ในปฐมอาฆาตวินยสูตร (๒๒/๑๖๑) พระพุทธเจ้าทรงสอนให้ละความโกรธหรือความอาฆาตด้วยการระลึกถึงกฎแห่งกรรม
พิจารณาความที่ทุกชีวิตต่างมีกรรมเป็นของตนเอง เป็นทายาทแห่งกรรม
ใครทำดีย่อมได้ดี ใครทำชั่วย่อมได้ชั่ว
การที่เราโกรธใครสักคนหนึ่ง
แล้วสามารถทำให้คุณงามความดีของเขาพินาศไปก็หาไม่ ตรงกันข้าม
ความโกรธของเรานั้นแหละจะทำลายคุณงามความดีของเราเอง
ดังนั้น แทนที่จะโกรธเมื่อเห็นใครคนใดคนหนึ่งทำชั่ว
เบียดเบียนคนอื่น (รวมทั้งเรา) ให้เดือดร้อน ควรจะสงสารเขามากกว่า
เพราะเขาจะต้องได้รับโทษตามกฎหมายหรือกฎแห่งกรรมอย่างแน่นอนไม่ช้าก็เร็ว
ไม่มีทางที่เขาหรือใคร ๆ จะสามารถหนีพ้นได้ แม้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ทรงหนีไม่พ้น
ดังที่พระองค์ได้ตรัสเล่าถึงกรรมเก่าของพระองค์เอง มีความบางตอนว่า
ในกาลก่อน เราได้ฆ่าน้องชายต่างมารดา เพราะเหตุแห่งทรัพย์
ผลักลงไปในซอกเขาและทุ่มด้วยหิน ด้วยผลแห่งกรรมนั้น
พระเทวทัตจึงทุ่มก้อนหิน ก้อนหินกลิ้งลงมากระทบนิ้วหัวแม่เท้าเราจนห้อเลือด
เราเป็นผู้มีชื่อว่าโชติปาละ
ได้กล่าวกะพระพุทธเจ้าพระนามว่ากัสสปะ การตรัสรู้เป็นของที่ได้โดยยาก
ท่านจะได้จากควงไม้โพธิที่ไหนกัน ด้วยวิบากแห่งกรรมนั้น
เราได้ประพฤติกรรมที่ทำได้โดยยาก (บำเพ็ญทุกรกิริยา)
เป็นอันมากตลอด ๖ ปี แต่นั้นจึงได้บรรลุโพธิญาณ
เรามิได้บรรลุโพธิญาณอันสูงสุดโดยการบำเพ็ญทุกรกิริยา
ได้แสวงหาโพธิญาณในทางที่ผิดเพราะถูกกรรมเก่าทวงเอา
(พุทธาปทาน
๓๒/๓๙๒)
สองตัวอย่างนี้แสดงให้เห็นว่า
แม้องค์พระทศพลสัมมาสัมพุทธเจ้า พระบรมศาสดาผู้ทรงคุณอันประเสริฐ
หาผู้เปรียบปานมิได้ ก็ยังทรงหนีกฎแห่งกรรมไม่พ้น ดังนั้น
เขาเป็นใครกัน เป็นผู้ยิ่งใหญ่มาจากไหน จึงจะหนีรอดการลงโทษตามกฎแห่งกรรมไปได้
เมื่อคิดอย่างนี้ก็อาจจะคลายความโกรธในบุคคลนั้นลงได้
ใครกระทำ
กรรมชั่ว ช่างตัวเขา ส่วนตัวเรา
อย่าเอา อย่างเขานั่น
คนที่ทำ
กรรมต่ำช้า สารพัน มินานวัน
เขารับกรรม ที่ทำเอง
(ธมฺมวฑฺโฒ
ภิกฺขุ)