ความจริงแห่งธรรมดาของโลกและชีวิตที่ต้องรู้ให้ทันและวางท่าทีให้ถูก
ธรรมชาติของมนุษย์ซึ่งเป็นสัตว์ที่ฝึกได้
พัฒนาได้ จะเป็นนิวตันก็ได้ เป็นไอน์สไตน์ก็ได้ หรือจะเป็นกวีที่เก่งกาจ
เป็นนักการศึกษา ฯลฯ เป็นได้หมด จนกระทั่งประเสริฐสุดเป็นพุทธะก็ได้
เมื่อมนุษย์ผู้ฝึกตนได้ จะพัฒนาตนสำเร็จ ต้องรู้เข้าใจความจริงของกฎธรรมชาติ
และปฏิบัติให้ถูกตามกฎนั้น ในบรรดากฎธรรมชาติทั้งหลาย
กฎใหญ่คือความเป็นไปตามเหตุปัจจัย ซึ่งเป็นอย่างหนึ่งในหลักใหญ่ที่สุด
ที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ ๒ หลัก คือ
๑.
หลัก ไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
๒.
เบื้องหลังความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา คือกฎธรรมชาติแห่งความเป็นไป
ตามเหตุปัจจุบัน ได้แก่ อิทัปปัจจยตา
ฉะนั้นต่อจาก
ไตรลักษณ์ พระพุทธเจ้าทรงสอนเรื่อง ปฏิจจสมุปทา หรือที่เรียกเต็มว่า.....
อิทัปปัจจยตาปฏิจจสมุปบาท คือ ความเป็นไปตามเหตุปัจจัยของสิ่งทั้งหลาย
ถ้าเราเข้าถึงกระบวนการของเหตุปัจจัย
หลักการต่างๆ โยงถึงกันแจ่มแจ้งหมดและเข้าสู่การปฏิบัติการที่จะฝึกตนได้
ถ้ารู้แค่ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เรายังทำอะไรไม่ได้ แค่รู้ทันว่าสิ่งทั้งหลายเกิดดับ
เปลี่ยนแปลง ไม่เที่ยง ไม่คงที่ คงอยู่สภาพเดิมไม่ได้เป็นไปตามเหตุปัจจัย
ก็ได้แค่รู้และวางใจแต่ยังทำไม่ได้ แต่พอรู้ว่า กฎแห่งเหตุปัจจัยที่อยู่เบื้องหลัง
อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา คือ อิทัปปัจจยตา ก็มาลงมือทำคือเอามาใช้ในการฝึกฝนพัฒนาตนของมนุษย์
ซึ่งเป็นการเชื่อมระหว่างธรรมชาติพิเศษของมนุษย์กับธรรมชาติสามัญของสิ่งทั้งหลาย
พระพุทธศาสนามองชีวิตของมนุษย์ว่าเกิดจากองค์ประกอบต่างๆ
มาประชุมกัน โดยสัมพันธ์กันเป็นระบบกระบวนการ เราจะเข้าใจต้องแยกดูองค์ประกอบ
ตอนแรกก็แยกชีวิตออกก่อน สำหรับมนุษย์การแยกอย่างง่ายที่สุดคือ
รูปธรรม (กาย) กับ นามธรรม (ใจ)
เมื่อแยกละเอียด
ด้านรูปธรรม หรือร่างกาย ประกอบด้วยธาตุต่างๆ มาประชุมกันเข้า
มีมหาภูตรูป ๔ อุปาทายรูป ๒๔ และในแต่ละอย่างก็แยกย่อยออกไปอีก
ส่วนด้านนามธรรม
หรือทางใจ ก็แยกออกเป็น เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
-
เวทนา แยกย่อยเป็น เวทนา ๓ หรือ เวทนา ๕ หรือ เวทนา ๖
-
สัญญา แยกย่อยเป็น สัญญา ๖
-
สังขาร แยกย่อยออกเป็นต่างๆ เช่น สัญเจตนา ๖ เจตสิก ๕๐
-
วิญญาณ แยกย่อยเป็น ๖ เป็น ๘๙ หรือ เป็น ๑๒๑
ซึ่งเป็นการจำแนกแยกแยะในระบบ
ขันธ์ ๕ อย่างนี้เป็นระบบแยกซอย เป็นการศึกษาธรรมชาติของชีวิตมนุษย์
เหมือนนักวิทยาศาสตร์แยกแยะองค์ประกอบด้านรูปธรรม แต่ในที่นี้แยกออกเป็นแบบง่ายๆ
คือ กาย กับ ใจ
ชีวิตมนุษย์ไม่ได้อยู่นิ่งเฉย
ต้องเคลื่อนไหว ที่เรียกว่า ดำเนินชีวิต แม้รถยนต์ซึ่งไม่มีชีวิตก็มีการเคลื่อนไหว
เมื่อแยกองค์ประกอบมันออกมาดู ก็ศึกษาตอนมันวิ่งแล่น ว่ามันทำงานอย่างไร
โดยศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างองค์ประกอบย่อยขณะทำงาน
ชีวิตของเราก็เช่นกัน
เมื่อแยกส่วนออกดูองค์ประกอบตอนอยู่นิ่งเฉย ก็ต้องศึกษาขณะที่มันดำเนินไป
หรือขณะทำงาน เหมือนแพทย์ศึกษาชีวิตด้านกาย ต้องศึกษา
anatomy คือกายวิภาค แยกองค์ประกอบให้เห็นอวัยวะต่างๆ
ว่ามีอะไรบ้าง เป็นอย่างไร แล้วก็ศึกษา physiology คือสรีรวิทยา
ให้รู้ว่าอวัยวะต่างๆ ทำงานอย่างไร และสัมพันธ์กันอย่างไร
ทั้งเป็นกระบวนการและเป็นระบบ ในทางธรรมก็เริ่มด้วยแยกองค์ประกอบที่อยู่นิ่งๆ
เป็น กาย กับ ใจ ต่อจากนั้นก็แยกให้เห็นการทำงานเป็นกระบวนการว่า
องค์ประกอบทั้งหลายสัมพันธ์เป็นปัจจัยแก่กันอย่างไร การแยกองค์ประกอบแบบนี้จะเห็นได้ในหลักปฏิจจสมุปบาท
ซึ่งมีองค์ประกอบ ๑๒ ส่วน เป็นปัจจัยแก่กันหมุนเวียนไปเป็นวงจร |