เมื่อสงครามโลกครั้งที่
๒ เลิกใหม่ ๆ เช้าวันหนึ่ง เศรษฐีผู้หนึ่งขับรถรุ่นใหม่ที่เพิ่งซื้อ
เพื่อไปเที่ยวลพบุรีกับเพื่อนอีก ๓ คน พอสายก็ได้กลิ่นควันดำจากรถคันหน้า
เมื่อเร่งเครื่องขึ้นหน้า เพื่อนเศรษฐีก็ตะโกนต่อว่าที่ปล่อยควันดำใส่รถคนอื่น
รถคันนั้นนั่งกันอยู่ ๒ คน สภาพเก่ามาก ถ้าเทียบความเร็วก็เหมือนกระต่ายกับเต่า
ชายหนุ่มผู้ขับรถคันนั้น แม้จะถูกตะโกนใส่หน้าก็ตอบอย่างสุภาพ
และขอโทษที่เติมน้ำมันเครื่องมากไป
เมื่อคนในรถใหม่จอดพักกินข้าวเช้า รถเก่าก็แซงขึ้นหน้า
ต่อมารถใหม่ก็ตามทัน พอจะผ่าน คนในรถใหม่พากันพูดดูถูกรถเก่าต่าง
ๆ นานา คนในรถเก่าก็รับฟังอย่างยิ้มแย้ม เมื่อแซงแล้ว
คนหนึ่งในรถใหม่ได้พูดอย่างขบขันว่า รถจะเป็นศพอยู่แล้ว
ยังอุตส่าห์เอามาใช้ ถ้าพังลงกลางทางจะสมน้ำหน้า
ขากลับจากลพบุรีก็แวะเที่ยวตลาดสระบุรี ได้พบรถเก่า
จึงพากันพูดเยาะเย้ยรถเก่าอีกทั้งที่คนขับรถเก่าก็อยู่ในร้านที่จอดรถนั่นเอง
เมื่อเที่ยวตลาดแล้ว รถใหม่ก็กลับกรุงเทพ เจ้าเต่าคันนั้นก็ยังจอดอยู่ที่เดิม
ในเวลานั้นถนนสายกรุงเทพ-สระบุรียังไม่เรียบร้อยนัก
บางแห่งกำลังลงหินใหญ่ รถใหม่จึงถูกก้อนหินครูดใต้ท้องหลายครั้ง
แต่ก็วิ่งได้สะดวก เมื่อเลยบางปะอินมาไม่นาน รถใหม่ก็หยุดวิ่งเครื่องดับ
แก้เท่าไรก็ไม่ติด นาน ๆ จะมีรถผ่านสักคัน คนในรถที่ผ่านก็พากันหัวเราะ
ไม่มีใครมีแก่ใจลงมาถามเลย เมื่อใกล้จะมืด ทุกคนก็หน้าซีดด้วยความกลัว
เพราะแถวนั้นในระยะนั้นเคยมีรถยนต์ถูกจี้ปล้นกันบ่อย
ๆ เศรษฐีซึ่งตอนแรกมีทิฏฐิไม่ยอมขอให้ใครช่วย ก็หมดทิฏฐิแล้ว
คิดว่า ถ้ามีรถผ่านมาก็จะโบกมือขอความช่วยเหลือ ถ้าใครแก้ได้
จะเอารางวัลสัก ๕๐๐ บาทหรือมากกว่าก็จะทูนหัวให้ ขอให้ได้กลับบ้านวันนี้ก็แล้วกัน
ขณะนั้นรถคันหนึ่งกำลังวิ่งมาใกล้ อ้ายเต่า นั่นเอง
เศรษฐีคิดว่า แม้ขอความช่วยเหลือเขาก็คงไม่ช่วย ซ้ำจะเยาะเย้ยให้ได้อายอีก
คิดแล้วจึงเอาหัวซุกเข้าไปในกระโปรงเครื่อง ทำทีว่ากำลังแก้เครื่อง
ส่วนคนอื่น ๆ ก็หลบเข้าไปนั่งในรถหลับตาพิงเบาะ ทุกคนต่างก็อยากให้อ้ายเต่าผ่านไปเสียเร็ว
ๆ แต่แทนที่จะได้ยินเสียงรถผ่านไปพร้อมกับตะโกนหัวเราะเยาะ
กลับได้ยินเสียงเครื่องยนต์หยุด แล้วได้ยินเสียงคนเปิดประตูรถลงมา
จากนั้นก็ได้ยินเสียงถามอย่างสุภาพว่า รถคุณเป็นอะไร
มีอะไรจะให้ช่วยบ้างไหม
เศรษฐีฟังแล้วเกือบจะร้องไห้ด้วยความตื้นตันใจ น้ำเสียงนั้นเป็นเสียงที่ถามอย่างบริสุทธิ์ใจไม่มีการเยาะเย้ยแฝงอยู่
ทำให้เศรษฐีหายอายจึงตอบว่า รถแล่นมาดี ๆ ก็หยุดลงเฉย
ๆ แก้เท่าไรก็ไม่ตก ชายผู้นั้นจึงเข้าไปตรวจดู ในที่สุดพบว่า
ถังน้ำมันรั่ว จึงอุดรอยรั่วในถังชั่วคราวแล้วเติมน้ำมันพอให้ไปถึงกรุงเทพได้
เมื่อเครื่องยนต์ติดดีแล้ว เศรษฐีก็หยิบซองธนบัตรเพื่อจะให้รางวัล
ชายผู้นั้นก็รีบปฏิเสธเพราะตั้งใจช่วยโดยไม่หวังสิ่งตอบแทน
เศรษฐีจึงล้วงไปในคอเสื้อ หยิบพระสมเด็จเลี่ยมทองที่ห้อยคออยู่พร้อมทั้งสายสร้อยทองคำ
ส่งให้ด้วยความรักในน้ำใจ แต่ชายผู้นั้นก็ปฏิเสธอีกอย่างสุภาพ
เศรษฐีจึงพูดว่า
พระของคุณคงไม่ใช่พระสมเด็จแน่ โปรดรับไว้เถิด
ชายผู้นั้นตอบว่า ของเขาไม่ใช่พระสมเด็จ เป็นพระปิดทวารมีองค์เดียวก็พอ
ขอให้มีใจสุจริตเคารพท่านจริง ๆ พวกปล้นมีพระห้อยคอพวงใหญ่
แต่ก็ป้องกันอะไรไม่ได้เพราะใจไม่สุจริต หากินโดยการปล้น
ของเขามีองค์เดียวบูชาไว้ที่บ้าน เมื่อมีเรื่องอะไรก็นึกถึงท่าน
เช่น เมื่อได้ยินเสียงที่ไม่ดี ก็นึกถึงท่าน เห็นท่านปิดหู
เขาก็ไม่ฟังเสียงนั้น ไม่นำมาใส่ใจ เมื่อเพื่อนชวนให้ดื่มสุรา
เขานึกถึงท่าน เห็นท่านปิดปาก เขาก็ไม่ดื่ม เมื่อมีสิ่งไม่ดีเกิดขึ้นเขาก็นึกถึงท่านทุกครั้ง
ท่านก็สอนให้อดทน เขาก็ทำตาม จิตใจจึงสบายไม่มีกังวล
เศรษฐีฟังแล้วก็ตื้นตันใจ อยากจะร้องไห้ อยากจะเอาผ้าปูแล้วกราบความดีของชายผู้นั้น
(กฎแห่งกรรม
โดย ท. เลียงพิบูลย์)
ประตูเรือนเป็นสถานที่สำคัญที่จะต้องดูแลรักษาให้ดี
ฉันใด อินทรีย์ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ซึ่งเป็นทางสำหรับให้อารมณ์ต่าง
ๆ ผ่านเข้ามาสู่ใจ ก็เป็นสถานที่สำคัญที่จะต้องสำรวม
คือต้องดูแลรักษาให้ดี ฉันนั้น
ชายหนุ่มในเรื่องนี้ไม่โกรธแม้จะถูกเยาะเย้ยชนิดที่เรียกว่า
ขุดด้วยปาก ถากด้วยตา (หมายถึง เหยียดหยามทั้งด้วยวาจาและสายตา)
เพราะสามารถสำรวมอินทรีย์ได้ดี เมื่อได้ยินเสียงที่ไม่ดี
เขาก็ระลึกถึงพระปิดทวารที่ตนเคารพบูชา เห็นท่านปิดหู
ก็มีสติสัมปชัญญะรู้ว่า
เสียงไม่ดีนั้นก็สักว่าเสียง เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป
จึงไม่ควรนำมาใส่ใจ เมื่อระลึกได้อย่างนี้ ความโกรธเคือง
ความไม่พอใจ ความแค้นใจ ก็ไม่เกิดขึ้น สามารถรับฟังเสียงไม่ดีได้อย่างยิ้มแย้ม
สิ่งต่าง ๆ ในโลกนี้ที่เราไม่รู้ไม่เห็นยังมีอีกมาก
แต่ไม่ใช่สิ่งจำเป็นที่เราจะต้องไปรู้ไปเห็นให้หมด ดังนั้นในบางครั้ง
แม้จะเห็นก็ควรแกล้งทำเป็นไม่เห็น แม้จะได้ยินก็ควรแกล้งทำเป็นไม่ได้ยิน
เมื่อรู้จักปิดหูปิดตาตัวเองเสียบ้าง เรื่องเดือดเนื้อร้อนใจก็จะลดน้อยลง
ชีวิตก็จะเป็นสุขขึ้นกว่าเดิม
ปิดหู
ซ้ายขวา ปิดตา สองข้าง
ปิดปาก
เสียบ้าง แล้วนั่ง สบาย
(สำนวนเก่า)