ตราบใดยังไม่ถึงจุดหมาย
ยังมีชีวิตอยู่ ก็ต้องศึกษา
ความหมายของธรรมที่ปฏิบัติ จึงวัดด้วยไตรสิกขา
เกณฑ์วินิจฉัยความหมายของหลักธรรมในพระพุทธศาสนา
ว่าปฏิบัติอย่างไรถูก อย่างไรผิด เวลาศึกษาหลักธรรมต่างๆ
เรามักเน้นเรื่องความหมายกันแค่ว่า ธรรมข้อนี้คืออะไร
มีความหมายว่าอย่างไรแต่การให้ความหมายเท่านั้นยังไม่พอ
ต้องมีเกณฑ์ที่สัมพันธ์กับระบบทั้งหมดได้
ธรรมทั้งหมดสัมพันธ์ส่งผลต่อกันเป็นกระบวนการ
และอยู่ในระบบเดียวกันอย่างที่พูดถึงไตรสิกขา ก็เป็นระบบในตัวของมันแล้ว
ระบบของไตรสิกขนั้นก็ยังไปเป็นส่วนย่อยที่รวมอยู่ในระบบใหญ่ของอริยสัจ
ที่คลุมระบบใหญ่ของธรรมชาติทั้งหมดอีกชั้นหนึ่ง คือว่าด้วยกฎธรรมชาติที่ครอบคลุมทั้งความเป็นจริงของธรรมชาติทั่วไป
และโยงมาถึงชีวิตมนุษย์ที่เป็นธรรมชาติส่วนหนึ่งด้วย
เกณฑ์ที่จะใช้ตรวจสอบนี้ต้องให้เห็นความสัมพันธ์เชื่อมโยงในระบบ
เกณฑ์หนึ่งก็ คือ ไตรสิกขา เนื่องจากว่าคุณสมบัติและข้อปฏิบัติหรือหลักธรรมทุกอย่างก็อยู่ในกระบวนการปฏิบัติที่เรียกว่า
ไตรสิกขาทั้งหมด ไม่เกินจากนี้ไปได้ เมื่อเป็นเช่นนั้นมันจะต้องมีส่วนร่วมส่งผลอยู่ในกระบวนการของ
ไตรสิกขา
ไตรสิกขา
คือ กระบวนการฝึกฝนพัฒนามนุษย์ มีข้อปฏิบัติย่อย ๆ ที่ส่งผลต่อทอดกันคืบหน้าไปเรื่อยจนถึงจุดหมาย
ถ้าไม่ถึงจุดหมายก็ไม่หยุด เท่ากับมีเกณฑ์ที่บอกว่า ข้อปฏิบัติ
หรือ หลักธรรมทุกข้อ จะต้องชัดว่าส่งผลให้มีการก้าวหน้าไปในกระบวนการของไตรสิกขาอย่างไร
คือจะต้องทำให้เราเดินหน้าและส่งผลต่อให้ข้ออื่นรับช่วงไปจนถึงจุดหมายสุดท้ายนั้น
รวมความว่า ธรรมะต่าง ๆ ที่เป็นองค์ประกอบในกระบวนการไตรสิกขานี้
ต้องมีลักษณะ ๒ อย่าง คือ
-
ทำให้คืบเคลื่อนหรือก้าวหน้าไป
-
ส่งผลต่อข้ออื่น
ในการปฏิบัติสมาธิ
เราได้ความหมายของสมาธิไว้แต่ต้นว่า จิตตั้งมั่น สงบ แน่วแน่
พอจิตตั้งมั่นสงบแน่วแน่ได้ตามความหมายแล้ว เราก็พอใจนึกว่าถูกแล้ว
แต่ยังหรอก ลองเอาเกณฑ์มาตรฐานมาวัด ว่าถูกตามหลักไตรสิกขาหรือไม่
พอวัดด้วยเกณฑ์นี้ เราก็จะมองเห็นต่อไปอีกว่า อ้อ ถ้าปฏิบัติสมาธิถูกจะไม่ใช่หยุดอยู่แค่นั้น
คือไม่ติดอยู่แค่สมาธิ แต่ต้องช่วยให้เราก้าวต่อไป แล้วก็ดูว่าสมาธิส่งผลต่อปัญญาอย่างไร
ถ้าไม่ส่งผลต่อก็แสดงว่าพลาด
สมาธินั้นมีผลดีหลายอย่าง
มีทั้งผลโดยตรงและผลข้างเคียง เช่น ทำให้จิตใจสงบ สบาย
มีความสุข ทำให้จิตใสมองเห็นอะไรชัดเจน และทำให้เกิดกำลัง
ทำให้มุ่งแน่วไปอย่างแรง เหมือนกระแสน้ำที่ไหลลงมาจากภูเขาวิ่งไปทางเดียว
มีกำลังแรงมาก เจออะไรก็พัดพาไปได้
สรุปว่า.....
จิตสมาธิมีคุณสมบัติ หนึ่ง
.. มีพลัง สอง..
สงบสบาย มีความสุข
สาม
.. ใส มองเห็นอะไร ชัดเจน เมื่อได้คุณสมบัติเหล่านี้
เราก็เอามาใช้อย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น พอสงบสุขสบาย ก็อาจจะเอามาใช้ในการแก้ปัญหาชีวิตประจำวัน
เวลามีความทุกข์ก็มานั่งสมาธิให้จิตใจสงบ เพลินสบาย หายทุกข์
ซึ่งก็ได้ประโยชน์อย่างหนึ่ง แต่ยังไม่ถูกต้องตามหลักไตรสิกขา
ถ้าใช้ประโยชน์เพียงแค่นี้ก็กลายเป็นหยุด ไม่ก้าวต่อไป
อาจจะเขวออกเป็น มิจฉาสมาธิ ไม่แค่เป็นสิ่งกล่อม เหมือนยากล่อมประสาท
เป็นต้น เอาแค่สบาย
ไม่ต้องคิดทำอะไร มีทุกข์ก็เข้ามาหลบซึ่งมีทางพลาดได้มาก
วิสุทธิมรรค
บอกว่า..... สมาธินั้นเข้าพวกกันได้กับความขี้เกียจ (
สมาธิสฺส โกสชฺชปกฺขตฺตา ) เพราะว่ามันสงบสบาย โน้มเอียงไปทางเกียจคร้าน
เฉื่อยชา ไม่อยากทำอะไร กลายเป็นตกหลุมความประมาท นั่นก็คือเริ่มเขว
ฉะนั้นการใช้ประโยชน์สมาธิจะต้องระวังถ้าใช้ไม่เป็นก็เกิดโทษได้
สังคมไทยบางทีศึกษาธรรมะไม่ตลอดกระบวนการ
และไม่มีหลักในการวินิจฉัย คนไทยไม่น้อยเอาสมาธิมาใช้แค่หาความสุข
สงบสบาย ซึ่งก็ใช้ได้ในระดับหนึ่ง ท่านไม่ได้ปฏิเสธ จะเอามาใช้เป็นเครื่องพักผ่อนจิตใจ
หรือแก้ปัญหาความทุกข์ก็ได้ อย่างน้อยทำให้นอนหลับได้
ทำให้มีจิตใจสดชื่นขึ้น
แต่ต้องมองต่อไปว่าประโยชน์ยังไม่จบแค่นั้น สมาธิช่วยให้เรามีความเข้มแข็งพร้อมที่จะเดินหน้าต่อไปด้วย
จึงต้องมองต่อไปอีกว่าจะมีองค์ธรรมอะไรมารับผลจากสมาธิเพื่อจะก้าวต่อไป
ก็จะเห็นหลักไตรสิกขา ว่าต้องส่งผลต่อให้ ปัญญามารับช่วงทำงานเดินหน้าต่อไป
ประโยชน์ที่สำคัญของสมาธิ
คือ ทำให้จิตเป็น กัมมนีย์ แปลว่า ควรแก่งาน หรือ
เหมาะแก่งาน คือใช้เป็นที่ทำงาน ซึ่งปัญญาจะทำหน้าที่ได้ดี
เช่น มองเห็นชัด สำรวจตรวจสอบได้เป็นลำดับ พิจารณาได้
ลึกซึ้ง วิเคราะห์วิจัยได้ละเอียด จนเข้าถึง ความจริงแจ่มแจ้ง
สมาธิที่ทำให้คนหยุดศึกษา แสดงว่าเป็นสมาธิที่ใช้ผิด |