จะพัฒนาศักยภาพของคนให้มีชีวิตแห่งปัญญา
ก็ต้องรู้จักธรรมชาติของชีวิตซึ่งจะทำหน้าที่ศึกษา
ระบบการทำงานของชีวิตมนุษย์พิเศษต่างออกไปจากระบบการทำงานของรถยนต์
คือ แม้รถยนต์จะเคลื่อนไหวได้ แต่ไม่มีชีวิต ไม่มีเจตจำนงหรือเจตนาจะเคลื่อนไหวไปทางไหน
ต้องมีคนมาขับขี่บังคับ ลำพังตัวมัน องค์ประกอบทั้งหลายทั้งระบบทำงานเคลื่อนไหวอยู่อย่างนั้นๆ
เท่าเดิม แต่ระบบการทำงานของมนุษย์ไม่อยู่ในวงจรเท่าเดิม
มนุษย์มีเจตนจำนงหรือมีเจตนา มีคุณสมบัติพิเศษเช่นปัญญา
เป็นต้น ทำให้การเคลื่อนไหวของชีวิตมนุษย์มีการปรับตัว
ปรับปรุงพัฒนาระบบการทำงานของตัวมันเอง และจัดการกับสิ่งอื่นภายนอกได้ด้วย
การทำงานขององค์ประกอบทั้งหลายของชีวิตมนุษย์
มีลักษณะพิเศษเรียกง่ายๆ ว่า เป็นระบบการเป็นอยู่ หรือ
การดำเนินชีวิต ซึ่งเราต้องศึกษาให้เห็นองค์ประกอบเหล่านั้นทำงานสัมพันธ์กันในการที่มันจะเป็นอยู่
เจริญงอกงาม พัฒนาไป และจัดการกับสิ่งอื่นๆ ภายนอกให้ได้ผลดียิ่งขึ้น
ชีวิตมนุษย์
ที่เป็นอยู่หรือดำเนินไปทั้งระบบนี้ แยกองค์ประกอบได้
๓ ส่วนใหญ่ คือ
๑.
การเคลื่อนไหวติดต่อสัมพันธ์กับโลกภายนอก โดยใช้ ตา หู
จมูก ลิ้น กาย ใจ และการแสดงออกทางกายวาจา จะใช้คำภาษาสมัยใหม่ว่า
" พฤติกรรม " ก็มีความหมายแคบไป ขอแต่งคำใหม่ว่า
พฤติสัมพันธ์
๒.
เบื้องหลังการติดต่อสัมพันธ์และพฤติกรรมที่แสดงออก มีกระบวนการทำงานของจิตใจ
เริ่มตั้งแต่เจตจำนง (ความตั้งใจ) เพราะการติดต่อสัมพันธ์และพฤติกรรมที่แสดงออกของมนุษย์เกิดจากเจตนา
คือมีความตั้งใจ จงใจ และแรงจูงใจ เป็นตัวกำหนดอีกชั้นหนึ่งว่าจะตั้งใจอย่างไร
แรงจูงใจนี้มีทั้งฝ่ายชั่วและดี เช่น ความรัก ความโกรธ
ความอยากรู้ ความลุ่มหลง ความเคารพ ความริษยา ความสุข
ความทุกข์ใจ ซึ่งเป็นตัวกำหนด หรือ ชักจูงความตั้งใจนั้น
เช่น เพราะอยากได้สุข จึงเคลื่อนไหวทำพฤติกรรมแบบนี้ เพราะอยากหนีทุกข์
จึงเคลื่อนไหวทำพฤติกรรมแบบนี้ โดยมีปัจจัยขับเคลื่อนอยู่เบื้องหลัง
คือกระบวนการของจิตใจ เป็นด้านที่ ๒ ในกระบวนการทำงานของชีวิต
เรียกสั้นๆ ว่า จิตใจ
๓.
การเคลื่อนไหวติดต่อสัมพันธ์ทำพฤติกรรมนั้น คนต้องมีความรู้
รู้เท่าไรก็ตั้งใจเคลื่อนไหว ทำพฤติกรรมได้เท่านั้น ถ้ารู้มากขึ้นการตั้งใจเคลื่อนไหวทำพฤติกรรมก็จะซับซ้อนและได้ผลสำเร็จมากยิ่งขึ้น
ถ้าไม่รู้เลยความตั้งใจทำพฤติกรรมก็ส่งเดชเรื่อยเปื่อย
ฉะนั้นความรู้จึงเป็นองค์ประกอบที่สำคัญมาก เป็นแดนใหญ่ด้านหนึ่งของชีวิต
ได้แก่ ปัญญา ถ้าเราพัฒนาปัญญา เราก็ขยายมิติและขอบเขตทั้งด้านจิตใจและพฤติกรรมออกไปทั้งหมด
พฤติกรรมมนุษย์ที่พัฒนาออกเป็นกลุ่มเป็นหมู่รวมๆ
กัน เป็นวัฒนธรรมและอารยธรรมนั้น เกิดจากเจตจำนงตามอำนาจแรงจูงใจ
เช่นความปรารถนาที่จะเอาชนะธรรมชาติ ทำให้อารยธรรมตะวันตกเจริญมาอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้
นี่คือเจตจำนงด้านจิตใจ แต่เจตจำนงนั้นเกิดขึ้นได้ภายใต้เงื่อนไขของความรู้ความเข้าใจอะไรอย่างไร
มีความเชื่อ ยึดถือ และคิดไปได้อย่างนั้นแค่นั้น แล้วตั้งเจตจำนงต่างๆ
ที่จะทำพฤติกรรมภายในขอบเขตเท่านั้น เพราะฉะนั้น แดนปัญญา
คือ ความรู้ จึงยิ่งใหญ่มาก
ลักษณะสำคัญของกระบวนการดำเนินชีวิตของมนุษย์
คือการพัฒนาศักยภาพการดำเนินชีวิต ให้สามารถอยู่รอดได้อย่างดีงาม
มีความสุขยิ่งขึ้น หรือ พัฒนาขึ้นไปสู่ความเป็นสัตว์ที่ประเสริฐยิ่งขึ้น
จนถึงความเป็นพุทธะในที่สุด
ตกลงว่า
ชีวิตของมนุษย์ที่เป็นกระบวนการเคลื่อนไหวดำเนินไปท่ามกลางสิ่งแวดล้อม
แยกเป็น ๓ ด้าน คือ
๑.
พฤติสัมพันธ์ ๒. จิตใจ ๓. ปัญญา
นี่คือการแยกองค์ประกอบของชีวิตแบบหนึ่งตามหลักพระพุทธศาสนา
เรามักติดอยู่แค่การแยก แบบกายกับใจ ซึ่งเป็นการแยกเพื่อความรู้เข้าใจ
แต่เอามาใช้ปฏิบัติได้น้อย ถ้าเราจะนำพระพุทธศาสนามาใช้ในระดับปฏิบัติการ
ในการทำกิจกรรมต่างๆ โดยเฉพาะการพัฒนามนุษย์และสังคม ต้องก้าวมาถึงการแยกในระดับกระบวนการดำเนินชีวิต
คือแยกเป็น ๓ ด้าน หรือ ๓ แดน อย่างนี้
ถึงตอนนี้เราได้ครบแล้ว
ในตัวอย่างเรื่องรถยนต์ที่แยกแยะ ๒ ระดับคือ แยกตอนจอดอยู่นิ่งๆ
ให้เห็นว่ามีองค์ประกอบอะไรบ้าง และแยกตอนทำงานคือวิ่งแล่นว่า
มันทำงานอย่างไร แต่ในเรื่องชีวิตมนุษย์ เราแยกส่วน หรือ
องค์ประกอบ ๓ ระดับ คือ
๑.
แยกองค์ประกอบตามสภาพหรือในภาวะอยู่นิ่งเฉย (เช่นแยกเป็น
รูป+นาม, กาย+ใจ, ขันธ์ ๕)
๒.
แยกให้เห็นการทำงานของส่วนต่างๆ ในระบบวงจรความสัมพันธ์
(เช่น แยกแบบปฏิจจสมุปบาท)
๓.
แยกให้เห็นระบบและกระบวนการดำเนินชีวิตที่ องค์ประกอบ
๓ ด้านมาร่วมกันขับเคลื่อนชีวิตให้เป็นอยู่ได้ดียิ่งขึ้นๆ
ไปสู่จุดหมายที่จะเป็นชีวิตที่สมบูรณ์ (แยกเป็น ๓ ด้าน
หรือ ๓ แดน คือ ด้านสัมพันธ์ภายนอก ด้านจิตใจ และด้านปัญญา) |