เมื่อพระศาสดาประทับอยู่
ณ กรุงโกสัมพี พระนางมาคันทิยา อัครมเหสีของพระเจ้าอุเทน
ซึ่งผูกอาฆาตในพระศาสดา เพราะบิดาเคยยกนางให้พระศาสดา
แต่ถูกปฏิเสธ ด้วยความแค้นที่ฝังใจ พระนางทรงจ้างพวกชาวเมืองรวมทั้งทาสและกรรมกร
รับสั่งว่า พวกท่านจงด่าบริภาษพระสมณโคดม (ชื่อที่พวกลัทธิอื่นเรียกพระพุทธเจ้า)
ผู้เสด็จเข้ามาในเมืองให้เตลิดหนีไป
เมื่อพระศาสดาเสด็จเข้ามาในเมือง
พวกมิจฉาทิฏฐิผู้ไม่เลื่อมใสในพระรัตนตรัยเหล่านั้น
ได้ติดตามด่าพระศาสดาด้วยคำด่า (ที่นิยมด่ากันในสมัยนั้น)
๑๐ (เจ้าเป็นโจร พาล บ้า อูฐ วัว ลา สัตว์นรก สัตว์ดิรัจฉาน
สุคติของเจ้าไม่มี เจ้าหวังได้ทุคติอย่างเดียว)
ท่านพระอานนท์ฟังคำนั้นแล้ว
ได้กราบทูลพระศาสดา
อ. ชาวเมืองเหล่านี้ด่าว่าพวกเรา พวกเราควรไปที่อื่น
ศ. ไปไหน อานนท์
อ. ไปเมืองอื่น
ศ. เมื่อพวกชาวเมืองนั้นด่าอีก เราจักไปที่ไหนกันเล่า
อานนท์
อ. ออกจากเมืองนั้น ไปเมืองอื่น
ศ. อานนท์ การกระทำอย่างนี้ไม่ควร เรื่องเกิดขึ้นในที่ใด
เมื่อมันสงบในที่นั้นแล จึงควรไปที่อื่น อานนท์ ก็พวกที่ด่าเป็นพวกไหนเล่า
อ. พวกชาวเมืองตลอดจนทาสและกรรมกรพากันมาด่า
ศ. อานนท์ เราเป็นเช่นกับช้างที่เข้าสู่สงคราม การอดทนต่อลูกศรที่แล่นมาจาก
๔ ทิศ เป็นภาระของช้างที่เข้าสู่สงคราม ฉันใด การอดทนต่อถ้อยคำที่คนทุศีล
(ไม่มีศีล) เป็นอันมากกล่าวแล้ว เป็นภาระของเรา ฉันนั้น
เราจักอดกลั้นต่อคำล่วงเกิน ดังช้างศึกที่อดทนต่อลูกศร
เพราะคนเป็นอันมากเป็นผู้ทุศีล บุคคลผู้อดกลั้นต่อคำล่วงเกินได้
ฝึกตนดีแล้ว เป็นผู้ประเสริฐในหมู่มนุษย์
การตบมือข้างเดียวย่อมไม่ดัง ฉันใด เมื่อฝ่ายตรงข้ามสงบนิ่ง
ทำหูทวนลมเสีย การด่าอยู่แต่ฝ่ายเดียวก็ไร้ประโยชน์
ฉันนั้น พวกปากรับจ้างด่าจนเมื่อยปาก ก็เกิดความเบื่อหน่าย
เลิกด่าไปเอง เรื่องก็สงบลงใน ๗ วัน
(อรรถกถาธรรมบท ภาค ๒ เรื่องนางสามาวดี)
เราเหมือนช้าง กลางสงคราม สนามรบ ทนประสบ
แม้ถูก ซึ่งลูกศร
จะทนคำ ล่วงเกินแท้ นั้นแน่นอน คนมากค่อน ข้างยึด ประพฤติทราม
(อ. เสาวดี)
เขาด่าว่าเราอย่างหยาบคาย ด้วยเรื่องไม่จริง และโดยกาลอันไม่สมควร
เขาเองควรจะเดือดร้อน (ด้วยความต่ำทราม ความโกหกตอแหล
และความไม่รู้จักกาลเทศะของเขา) ไม่ใช่เราเดือดร้อน
(โจทนาสูตร ๒๒/๑๖๗)
เมื่อบุคคลไปอยู่ในต่างถิ่นที่ไม่มีคนรู้จัก ไม่ควรจะถือตัว
(ว่าเราเป็นกษัตริย์ เป็นผู้มีศีล จะมาพูดหรือแสดงอาการไม่เคารพอย่างนี้กับเราไม่ได้)
พึงอดทนแม้จะเป็นคำขู่ตะคอกของทาสก็ตาม และควรสร้างฉางใหญ่ไว้สำหรับเก็บคำหยาบคายทั้งหลาย
(ทัททรชาดก ๒๗/๕๑๕)
ผู้ใดในโลกนี้อดทนต่อถ้อยคำของคนที่ต่ำกว่าได้ นักปราชญ์ทั้งหลายกล่าวความอดทนของผู้นั้นว่าสูงสุด
ผู้มีความอดทนพึงได้ผลคือความไม่กระทบกระทั่ง เวรทั้งหลายย่อมระงับด้วยกำลังแห่งขันติ
(สรภังคชาดก
๒๗/๒๔๖๐)
การกล่าวร้าย หรือหมิ่นประมาท เป็นเสมือนยาพิษซึ่งศัตรูวางแก่เรา
เพื่อให้เราโกรธแค้น เพื่อทำลายสมรรถภาพในการงาน ทำลายสุขภาพอนามัย
และความสงบกายสบายใจของเรา แล้วเหตุไฉนเราจึงต้องกลืนกินยาพิษที่เขาวางไว้เพื่อประทุษร้ายเรา
(กำลังใจ โดย หลวงวิจิตรวาทการ)
เราอาจถูกคนด่าว่าเสียดสี หรือพูดดูหมิ่นให้เจ็บใจ แต่ถ้าเรามีความอดกลั้นพอ
ไม่ตกเป็นทาสของความโกรธและความวู่วามแล้ว สิ่งเหล่านั้นก็จะผ่านหายไปด้วยการทำเป็นรู้ไม่เท่าทัน
หรือทำเป็นไม่ได้ยิน คนขนาดเราก็ไม่ใช่วิเศษมาแต่ไหน
จะถูกเสียดสีว่ากล่าวบ้างไม่ได้เทียวหรือ ก็คนขนาดประธานาธิบดี
หรือนายกรัฐมนตรีซึ่งมีอำนาจ ยังถูกด่ากันโครม ๆ แล้วเราเป็นอะไรมา
จะถูกกระทบกระเทือนบ้างไม่ได้หรือ ?
บุคคลบางคนดูเหมือนจะมีเรื่องกังวลอยู่แต่การแก้เผ็ดแก้แค้น
หรือพูดจาโต้ตอบกับคนนั้นคนนี้อยู่เนืองนิตย์ ใครพูดจาแหลมมาเป็นต้องถูกโต้กลับไปอย่างสาสม
ถ้านึกไม่ออกในขณะนั้น ก็ต้องไตร่ตรองหาคำพูดที่จะทำให้อีกฝ่ายหนึ่งเจ็บใจให้จงได้
บางครั้งถึงกับนอนไม่หลับ
มีเรื่องเล่าว่า คนแจวเรือไปได้ ๒ คุ้งน้ำแล้ว เพิ่งนึกคำโต้ตอบได้
อุตส่าห์แจวเรือกลับมาตอบเขาอีกคำสองคำแล้วจึงจากไป
ลองนึกดูก็ได้ว่า บุคคลที่ทำดังนี้จะมีความสุขได้อย่างไร
(คุณลักษณะพิเศษแห่งพระพุทธศาสนา โดย สุชีพ ปุญญานุภาพ)
คนอื่นจะทำให้เราเป็นคนเลวไม่ได้ คนที่จะทำให้เรากลายเป็นคนเลวได้มีอยู่คนเดียวในโลกนี้คือตัวเราเอง
คนตั้งร้อยมารุมด่าเราวันยังค่ำ ก็ทำให้เรากลายเป็นคนเลวไปไม่ได้
แต่ถ้าเราเองพูดจาหยาบคายด่าตอบ หรือแสดงท่ายักษ์ท่ามารออกมาเมื่อไร
เราก็จะกลายเป็นคนเลวอย่างเขาด้วย
การที่เขาด่าเรานั้น ความมุ่งหมายของเขาคือจะทำให้เรากลายเป็นคนเลว
ทำให้เรากลายเป็นบ้า เป็นหมู เป็นหมา ถ้าเราควบคุมตัวเราไว้ได้
ไม่ยอมเลวตาม เราก็เป็นผู้ชนะ ถ้าเอาความเลวออกตอบเมื่อไร
เขาก็เป็นฝ่ายชนะ เพราะสามารถทำให้เราเลวได้ตามแผนของเขา
การที่เรายับยั้งตัวไว้ได้ ย่อมเป็นการทำตัวอย่างให้ฝ่ายตรงข้ามเห็นว่า
ในโลกนี้คนที่ไม่เลวเหมือนเขาก็ยังมี เป็นการช่วยฉุดใจเขาไว้ไม่ให้จมดิ่งลงสู่ความเลวจนเกินไป
ผู้ช่วยก็ได้กุศล
(คลายสงสัย
โดย พ.อ.ปิ่น มุทุกันต์)
เมื่อเขาด่า แทนที่จะคิดว่า ไอ้นี่ด่าเรา ก็ไปคิดวิจารณ์ว่า
เขาด่าว่าอย่างไรแน่ อาจขอให้เขาด่าซ้ำอีกทีโดยบอกเขาว่า
เราฟังไม่ทัน เพราะด่ากระทันหันมาก ถ้าเขาด่าเราว่า
คนหมา ๆ เราก็วิจารณ์คำว่า คนหมา ๆ คือคนยังไง แล้วที่ว่า
หมา ๆ น่ะ หมาไทยหรือหมาฝรั่ง ตัวผู้หรือตัวเมีย คิดแล้วไม่รู้เรื่อง
ด่าสั้นเกินไป ไม่ถูกไวยากรณ์ ไม่ระบุประธาน กิริยา
กรรม ไม่ระบุกาลว่าอดีตปัจจุบันหรืออนาคต ตกลงว่าคำด่ายังใช้ไม่ได้
คืนเจ้าของเขาไปเรียบเรียงใหม่ดีกว่า
การหัดคิดในแง่ขำอย่างนี้ ทำให้ใจเราเย็นลง โกรธช้า
(สนิมในใจ โดย พ.อ.ปิ่น มุทุกันต์)
ถ้าเขาด่า
ฟังให้ดี ใช่มีบ่อย
เราต้องคอย จับประเด็น จนเห็นได้
เขาด่าจบ
หากว่าเรา ไม่เข้าใจ
ขอจงให้ ด่าให้ฟัง อีกครั้งเทียว
ถ้าถูกยิง
ด้วยสายตา อย่าขุ่นข้อง
เราไม่ต้อง จ้องตอบโต้ โวตาเขียว
หากเขาค้อน แล้วหยุดไป
ในครั้งเดียว ขออีกเที่ยว
เชิญค้อนมา นัยน์ตางาม
(ศรีตราด)