การพัฒนาคน
พัฒนาสังคม ไม่มีทางได้ผลจริงถ้าทอดทิ้งฐานของการพัฒนา
คือมโนกรรม
เป็นอันว่า
อารยธรรมปัจจุบันที่มีตะวันตกเป็นตัวแทนนี้ เจริญมาด้วยแนวคิดพื้นฐานคือความมุ่งหมายพิชิตธรรมชาติ
ปัจจุบันนี้ตะวันตกกลับมาติเตียนแนวคิดนี้ ดังเช่นหนังสือเล่มที่กล่าวถึงได้ติเตียนบรรพบุรุษชาวตะวันตกเต็มที่ว่าล้วนแต่เชื่อผิด
ถือผิด คิดเห็นผิดพลาดไป มุ่งหมายแต่จะเอาชนะธรรมชาติ
จึงทำให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมในปัจจุบันซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ที่สุด
ตามแนวคิดทิฏฐิของตะวันตกนั้น
มนุษย์มองธรรมชาติเป็นศัตรู จึงพยายามเอาชนะมัน แล้วก็จัดการกับมันตามชอบใจ
โดยไม่มีความรับผิดชอบอย่าง AlGore รองประธานาธิบดีอเมริกา
ซึ่งเป็นนักสิ่งแวดล้อมคือ environmentalist ด้วยได้เขียนหนังสือขึ้นมาเล่มหนึ่งชื่อว่า
Earth in the Balance โลกในภาวะดุลยภาพ โดยบอกว่า.....
เรายอมรับว่าตะวันตกมีแนวคิดที่ทำให้อารยธรรมของเรานี้
ไม่มีความรับผิดชอบต่อธรรมชาติ คิดจะทำอะไรกับธรรมชาติตามชอบใจ
ความสำนึกผิด
และ ความผิดหวังต่อแนวคิดทิฐิที่จะพิชิตธรรมชาติของตะวันตกนี้
เป็นเหตุให้ฝรั่งหาทางแก้ไข รวมทั้งการหันมาสำรวจและแสวงหาแนวคิดตะวันออก
และแม้แต่ความคิดของชนอินเดียนแดงที่เคยถูกเหยียดหยาม
กลับได้รับความชื่นชม ฝรั่งอเมริกันหลายคน เช่น AlGore
ได้ยกวาทะของ Seattle หัวหน้าเผ่าอินเดียนแดง (ซึ่งเอาชื่อมาตั้งเป็นชื่อเมือง
Seattle ในอเมริกา) ขึ้นมาเอ่ยอ้าง ตามเรื่องว่า เมื่อครั้งประธานาธิบดี
Franklin Pierce ติดต่อขอซื้อที่ดินของอินเดียนแดง
หัวหน้าเผ่าคนนี้ได้มีหนังสือตอบประธานาธิบดีไปว่า
อะไรกัน ผืนฟ้า และแผ่นดิน ท่านจะเอามาซื้อขายได้อย่างไร
นี่เป็นความคิดที่แปลกประหลาด ตอนนี้ คนอเมริกันยุคปัจจุบันหันมายกย่องสรรเสริญว่าอินเดียนแดงมีความคิดที่ถูกต้อง
นี่แหละ..
ความคิดพิชิตธรรมชาติเป็นเบื้องหลังอารยธรรมปัจจุบัน
ซึ่งเฟื่องฟูเต็มที่ในยุคอุตสาหกรรม ที่มนุษย์ เอาความรู้วิทยาศาสตร์มาประดิษฐ์อุปกรณ์เทคโนโลยี
แล้วก็พัฒนาอุตสาหกรรม เพื่อความเจริญทางเศรษฐกิจ ด้วยความมุ่งหมายที่จะสร้างวัตถุให้พรั่งพร้อมตามความเชื่อว่า
มีเสพบริโภคมากที่สุด จะเป็นสุขที่สุด
แนวคิดทิฐิความเชื่อที่เป็นมโนกรรมนี้
เป็นอิทธิพลสำคัญที่สุดที่จะเป็นตัวกำหนดวิถีชีวิตและสังคม
ถ้าคนในสังคมไทยมีความเชื่อว่า ผลสำเร็จจะเกิดขึ้นจากการดลบันดาลของอำนาจเหนือธรรมชาติ
ถ้าคนไทยเชื่ออย่างนี้ สังคมไทยจะเป็นอย่างไร ขอให้พิจารณาแล้วขณะนี้เป็นหรือเปล่า
สังคมไทยจะโดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม
ได้ตกอยู่ใต้แนวคิดความเชื่อว่า ผลสำเร็จจะเกิดขึ้นได้ด้วยอำนาจดลบันดาลของสิ่งที่นอกเหนือธรรมชาติ
นี่คือจุดที่เราจะต้องแก้ปัญหาสังคมไทยถึงขั้นมโนกรรม
เหมือนกับที่ฝรั่งขณะนี้กำลังหาทางแก้ปัญหาการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน
ต้องลงไปถึงขั้นรากฐานความคิด ถึงขั้นต้องแก้ความเชื่อในการพิชิตธรรมชาติ
ที่ถือว่า มนุษย์จะมีความสำเร็จและสุขสมบูรณ์ ต่อเมื่อมีอำนาจจัดการกับธรรมชาติได้ตามต้องการ
แนวคิดทิฐิสองอย่างนี้
เป็นปัญหาเกี่ยวกับการพัฒนาที่สุดโต่งไปคนละด้าน แต่จุดที่เป็นตัวแท้ของปัญหาก็อยู่ที่ปมเดียวกัน
คือมันบ่งชี้ว่ามโนกรรมสำคัญที่สุด และที่ว่าโลกนี้เป็นไปตามกรรม
คือ เป็นไปตามมโนกรรมอย่างที่ว่านั่นแหละ |