ง นุงนัก หนักอุรา ตามยถา
กรรมเขา เราสบาย
(อุทานธรรม)