สมาธิเตรียมจิตพร้อมให้ปัญญาทำงานเดินหน้า
ฉันใด
สันโดษก็เตรียมตัวพร้อมให้มุ่งเพียร ไม่พะวักพะวน ฉันนั้น
อีกตัวอย่างหนึ่ง
คือ สันโดษ ซึ่งทำให้พอใจในวัตถุเสพบริโภคของตน มีเท่าไรก็ยินดีเท่านั้น
หลายคนบอกว่าสันโดษแล้วจะได้มีความสุข ก็ถูกต้อง แต่ผิดด้วย
ถ้าใครตอบว่าสันโดษเพื่อสุขก็ผิดแน่ๆ พุทธศาสนาไม่ได้สอนอย่างนั้นแค่นั้น
ความสุขเป็นผลพลอยได้ของสันโดษ
ตามมาเอง แต่ยังไม่ใช่วัตถุประสงค์ ผลที่ต้องการไม่ได้อยู่ที่นี่
ผลที่ต้องการจากสันโดษคืออะไร
เราสันโดษแล้วจะได้อะไรขึ้นมา
ที่จะเป็นความคืบหน้าและช่วยให้ก้าวต่อไปในไตรสิกขา พอสันโดษในวัตถุ
เราก็สุขกับวัตถุที่มีอยู่หรือได้มาแล้ว สุขง่ายด้วยวัตถุน้อย
มีวัตถุแค่นี้ก็สุขแล้ว ตรงข้ามกับตอนที่ไม่สันโดษเราไม่สุขสักที
ความสุขของเราไปอยู่กับวัตถุที่ยังไม่ได้ เราจึงกระวนกระวายโลดแล่นหาวัตถุเสพ
เวลาของเราใช้หมดไปกับเรื่องนี้ ความคิดก็ครุ่นวุ่นวายกับการที่จะไปหาสิ่งเสพ
ว่าทำอย่างไรจะได้อันนั้นอันนี้มา
ความไม่สันโดษจึงทำลายเวลา
สิ้นเปลืองแรงงาน และสิ้นเปลืองความคิดที่จะใช้ในการสร้างสรรค์
เพราะฉะนั้นท่านจึงให้สันโดษ เพื่อจะได้สุขกับวัตถุได้ง่าย
พอสุขกับวัตถุได้ง่ายแล้ว เราไม่ใช่อยู่เฉย ๆ งานการหน้าที่ของเรามีอยู่แล้ว
ตอนนี้เวลาแรงงานและความคิด เราออมไว้ได้ เราก็เอาเวลาเรี่ยวแรงความคิดนั้นไปทุ่มเทให้กับการทำกิจหน้าที่
งานภารกิจหน้าที่นั้นก็เดินหน้าก้าวไปได้ดี
สรุปว่า.....
สันโดษเพื่อเตรียมพร้อม สันโดษเป็นธรรมะขั้นเตรียมพร้อม
คือให้พร้อมที่จะก้าวต่อไป ธรรมะนี่มีทั้งขั้นเตรียมตัวให้พร้อม
และขั้นก้าวเดิน สันโดษเป็นธรรมะประเภทเตรียมตัวให้พร้อม
พอเราพร้อมแล้ว เราไม่พะรุงพะรัง ไม่มัวกังวล ไม่มัวพะวักพะวนกับการหาสิ่งเสพบำรุงบำเรอตัวเอง
ทีนี้จะทำงานการสร้างสรรค์อะไรก็ไปมุ่งหน้าแน่วดิ่งไปเลย
พระพุทธเจ้าไม่ตรัสสันโดษไว้โดดเดี่ยว
หรือลอยๆ แต่ตรัสไว้กับการทำหน้าที่และความเพียรในการทำหน้าที่นั้น
เช่นสำหรับพระสงฆ์ ทรงสอนให้สันโดษในจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ
เสร็จแล้วก็ให้ยินดีในการละอกุศล และพัฒนากุศล ทรงสอนให้ไม่สันโดษในการพัฒนากุศลนั้น
พูดสั้นๆ
ว่า ให้สันโดษในวัตถุเสพบริโภค แต่ให้ไม่สันโดษในกุศลธรรมทั้งหลาย
ถ้าเป็นกุศลธรรม สิ่งที่ดีงาม การสร้างสรรค์คุณความดีที่ประเสริฐ
พระองค์ทรงสอนไม่ให้สันโดษ พระพุทธองค์เองก็ไม่สันโดษและเพียรไม่ระย่อ
หลักการนี้มีทั้งในพระสูตรและอภิธรรม ถ้าสอนสันโดษต้องสอน
ความไม่สันโดษด้วยพร้อมกัน และต้องรู้ว่าให้สันโดษในอะไร
ไม่สันโดษในอะไร คือ
--
ให้สันโดษในวัตถุเสพ ที่จะบำรุงบำเรอตนเอง หาความสุขส่วนตัว
--
ให้ไม่สันโดษในกุศลธรรม ในการทำความดีงาม ในการทำการสร้างสรรค์
สันโดษ
กับ ไม่สันโดษ จึงไปด้วยกันได้อย่างดี สันโดษมาหนุนความไม่สันโดษ
ช่วยให้เราก้าวต่อไปในไตรสิกขา ให้สามารถทำกรรมที่ดียิ่งขึ้น
ในการพัฒนาชีวิตและสังคม นี่เป็นตัวอย่างของเกณฑ์วินิจฉัย |