อริยสัจ
คือ ธรรมที่นำเสนอเป็นระบบปฏิบัติการ
ให้มนุษย์บริหารประโยชน์จากความจริงของธรรมชาติ
อริยสัจนั้น
แท้จริงเป็นหลักของเหตุและผล ธรรมดาเราจะพูดเหตุก่อนแล้วจึงพูดถูกผลใช่ไหม
ให้สังเกตว่าพระพุทธเจ้ากลับทรงยกเหตุขึ้นแสดงก่อน แล้วแสดงผลทีหลัง
ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น
ตามปกติพระพุทธเจ้าก็ตรัสเหตุก่อนผล
แต่ในกรณีนี้กลับแสดงผลก่อนเหตุ เพราะเป็นเรื่องวิธีสอน
ซึ่งต้องเริ่มด้วยสิ่งที่มองเห็นอยู่ เริ่มที่ปัญหาก่อน
โดยชี้ปัญหาว่าเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ทำความเข้าใจปัญหาแล้วจึงค้นหาสาเหตุเสร็จแล้วชี้ถึงจุดมุ่งหมาย
หรือสิ่งที่ต้องการ แล้วบอกวิธีปฏิบัติที่จะให้เข้าถึงจุดหมายวิธีสอนอย่างนี้เป็นที่เร้าใจด้วย
พอพูดถึงปัญหาโดยเฉพาะปัญหาของตัวเอง หรือปัญหาที่เกี่ยวกระทบถึงตัว
คนก็สนใจอยากจะรู้อยากจะแก้ปัญหานั้น แล้วจึงสืบว่าปัญหานี้เกิดจากเหตุอะไร
เมื่ออยากกำจัดเหตุแล้ว พอพูดถึงจุดหมายว่าดีอย่างไร คนก็อยากจะไปถึงจุดหมายนั้น
แล้วจึงบอกวิธีปฏิบัติ ถ้าเราไปบอกวิธีปฏิบัติก่อน วิธีปฏิบัติอาจยากมาก
คนก็ท้อใจ ไม่อยากทำ ไม่อยากไป แต่ถ้าชี้จุดหมายให้เห็นว่าดีอย่างไร
ใจเขาจะใฝ่ปรารถนา ยิ่งเห็นว่าดีเท่าไร ประเสริฐอย่างไร
เขายิ่งอยากไปและเต็มใจที่จะทำ เราจึงค่อยบอกวิธีปฏิบัติ
ตอนนี้เขาสนใจตั้งใจเต็มที่แล้ว เขายินดีพร้อมที่จะทำสุดแรงของเขา
ในการปลุกระดมก็ใช้วิธีนี้จึงจะได้ผล
แม้จะไม่สุจริตเขามุ่งแต่จะให้สำเร็จ เพราะเป็นวิธีที่ได้ผลคือตอนต้นพูดชี้ปัญหาก่อน…..
"เวลานี้มันแย่ มีปัญหาทั้งนั้น มีความยากจน มีความเดือนร้อน
อะไรๆ ก็ไม่ดี มันเลวร้ายอย่างนั้นๆ" ถ้าจะปลุกระดมต้องชี้เรื่องที่ไม่ดีให้เห็นออกมาชัดๆ
ว่าเยอะแยะไปหมด ร้ายแรงอย่างไร ชี้ทุกข์ให้ชัดก่อนว่า…..
น่าเกลียดน่ากลัวร้ายแรงจนคนไม่พอใจมาก อยากจะแก้ไข ทีนี้ก็ชี้สาเหตุว่า
นี่ตัวการ ตัวร้ายอยู่นี่ เป็นเหตุให้เกิดปัญหา ถึงตอนนี้คนก็ก้าวไปอีกขั้นหนึ่ง
ใจก็เกิดพลัง เกิดความตื่นเต้น เกิดเรี่ยวแรงกำลังขึ้นมาว่าต้องจัดการ
กำจัดมันละนะ เราเห็นตัวการแล้ว พอคนกระหายอยากจะจัดการแล้ว
ก็ชี้เป้าหมาย จุดหมายนั้นต้องชี้ให้เห็นเด่นชัดว่าดีที่สุด
ใจคนก็พุ่งเป้าพร้อมเต็มที่ พอบอกวิธีปฏิบัติว่า "ต้องทำอย่างนี้ๆ
ๆ ๆ" ตอนนี้วิธีปฏิบัติถึงจะยากก็ไม่กลัวแล้ว ไม่ว่าจะยากอย่างไรก็เอาทั้งนั้น
ระดมกำลังเต็มที่ มรรคมาได้เลย
รวมความว่า…..
อริยสัจเป็นหลักที่เชื่อม ระหว่างความจริงของธรรมชาติ
กับปฏิบัติการของมนุษย์
|