เว็บบอร์ด สนทนาธรรม สอบถามห้องแชดสนทนาธรรมสมุดเยี่ยม ฝากข้อความ ติชมรวมเว็บพระพุทธศาสนารวมรูปภาพ พุทธศิลป์ พระพุทธเจ้า พระพุทธรูป พระเจดีย์ พระสงฆ์
  ตั้งเป็นหน้าแรก   เก็บเข้า Favorites   สั่งพิมพ์   แจ้งปัญหา
   
 
 
 
สารบัญหลัก
  หน้าหลัก
  หนังสือธรรมะ
  บทสวดมนต์
  เสียงธรรม mp3
  เสียงสวดมนต์ mp3
  ห้องสวดมนต์ออนไลน์
  สมาธิ
  กฎแห่งกรรม
  วัดป่า-พระป่า
  วันสำคัญทางศาสนา
  ดาวน์โหลด e-book
  คำสอนจากครูบาอาจารย์
  บทความ..ธรรมจักร
  รูปภาพ
  กระดานสนทนา
  ห้องสนทนา
  สมุดเยี่ยม
  รวมเว็บ
  ติดต่อทีมงาน
ขึ้นบน
 
เว็บบอร์ด
  สนทนาธรรม
  ข่าวกิจกรรม
  สติปัฏฐาน
  สมาธิ
  กฎแห่งกรรม
  นิทานธรรมะ
  หนังสือธรรมะ
  บทความธรรมะ
  กวีธรรม
  นานาสาระ
  วิทยุธรรมะ
  สถานที่ปฏิบัติธรรม
  เสียงธรรมออนไลน์
  เสียงสวดมนต์ออนไลน์
  พระพุทธเจ้า
  ประวัติอสีติมหาสาวก
  ประวัติเอตทัคคะ
  ประวัติครูบาอาจารย์
 
 
^-^ มาฝึกสมาธิกันดีกว่า ^-^
 
@ อยากรู้  ประวัติศาสตร์ วงล้อมธรรมจักร ลัญลักษณ์ของพุทธศาสนา  คลิกอ่าน @
 
รวมเว็บพระพุทธศาสนา แบ่งออกเป็นหมวดหมู่ ง่ายต่อการค้นคว้าหาข้อมูล
 
คำสอนของครูบาอาจารย์ เช่นหลวงปู่ดูลย์,หลวงปู่เทสก์,หลวงพ่อชา,หลวงพ่อพุธ,หลวงพ่อจรัญ,พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) เป็นต้น
 
อัลบั้มภาพพระพุทธศาสนา
 
เรือนธรรม - บ้านพักผ่อนทางจิตใจด้วยธรรมะ
 
ขอเชิญเข้ามาร่วมสนทนาธรรมด้วยกันครับ
 
ดูซิ ! ว่ามีใครอยู่ในห้องบ้าง
 
ฝากข้อความติชมของท่านได้ที่นี่ครับ
 
 
 
 
   ธรรมจักร   หนังสือธรรมะ พุทธวิธีชนะความโกรธ ปรับขนาดตัวอักษร เพิ่มขนาด ลดขนาด ขนาดปกติ
 
ลูกย่อดีกว่ากอไผ่

            เมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๒ สงบลงใหม่ ๆ บ่ายวันหนึ่ง ณ ถนนสายหนึ่งนอกชานพระนคร ฝนได้ตกลงมาอย่างหนัก ข้าพเจ้า (ท. เลียงพิบูลย์) และผู้คนซึ่งกำลังเดินอยู่บนถนนได้วิ่งเข้าไปหลบฝนที่มุมตึกแถวร้านค้าซึ่งอยู่ใกล้ ๆ รอให้ฝนหายจะได้กลับบ้าน

             ขณะนั้นได้ยินเสียงเด็กร้องไห้ดังเป็นห้วง ๆ และมีเสียงไม้เรียวกระทบเนื้อหนังดังคู่กันไปด้วย ข้าพเจ้าหันหลังไปดูในร้านที่ยืนอยู่ ก็เห็นชายอายุประมาณ ๓๐ ปี กำลังหิ้วแขนเด็กชายอายุประมาณ ๗ ขวบ ลากถูลู่ถูกัง ปากด่าว่าสั่งสอนด้วยอารมณ์โกรธจัด เมื่อไม้เรียวฟาดลงกลางหลังเด็ก เด็กก็ร้องดังขึ้นทุกครั้ง พวกที่หลบฝนอยู่ต่างก็สงสารและนึกตำหนิว่าลงโทษเด็กแรงเกินไป

             ทันใดนั้นข้าพเจ้าเห็นพระภิกษุรูปหนึ่งเดินเข้าไปในร้าน ใช้มือแตะแขนชายผู้นั้น ซึ่งก้มหน้าก้มตาใช้ไม้เรียวหวดร่างของเด็ก เมื่อมีผู้มาแตะแขนก็เงยหน้าขึ้นมอง พอเห็นเป็นพระภิกษุ ชายผู้นั้นก็รู้สึกได้สติขึ้นบ้าง วางไม้เรียวแล้วปล่อยแขนเด็ก ยกมือไหว้ แล้วนิมนต์ให้นั่งเก้าอี้

             พระองค์นั้นขอบิณฑบาตการเฆี่ยนตีเด็ก และถามว่า เด็กเป็นบุตรของเขาใช่ไหม
      
             ชายผู้นั้นตอบว่า เป็นบุตรของเขาเอง แต่เป็นเด็กซนดื้อด้านมาก เขาเฆี่ยนตีเท่าไหร่ก็ไม่จำ ทำให้เกิดโทสะต้องเฆี่ยนกันเสมอไป

             เด็กน้อยเห็นพระมาช่วยให้พ้นจากการถูกเฆี่ยนตี ก็หยุดร้องไห้ นั่งกับพื้นฟังพ่อกับพระพูดกันทั้งน้ำตายังไม่แห้ง

             ชายผู้นั้นพูดต่อว่า เขาห้ามไม่ให้เด็กวิ่งเล่นน้ำฝนเวลาฝนตก ห้ามแล้วห้ามอีกเด็กก็ไม่ฟัง เผลอหน่อยเดียวก็ออกไปวิ่งเล่นอีก ร้องเรียกเท่าไรเด็กก็ไม่ยอมกลับมา มันช่างกวนโทสะเหลือเกิน อยากจะตีเด็กให้เนื้อแตกดีกว่าให้ถูกรถชน

             พระรูปนั้นยิ้มอย่างอารมณ์เย็นแล้วพูดว่า คนเราเมื่อโกรธขึ้นมาแล้วก็ลืมหมดทุกอย่าง มุ่งแต่จะทำให้สมกับความโกรธ ไม่นึกถึงเหตุผลหรือผิดถูกอย่างไร ความโกรธทำให้คนดีกลายเป็นคนบ้าไประยะหนึ่ง ทำให้เกิดเหตุร้ายแรง และทำให้เกิดฆาตกรรมขึ้นบ่อย ๆ เพราะไม่มีสติเหนี่ยวรั้งอารมณ์ กว่าจะรู้ตัวว่าทำอะไรลงไปก็สายเกินแก้ ควรจะยับยั้งความโกรธไว้ก่อน

             แล้วพูดชี้แจงต่อว่า ลูกชายของเขาอายุยังน้อย ความนึกคิดก็น้อยตามไปด้วย จะพูดจาสั่งสอนให้แกรู้อย่างผู้ใหญ่นั้นไม่ได้ การสอนพลางตีพลางเพื่อให้เจ็บให้กลัวนั้นยิ่งไม่ได้ผล เด็กจะเจ็บตัวเปล่า ๆ จะสั่งอะไรแกก็รับปากทุกอย่างเพื่อไม่ให้ถูกเฆี่ยนตี ไม่คิดจดจำทั้งสิ้น การเฆี่ยนตีลูกก็เพื่อสั่งสอน ไม่ใช่เฆี่ยนเพื่อดับความโกรธ

             ชายผู้นั้นก็ยอมรับ และพูดด้วยความน้อยใจว่า เวลาถูกเฆี่ยนเด็กก็รับปากอย่างขอไปที แต่แล้วก็ลืม เขาจึงหมดปัญญาที่จะสั่งสอน และรู้สึกเจ็บใจที่เลี้ยงลูกแล้วไม่อยู่ในโอวาทเหมือนลูกคนอื่น เขาจึงต้องเฆี่ยนด้วยความโกรธ

             พระองค์นั้นพูดปลอบใจว่า อย่าเพิ่งท้อถอย เพราะลูกของเขาดูท่าทางฉลาด ไม่น่าจะดื้อเลย จากนั้นพระก็หันไปจูงมือเด็กน้อยซึ่งนั่งฟังอยู่ให้ลุกขึ้น ท่านแสดงกิริยายิ้มแย้ม ทำให้เด็กหายหวาดกลัว

             เมื่อเด็กหายกลัวและคุ้นกับท่านแล้ว พระจึงเริ่มถามเด็กว่า พ่อห้ามวิ่งเล่นน้ำฝนที่ถนน แต่หนูไม่เชื่อจึงถูกเฆี่ยนใช่ไหม

             เด็กตอบว่า ใช่ครับ มันสนุกดี แล้วพูดด้วยความน้อยใจว่า อ้ายตี๋ลูกเจ๊กอ้วนโกก็เล่น เตี่ยมันไม่เห็นตี อ้ายเปียหลังบ้านก็เล่นไม่เห็นแม่มันเฆี่ยน มีพ่อเฆี่ยนหนูคนเดียว

             พระยิ้มแล้วพูดว่า หนูเคยเห็นคนถูกรถชนไหม

             เด็กทำท่านึกแล้วอุทานว่า เคยครับ เห็นคนวิ่งข้ามถนนตรงโน้น พลางชี้มือไปข้างนอก แล้วเล่าว่า รถยนต์แล่นมาก็พอดีชนลงไปนอนกลางถนน แล้วคนขับก็หยุดรถลงมาดู คนนั้นนอนอยู่กลางถนน เลือดออกตามหน้าตามตัว ร้องโอย ๆ แล้วตำรวจกับคนขับก็อุ้มขึ้นรถคันนั้นไปโรงพยาบาล

             พระยิ้มด้วยความพอใจแล้วถามว่า หนูกลัวไหมรถยนต์ชน กลัวมากไหม
เด็กตอบทันทีว่า หนูกลัวครับ กลัวมากครับ

             พระท่านพูดต่อไปว่า หนูรู้ไหมพ่อเขารักหนูมาก กลัวว่าหนูวิ่งเล่นน้ำฝน แล้วรถมาชนหนูเหมือนคนนั้น พ่อก็ไม่รู้แม่ก็ไม่เห็น เขาอุ้มหนูไปโรงพยาบาล หนูไม่ได้พบแม่ ต้องร้องไห้หาพ่อหาแม่ ต้องไปนอนคนเดียว หนูไม่คิดถึงพ่อแม่หรือ

             เมื่อพระพูดจบ หนูน้อยก็ร้องด้วยความกลัวว่า หนูไม่ไป หนูจะอยู่กับพ่อแม่ที่บ้าน

             พระพูดต่อไปอย่างช้า ๆ เพื่อให้เด็กเข้าใจดีขึ้นว่า หนูไม่ต้องตกใจ พ่อรักหนูมาก ไม่อยากให้หนูถูกรถชน พ่อจึงห้ามวิ่งเล่นน้ำฝนตามถนน กลัวหนูจะถูกอุ้มไปนอนโรงพยาบาลคนเดียว ไม่เห็นพ่อ ไม่เห็นแม่ หนูไม่เชื่อ พ่อจึงเฆี่ยนหนู

             เมื่อท่านพูดขาดคำ เด็กก็ร้องขึ้นว่า หนูไม่วิ่งเล่นน้ำฝนอีกแล้ว หนูกลัว จากนั้นเด็กน้อยก็เหลียวไปทางพ่อ โผเข้าไปหาแล้วกอดคอพ่อไว้แน่น

             ตั้งแต่นั้นมา ผู้เป็นพ่อก็เลิกเฆี่ยนตีลูก เพราะเขาได้สติจากคำสอนของพระองค์นั้นว่า คนเราส่วนมากเฆี่ยนตีลูกเพื่อดับโทสะ ไม่ใช่เฆี่ยนตีเพื่อสั่งสอน เมื่อจะสอนลูกก็ใช้คำพูดง่าย ๆ ซ้ำ ๆ ที่เด็กพอจะเข้าใจได้ ส่วนลูกของเขาก็เป็นคนว่านอนสอนง่าย ผิดกว่าก่อนเป็นคนละคน ซนน้อยลง รู้อะไร ๆ มากขึ้น
                                                (กฎแห่งกรรม โดย ท.เลียงพิบูลย์)

             ธรรมดาพ่อแม่ย่อมรักลูก ถ้าลูกถูกข่มเหงรังแก พ่อแม่ย่อมทนไม่ได้ ต้องหาทางช่วยจนสุดความสามารถ แต่เมื่อถูกความโกรธครอบงำ พ่อกลับใช้มือที่เคยปกป้องลูกมาเฆี่ยนตีลูกเสียเอง

             การเฆี่ยนตีลูกเพื่อดับความโกรธเป็นสิ่งที่ไม่ควรกระทำ มีแต่พ่อแม่หรือผู้ปกครองที่โง่เขลาและโหดร้ายจึงทำเช่นนั้นได้ พ่อแม่ที่ฉลาดและมีเมตตาย่อมไม่อาจทำกับลูกของตนเช่นนั้นได้เลย เพราะทำให้ลูกเจ็บตัวเปล่า ๆ นอกจากนี้ยังอาจมีผลกระทบกระเทือนถึงจิตใจของลูก ทำให้ลูกมีความรู้สึกที่ไม่ดีต่อพ่อแม่ กลายเป็นเด็กดื้อด้าน ว่ายากสอนยาก

        เมื่อถูกความโกรธครอบงำ บุคคลย่อมมีแต่ความมืดมน จึงไม่อยู่ในสภาวะที่จะสั่งสอนผู้อื่นได้ เมื่อพ่อสั่งสอนลูกในขณะที่ตนกำลังโกรธ จึงสอนไม่ได้ผล อุปมาเหมือนคนที่หลงทางมาแล้ว ๑ เดือน นำทางให้คนที่หลงทางมาแล้ว ๗ วัน จึงพาหลงเข้ารกเข้าพง ถ้าไม่มีพระมาช่วยชี้ทางที่ถูกต้องให้ก็คงหลงไปอีกนาน

                   โทษผู้อื่น แลเห็น เป็นภูเขา โทษของเรา แลไม่เห็น เท่าเส้นขน

                  ตดคนอื่น เหม็นเบื่อ เราเหลือทน ตดของตน ถึงเหม็น ไม่เป็นไร

                                                                                                (อุทานธรรม)

   

สารบัญ
ความนำ 15. ถึงตายก็ไม่โกรธ
1. ลักษณะของความโกรธ 16. อย่าทำใจให้เป็นแผล
2. ลำดับขั้นของความโกรธ 17. โกรธเขาเราร้อน
3. สาเหตุของความโกรธ 18. น้ำน้อยในรอยเท้าโคกับคนไข้หนัก
4. พุทธวิธีชนะความโกรธ 19. หาใช่ใครอื่น
5. ลูกยอดีกว่ากอไผ่ 20.วัวใครเข้าคอกคนนั้น
6. ช้างกลางสงคราม 21. ผู้ให้ย่อมผูกไมตรีไว้ได้
7. แพ้เป็นพระ 22. ช่างหัวมัน
8. ต้นร้ายปลายดี 23. ทำอย่างไรถึงสวย
9. พระปิดทวาร 24. คนจนก็มีสิทธิ์
10. ให้เข็นครกขึ้นภูเขายังดีกว่า 25. ใดใดในโลกล้วนอนิจจัง
11. พระปฏิมายังราคิน 26. พุทธทาสวาทะ
12. ปราบพยศ 27. สรุปความ
13. สารถีกับคนถือเชือก   ดาวน์โหลดหนังสือเล่มนี้
14. ทำใจเหมือนธาตุทั้ง ๕  
   
 
 
 
 
 
 
 
  หน้าหลัก l หนังสือธรรมะ l เสียงสวดมนต์ mp3 l เสียงธรรม mp3 l บทสวดมนต์ l สมาธิ l รูปภาพ
ดาวน์โหลด e-book l ห้องสวดมนต์ออนไลน์  l กระดานสนทนา l ห้องสนทนา chat  l สมุดเยี่ยม lรวมเว็บ
 
จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
ขึ้นบน