ว่ากันไป
กี่หลักกี่หัวใจ ในที่สุดก็หลักใหญ่เดียวกัน
ทีนี้ลองเทียบหลักอื่นอีก
พระพุทธเจ้าตรัสไว้ "ทั้งในกาลก่อนและบัดนี้ เราบัญญัติแต่ทุกข์และความดับทุกข์เท่านั้น"
อันนี้คือ อริยสัจ ๔ แบบสั้นที่สุด ย่อเป็น ๒ คู่ คือ
ทุกข์ และ สมุทัย เหตุแห่งทุกข์ อันนี้ ๑ คู่
นิโรธ ความดับทุกข์ และ มรรค ทางให้ถึงความดับทุกข์ก็
๑ คู่
ยังมีอีก
คือเมื่อพระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว ตอนจะออกประกาศพระพุทธศาสนา
พระองค์ทรงพระดำริ ซึ่งมีความตอนนี้ในพระไตรปิฎกบอกว่า
..
"อธิคโต โข มฺยายํ ธมฺโม" ธรรมที่เราบรรลุนี้
ทุรนุโพโธ เป็นของที่รู้ตามได้ยาก กล่าวคือ หนึ่ง
. อิทัปปัจจยตาปฏิจจสมุปบาท
สอง
.. นิพพาน แล้วพระองค์ก็ตรัสเล่าต่อไปว่า พระองค์ทรงดำริว่า
หมู่สัตว์ทั้งหลาย มักหลงระเริงกันอยู่ในสิ่งที่ล่อให้ติด
ยากที่จะเข้าใจหลักการทั้ง ๒ นี้ จึงน้อมพระทัยไปในทางที่จะไม่ทรงสั่งสอน
แต่ถ้าเราโยงดูก็บอกได้ว่าสาระไม่ไปไหน
ที่แท้ก็อันเดียวกันนั่นแหละ อิทัปปัจจยตาปฏิจจสมุปบาท
เป็นเรื่องทุกข์และสมุทัย แทนที่จะจับที่ปรากฏการณ์คือ
ทุกข์ ก็จับที่กระบวนการของกฏธรรมชาติ เริ่มที่ข้อสมุทัย
ดูเหตุปัจจัยที่เป็นไปจนปรากฏทุกข์เป็นผลขึ้น จึงรวมทั้งข้อทุกข์และสมุทัย
ดังจะเห็นได้ว่าเวลาตรัส ปฏิจจสมุปบาท พระพุทธเจ้าทรงสรุปว่า
..
"เอวเมตสฺส เกวลสฺส ทุกฺขกฺขนธสฺส สมุทโย โหติ"
แปลว่า "สมุทัย คือ การเกิดขึ้นพร้อมแห่งทุกข์ จึงมีด้วยประการฉะนี้"
หมายความว่า จากความเป็นไปตามกระบวนการของกฎธรรมชาตินี้
จึงเกิดมีทุกข์ขึ้น
เพราะฉะนั้น
ข้อว่า อิทัปปัจจยตาปฏิจจสมุปบาท ก็คือตรัสเรื่อง ทุกข์
และ สมุทัย จากนั้นอีกอย่างที่ตรัสไว้ คือ นิพพาน ซึ่งก็คือข้อนิโรธ
ซี่งเราจะต้องบรรลุถึงด้วยการปฏิบัติตามมรรค การที่จะบรรลุนิพพานที่เป็นจุดมุ่งหมาย
ก็เรียกร้อง หรือ เป็นเงื่อนไขอยู่ในตัวให้ต้องปฏิบัติตามมรรค
ดังนั้น การตรัสถึง นิพพาน คือข้อนิโรธ ก็โยงเอามรรคเข้ามาพ่วงไว้ด้วย
พูดให้ลึกลงไป
ข้อแรก อิทัปปัจจยตาปฏิจจสมุปบาท ก็คือ สังขตธรรม พร้อมทั้งกระบวนความเป็นไปของมันทั้งหมด
ส่วนข้อหลัง นิพพาน ก็คือ อสังขตธรรม ที่พ้นไปจากสังขตธรรม
นั้น
อริยสัจนั้นเป็นวิธีพูด
หรือ วิธีแสดงกฎธรรมชาติในแง่ที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์ที่จะนำไปใช้ประโยชน์ในการดำเนินชีวิต
หรือ แก้ปัญหาชีวิตของตน พระพุทธเจ้าตรัสวางไว้ในรูปที่ใช้การได้เรียกว่า
ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค แต่ความจริงในกฎธรรมชาติก็คือ
อิทัปปัจจยตาปฏิจจสมุปบาท และสภาวะที่เป็นจุดหมายคือ นิพพาน
ก็มีเท่านี้ เพราะฉะนั้นจึงบอกว่า ไม่ไปไหน
ส่วนอีกหลักหนึ่งคือ
"สพฺเพ ธมฺมา นาลํ อภินิเวสาย" แปลว่า ธรรมทั้งปวงไม่ควรยึดมั่น
คือ เราไม่อาจจะยึดมั่นถือมั่นไว้ได้ เป็นการสรุปหัวใจของการปฏิบัติที่โยงไปหาความจริงของธรรมชาติ
หรือ สภาวธรรม ว่า สิ่งทั้งหลายหรือปรากฏการณ์ทั้งหลายทั้งปวง
หรือสิ่งที่แวดล้อมชีวิตของเรา หรืออะไรก็ตามที่เราเกี่ยวข้อง
มันไม่ได้อยู่ใต้อำนาจความปรารถนาของเรา แต่มันเป็นไปตามกฎธรรมชาติ
เป็นไปตามเหตุปัจจัย หรือ มีอยู่ดำรงอยู่ตามสภาวะของมัน
เพราะฉะนั้นเราจึงไม่สามารถยึดมั่นถือมั่นมันได้ เราจะต้องวางใจปฏิบัติต่อมันให้ถูก
หลักนี้เป็นการโยงธรรมดาธรรมชาติหรือความเป็นจริงของสิ่งทั้งหลาย
มาสู่ท่าทีปฏิบัติของมนุษย์ต่อสิ่งเหล่านั้น ซึ่งรวมสาระสำคัญว่า
เราต้องรู้ทันว่าสิ่งเหล่านี้มันไม่เป็นไปตามใจปรารถนาของเรานะ
มันเป็นไปตามเหตุปัจจัยของมัน เราจะไปยึดมั่นถือมั่นตามใจของเราไม่ได้
แต่ต้องปฏิบัติด้วยปัญญา คือด้วยความรู้เท่าทันและให้ตรงตามเหตุปัจจัย
เมื่อละความยึดมั่นได้ก็สงบเย็น นิพพาน คือข้อนิโรธ
ตกลงว่า
การกล่าวถึง หัวใจพระพุทธศาสนา กันหลายแบบหลายแนวนั้น
ทั้งหมดก็เป็นอันเดียวกัน ซึ่งในที่สุดหลักใหญ่ที่ครอบคลุม
ก็คือ อริยสัจสี่ นี่แหละ ไม่ไปไหน ที่พูดมาในตอนนี้ทั้งหมด
ก็เป็นการแยกแยะและเชื่อมโยงให้เห็นชัดเจนลงไปว่า หลักหัวใจพระพุทธศาสนา
ที่พูดกันหลายอย่างนั้น ที่จริงก็อันเดียวกัน ต่างกันโดยวิธีพูดเท่านั้น
และขอย้ำว่า.....
อย่ามัวพูดว่า
อย่างนั้นก็ได้ อย่างนี้ก็ได้ ขอให้จับหลักลงไปให้ชัด
และปฏิบัติให้มั่นให้เด็ดเดี่ยวแน่ลงไป อย่างที่ว่าแล้วข้างต้น
|