พระพุทธเจ้าตรัสถึงโทษของความโกรธ
๗ ประการ คือ คนผู้โกรธ ถูกความโกรธครอบงำย่ำยีแล้ว
๑. แม้จะอาบน้ำ ไล้ทา ตัดผม โกนหนวด นุ่งผ้าขาวสะอาดแล้วก็ตาม
ย่อมเป็นผู้มีผิวพรรณทราม
๒.
แม้จะนอนบนที่นอนอย่างดี ลาดด้วยเครื่องปูลาดอันวิจิตรงดงาม
มีหมอนหนุนศีรษะ หนุนเท้าทั้งสองข้างก็ตาม ย่อมนอนเป็นทุกข์
๓.
แม้จะถือเอาสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ ก็สำคัญว่าเราถือเอาสิ่งที่เป็นประโยชน์
แม้จะถือเอาสิ่งที่เป็นประโยชน์ ก็สำคัญว่าเราถือเอาสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์
นี้ย่อมเป็นไปเพื่อความฉิบหายตลอดกาลนาน
๔.
แม้จะมีโภคทรัพย์ที่หามาโดยชอบธรรม ด้วยความขยันหมั่นเพียร
อาบเหงื่อต่างน้ำ (ก็มักมีเหตุให้) พระราชาทั้งหลายย่อมริบโภคทรัพย์ของคนขี้โกรธเข้าพระคลังหลวง
๕.
แม้จะได้ยศมาเพราะความไม่ประมาท ก็เสื่อมจากยศนั้นได้
๖.
แม้เขาจะมีมิตรสหาย มิตรสหายเหล่านั้นก็เว้นเขาเสียห่างไกล
๗.
ย่อมประพฤติทุจริต ด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ เมื่อตายไป
ย่อมเข้าถึงทุคติ
(โกธนาสูตร
๒๓/๖๑)
นักจิตวิทยาชื่อ มาร์เด็น (Orison
Swett Marden) เขียนไว้ว่า ในส่วนที่เกี่ยวกับร่างกายนั้น
ความโกรธมีผลร้ายหลายประการคือ
๑. ทำลายรสอาหาร ทำให้หมดความอยากรับประทาน
๒.
เป็นเหตุให้ระบบย่อยอาหารทำงานไม่ปกติ
๓.
ทำให้เส้นประสาทเกิดความพิการ
๔.
ทำให้เกิดความระส่ำระสายทั่วสรรพางค์กาย
๕.
ทำให้เกิดพิษในตัวเหมือนพิษงู และพิษนี้จะก่อความร้ายให้ตัวเอง
๖.
เด็กที่ถูกแกล้งหรือทำให้โกรธอยู่เสมอจะเติบโตช้าผิดปกติ
ศาสตราจารย์ เกตส์ ได้ทำการทดลองจนพิสูจน์ได้ว่า
เหงื่อที่ออกจากร่างกายเพราะความโกรธนั้น มีวัตถุธาตุผิดกับเหงื่อที่ออกตามปกติ
แสดงว่าความโกรธได้สร้างพิษร้ายขึ้นในร่างกาย ศาสตราจารย์ผู้นี้แนะนำว่า
วิธีป้องกันและระงับผลร้ายอันจะเกิดแก่ร่างกายเพราะความโกรธนั้นคือหาอะไรทำเพื่อให้เหงื่อออกมาก
ๆ จะบรรเทาความโกรธแค้น และแก้พิษที่เกิดขึ้นในร่างกายของเราด้วย
(กำลังใจ โดย หลวงวิจิตรวาทการ)
ครั้งหนึ่ง พระอนุรุทธเถระได้ไปเมืองกบิลพัสดุ์
พวกพระญาติก็มาเฝ้า เว้นแต่พระนางโรหิณี ผู้เป็นน้องสาวของพระเถระ
ไม่เสด็จมาเพราะละอายด้วยเป็นโรคผิวหนัง พระเถระจึงแนะนำให้พระนางขายเครื่องประดับ
แล้วให้สร้างโรงฉัน ดูแลปัดกวาด ปูอาสนะ ตั้งหม้อน้ำดื่มไว้เสมอ
ๆ
เมื่อสร้างเสร็จ พระนางได้ถวายภัตตาหารแด่พระภิกษุสงฆ์
มีพระศาสดาเป็นประมุขในโรงฉันนั้น
เมื่อฉันเสร็จ พระศาสดาได้ตรัสเล่ากรรมในอดีตของพระนางโรหิณี
ความว่า
ในอดีตกาล พระอัครมเหสีของพระเจ้าพาราณสีผูกอาฆาตในหญิงนักฟ้อนคนหนึ่ง
รับสั่งให้หญิงนักฟ้อนเข้าเฝ้า เมื่อได้โอกาสก็เอาผงเต่าร้างใหญ่
(หมากคันก็เรียก) โปรยลงที่ตัวหญิงนักฟ้อน ทันใดนั้นเอง
สรีระของหญิงนั้นได้พุพองขึ้นเป็นตุ่มน้อยใหญ่ เมื่อนางกลับไปนอน
ก็ถูกผงเต่าร้างใหญ่ที่พระอัครมเหสีแอบให้คนไปโรยไว้บนที่นอนกัดอีก
ได้รับทุกขเวทนาเป็นอันมาก
พระอัครมเหสีในกาลนั้นได้มาเป็นพระนางโรหิณี
หลังจากนั้น พระศาสดาได้ตรัสว่า โรหิณี ก็กรรมที่เธอทำแล้วในกาลนั้น
ก็ความโกรธก็ดี ความริษยาก็ดี แม้มีประมาณเล็กน้อย ย่อมไม่ควรทำเลย
ในที่สุดพระนางก็หายจากโรคผิวหนังและได้บรรลุโสดาบัน
(อรรถกถาธรรมบท
ภาค ๖ หน้า ๑๕๙)
สามีภรรยาคู่หนึ่งเป็นเจ้าของกิจการส่งเสื้อผ้าสำเร็จรูป
ทั้งสองอยู่กินกันมา ๔-๕ ปีแล้ว สามีอายุ ๔๓ ปี ภรรยาอายุ
๒๙ ปี เป็นคนดุร้าย ชอบข่มขู่แสดงอำนาจเหนือสามีตลอดมา
แต่ด้วยความรักภรรยา สามีจึงอดทนได้เสมอ
ต่อมาวันที่
๑๐ ก.ย. ๒๕๓๖ สามีเสร็จธุระจึงกลับบ้านพักผ่อน ภรรยาสั่งให้สามีนำเสื้อผ้าไปส่งลูกค้าที่
ประตูน้ำ สามีขอพักเหนื่อยก่อน ภรรยาไม่ยอม ด่าว่าสามีต่าง
ๆ นานา ในที่สุดถึงกับเอาเท้าถีบ ๒ ครั้ง และด่าว่าไปถึงบรรพบุรุษ
เมื่อถูกเข้าอย่างนี้ สามีก็โกรธจนทนไม่ไหว คว้าค้อนปอนด์ที่อยู่ใกล้มือเหวี่ยงใส่ภรรยาเต็มแรง
ปรากฏว่าโดนท้ายทอยของภรรยาอย่างจัง นางฟุบลงแน่นิ่งและขาดใจตาย
สามีรีบหลบหนีไปด้วยความตกใจ หลังจากครุ่นคิดอยู่นานและปรึกษากับญาติแล้วจึงได้กลับมามอบตัวกับตำรวจเพื่อสู้คดี
(น.ส.พ.ไทยรัฐ
๑๘ ก.ย. ๒๕๓๖)
เมื่อครั้งที่ข้าพเจ้า (ท. เลียงพิบูลย์) นอนป่วยอยู่ที่โรงพยาบาลจุฬาฯ
ข้างห้องเป็นห้องพิเศษ มีท่านเจ้าคุณผู้หนึ่งนอนพักรักษาตัว
ท่านกำลังจะหายป่วย ท่านได้เข้ามาในห้องข้าพเจ้าสอบถามอาการป่วยของข้าพเจ้า
สำหรับตัวท่าน หมอบอกว่าอีก ๒ วันกลับบ้านได้ ท่าทางท่านมีอารมณ์ดี
วันต่อมาท่านเดินยิ้มเข้ามาบอกว่า พรุ่งนี้เย็นหมอให้กลับบ้านได้แล้ว
ข้าพเจ้าก็แสดงความยินดีกับท่าน
เช้าวันรุ่งขึ้น
มีเสียงชุลมุนวุ่นวายในห้องของท่านเจ้าคุณ เมื่อคนเฝ้าไข้ของข้าพเจ้ามา
ข้าพเจ้าก็ขอร้องให้ไปสืบดูว่า มีอะไรเกิดขึ้นกับท่านเจ้าคุณ
คนเฝ้าไข้กลับมาเล่าให้ฟังว่า ประตูห้องแง้มอยู่ แต่ไม่ให้คนอื่นเข้าไป
สงสัยว่าท่านเจ้าคุณกำลังอยู่ในอันตราย ต่อมาก็มีข่าวว่า
ท่านเจ้าคุณได้ถึงแก่กรรมเสียแล้วเมื่อครู่นี้ หมอและพยาบาลพยายามช่วยแก้ไขก็ไม่ทัน
ต้นเหตุที่ทำให้ท่านเจ้าคุณเสียชีวิตก็คือบุตรสาวของท่านเอง
บุตรสาวคนนี้มีความผิดร้ายแรงอะไรไม่ทราบ ท่านเจ้าคุณโกรธมาก
ไม่ยอมให้อภัย ไม่ยอมให้เข้าบ้าน ไม่ยอมให้พบหน้า เมื่อบุตรสาวรู้ว่าเจ้าคุณพ่อมาป่วยอยู่โรงพยาบาล
ได้หายเกือบเป็นปกติกำลังจะกลับบ้าน จึงหาทางเข้ามาเยี่ยมเจ้าคุณพ่อถึงในห้อง
เมื่อท่านเจ้าคุณเห็นหน้าลูกสาวที่จงเกลียดจงชังอย่างไม่ทันรู้ตัว
ก็โกรธสุดขีดจนระงับไว้ไม่อยู่ อ้าปากค้างแล้วก็ล้มลงหมดลมหายใจ
(กฎแห่งกรรม โดย ท.เลียงพิบูลย์)
ความโกรธไม่เคยให้ผลดีแก่ใครเลย ไม่ว่าในสถานที่ใดเวลาไหน
ความโกรธมีแต่โทษถ่ายเดียว จะหวังความสุขหรือประโยชน์สักนิดเป็นไม่มี
มีแต่นำความทุกข์ความเดือดร้อนมาสู่ตนเองและครอบครัว
ความโกรธเป็นเพลิงกิเลส เกิดกับผู้ใดก็เผาใจผู้นั้นให้ร้อนเร่า
ถึงเราจะโกรธแค้นปานใดก็ไม่อาจสาปแช่งหรือแผ่ความโกรธไปเผาผู้อื่นให้พลอยร้อนใจไปกับเราด้วย
ดังนั้น แม้จะชื่อว่าโกรธเขา แต่ผู้ที่ร้อนใจ เจ็บใจ
ทุกข์ใจ กินไม่ได้ นอนไม่หลับ ก็คือเรา ไม่ใช่เขา
ในที่บางแห่งท่านเปรียบเทียบว่า อาการที่โกรธคนอื่นก็เหมือนกับการหยิบเหล็กร้อนแดงหรืออุจจาระ
(แล้วขว้างคนอื่น) ดังนั้น การโกรธลับหลังเขาก็เหมือนกับการหยิบเหล็กร้อนแดงหรืออุจจาระ
แล้วถือไว้เฉย ๆ เพราะไม่รู้จะไปขว้างใคร ต้องร้อนหรือเหม็นอยู่คนเดียว
คนอื่นเขาไม่รู้เรื่องราวอะไรด้วยเลย ยิ่งโกรธ บ่อย
ๆ ก็ต้องร้อนต้องเหม็นบ่อย ๆ ยิ่งโกรธโดยไม่ยอมเลิก
ก็เหมือนเอามือกำเหล็กร้อนแดงไว้แน่นไม่ยอมปล่อย หรือเอามือขยำอุจจาระโดยไม่ยอมเลิก
ลองนึกดูว่าสภาพเช่นนั้นน่าสมเพช น่าสะอิดสะเอียนขนาดไหน
เราจะยอมปล่อยตัวปล่อยใจให้ตกอยู่ในสภาพนั้นหรือ ?
แม้ชื่อว่า
โกรธเขา แต่เราร้อน เดินนั่งนอน
ร้อนในอก แทบหมกไหม้
แล้วยังดื้อ
ถือโทษ โกรธทำไม ได้อะไร
เป็นประโยชน์ โปรดตรองดู
(ธมฺมวฑฺโฒ
ภิกฺขุ)