บนฐานแห่งธรรมชาติมนุษย์ผู้เป็นสัตว์ต้องศึกษา
พระพุทธเจ้าทรงตั้งหลักพระรัตนตรัยขึ้นมา
หลักพระพุทธศาสนาตรงนี้สำคัญที่สุด
เพราะมนุษย์ฝึกตนเอง และเมื่อฝึกแล้วประเสริฐสุด การที่ยกพระรัตนตรัยขึ้นมาตั้งเป็นหลัก
เพราะความจริงข้อนี้คือ
(ก.)
พระพุทธเจ้าทรงเป็นต้นแบบ โดยเป็นสรณะเป็นเครื่องเตือนใจให้ระลึกว่า
ตัวเรานี้เป็นมนุษย์ผู้หนึ่ง พระพุทธเจ้าเมื่อก่อนที่จะทรงฝึก
พระองค์ก็เป็นมนุษย์อย่างพวกเรานี้ เราจึงมีศักยภาพที่จะฝึกให้ประเสริฐอย่างพระพุทธเจ้าได้
พระพุทธเจ้าทรงเป็นผู้ประเสริฐเลิศสูงสุด ตรัสรู้สัจธรรม
มีพระคุณสมบัติสมบูรณ์ทุกประการเพราะได้ทรงฝึกดังที่เรียกว่าทรงบำเพ็ญบารมีมากมายจนเต็มสมบูรณ์
เราจึงตั้ง..... "พุทธะ" ขึ้นมาเป็นแม่แบบว่า
ดูสิ มนุษย์ผู้ฝึกดีถึงที่สุดแล้ว พัฒนาดีแล้ว มีปัญญารู้สัจธรรม
บริสุทธิ์หลุดพ้น เป็นอิสระ อยู่เหนือโลกธรรม มีความสุข
มีชีวิตที่ดีงาม มีคุณธรรม ความดีงามที่สมบูรณ์ เป็นที่พึ่งของขาวโลก
เลิศประเสริฐขนาดนี้ พอระลึกได้อย่างนี้ก็เกิดศรัทธาที่เรียกว่า
ตถาคตโพธิสัทธา คือ เชื่อในปัญญาตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า
ซึ่งมีความหมายต่อไปอีกว่า เชื่อในปัญญาที่ทำให้มนุษย์กลายเป็นพุทธะ
เพราะฉะนั้นการที่ถือเอา พระพุทธเจ้าเป็นสรณะนั้น ความหมายอยู่ที่นี่
คือ
๑.
ทำให้เกิดศรัทธาที่โยงตัวเราเข้าไปหาพระพุทธเจ้าว่า จากความเป็นมนุษย์อย่างเรานี้
พระองค์ได้บำเพ็ญบารมีฝึกฝนพระองค์จนเป็นพระพุทธเจ้า เราก็เป็นมนุษย์เช่นเดียวกัน
ถ้าเราฝึกตนจริงจังให้ถึงที่สุด เราก็จะเป็นอย่างพระองค์ได้
ทำให้เราเกิดความมั่นใจว่า เรามีศักยภาพที่จะฝึกให้เป็นอย่างพระพุทธเจ้าได้
๒.
เตือนใจให้ระลึกถึงหน้าที่ของตนเองว่า เราเป็นมนุษย์ซึ่งจะดีเลิศประเสริฐได้
ด้วยการฝึกฝนพัฒนาตน การฝึกฝนพัฒนาตนเป็นหน้าที่แห่งชีวิตของเรา
หรือ ของชีวิตที่ดี เราต้องฝึกศึกษาพัฒนาตนอยู่เสมอ
๓.
ให้เกิดกำลังใจว่า การฝึกฝนพัฒนาตนนี้ พระพุทธเจ้าได้ทรงทำมาจนสำเร็จผลสมบูรณ์แล้ว
พระองค์ทำได้ แสดงว่าเราก็สามารถทำได้ แม้การฝึกศึกษาบางครั้งจะยากมาก
อาจทำให้เราย่อท้อ แต่เมื่อระลึกถึงพระพุทธเจ้าว่า พระองค์เคยประสบความยากลำบากมากกว่าเรานักหนา
พระองค์ก็ก้าวฝ่าผ่านลุล่วงไปได้ เราก็จะเกิดกำลังใจที่จะฝึกฝนตนต่อไป
๔.
ได้วิธีลัดจากประสบการณ์ของพระองค์ พระพุทธเจ้าทรงปฏิบัติลำบากยากเย็นยิ่ง
ลองผิดลองถูก บำเพ็ญบารมีกว่าจะเป็นพุทธะได้ เมื่อพระองค์ตรัสรู้แล้ว
ทรงประมวลประสบการณ์ของพระองค์มาวางเป็นหลักสอนเราให้เข้าใจง่ายขึ้น
เท่ากับบอกวิธีลัดให้เรา ซึ่งเราเอามาใช้ได้ทันที ไม่ต้องลำบากอย่างพระองค์
การระลึกถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะได้ประโยชน์ถึง
๔ ประการ เราจึงตั้งพระพุทธเจ้าเป็นองค์แรกของรัตนตรัย
เป็นสรณะข้อที่ ๑
(ข.)
เมื่อระลึกถึงพระพุทธเจ้าเป็นแม่แบบแล้ว ก็คิดจะฝึกศึกษาพัฒนาตน
ต้องรู้หลักรู้ความจริงของกฎธรรมชาติคือ ธรรมะ และต้องปฏิบัติตามธรรมนั้น
ฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงเป็นจุดเริ่มที่นำเราเข้าไปสู่ธรรมะ
พูดง่ายๆ ว่า จากพุทธะโยงไปหา..... "ธรรมะ"
คือตัวความจริงของธรรมชาติที่มนุษย์ต้องรู้และนำมาใช้ปฏิบัติ
(ค.)
การจะรู้ธรรมและปฏิบัติตามธรรมให้เป็นอย่างพระพุทธเจ้านั้น
มนุษย์ทั่วไปไม่ได้ฝึกตนมามากมายถึงชั้นที่จะรู้และทำได้เองอย่างพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
และไม่จำเป็นต้องฝึกถึงขนาดนั้น เพราะเรามีพระพุทธเจ้าที่ทรงรู้ธรรม
รู้ทางและบอกวิธีให้แล้ว เราก็ฟังคำสอนจากพระองค์และปฏิบัติตามโดยถือเอาพระองค์เป็นแบบอย่าง
แม้พระองค์ปรินิพพานแล้ว เราก็ฟังคำสอนของพระองค์จากพระสงฆ์ที่รักษาสืบต่อคำสอนของพระองค์มาถึงพวกเรา
ตามปกติมนุษย์ทั่วไปจะปฏิบัติธรรม ฝึกตนให้ก้าวหน้าโดยลำพังตนเองได้ยาก
ต้องอาศัยบุคคลและสภาพแวดล้อมต่างๆ ช่วยเกื้อหนุนได้ดีที่สุด
คือ ชุมชนที่จัดตั้งไว้อย่างดี ที่เรียกว่า..... "สังฆะ"
ในชุมชนแห่งสังฆะ นอกจากมีผู้ได้ฟัง ได้รู้ ได้ฝึกปฏิบัติธรรมมาก่อน
เช่น ครู อาจารย์ ที่จะเป็นกัลยาณมิตรช่วยแนะฝึกสอนเราแล้ว
ระบบความเป็นอยู่ วิถีชีวิต การสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมชุมชน
การจัดสรรสิ่งแวดล้อม บรรยากาศของชุมชน ทุกอย่างช่วยเกื้อหนุนให้เราฝึกตนก้าวไปในการรู้และปฏิบัติธรรมได้อย่างดีที่สุด
เมื่อเราก้าวหน้าไปแล้วก็เป็นกัลยาณมิตรเกื้อหนุนผู้อื่นด้วย
อนึ่ง
มนุษย์ถึงจะมีศักยภาพที่จะเป็นอย่างเดียวกับพระพุทธเจ้า
แต่ระหว่างปฏิบัติเราจะมีพัฒนาการในระดับต่าง ๆ ไม่ใช่อยู่
ๆ ก็เป็นพุทธะได้ทันที มนุษย์ที่ปฏิบัติโดยมีพัฒนาการในระดับต่าง
ๆ ก็รวมกันเป็นชุมชนที่ดีงาม ประเสริฐ คือ สังฆะ ถ้าเรียกตามภาษาปัจจุบันคือ.....
"สังคมอุดมคติ" ซึ่งมนุษย์ทุกคนควรมีส่วนอาศัยและร่วมสร้างชุมชนนี้ขึ้นมาให้ได้
ด้วยการฝึกพัฒนาตัวเองของแต่ละคนขึ้นไป
อนึ่ง
มนุษย์ถึงจะมีศักยภาพที่จะเป็นอย่างเดียวกับพระพุทธเจ้า
แต่ระหว่างปฏิบัติเราจะมีพัฒนาการในระดับต่าง ๆ ไม่ใช่อยู่
ๆ ก็เป็นพุทธะได้ทันที มนุษย์ที่ปฏิบัติโดยมีพัฒนาการในระดับต่าง
ๆ ก็รวมกันเป็นชุมชนที่ดีงาม ประเสริฐ คือ สังฆะ ถ้าเรียกตามภาษาปัจจุบันคือ
" สังคมอุดมคติ " ซึ่งมนุษย์ทุกคนควรมีส่วนอาศัยและร่วมสร้างชุมชนนี้ขึ้นมาให้ได้
ด้วยการฝึกพัฒนาตัวเองของแต่ละคนขึ้นไป
เพราะฉะนั้น
หลักพระรัตนตรัย คือ หลักอุดมคติ ที่เป็นจุดหมาย เป็นอุดมการณ์
เป็นหลักสำหรับชาวพุทธซึ่งต้องถือว่า
๑.
เตือนใจระลึกถึงศักยภาพของตัวเองและปฏิบัติหน้าที่การพัฒนาตนเองให้เป็นอย่าง
พุทธะ
๒.
เตือนใจระลึกว่าการพัฒนาตนให้สำเร็จ ต้องรู้เข้าใจและปฏิบัติให้ถูกต้องตามหลักความจริงของกฎธรรมชาติ
คือ ธรรมะ
๓.
เตือนใจระลึกว่า เราแต่ละคนจะร่วมอาศัย ร่วมสร้างสังคมอุดมคติ
ด้วยการมี/เป็นกัลยาณมิตรและเจริญงอกงามขึ้นในชุมชนแห่ง
อารยชน หรืออริยบุคคล ที่เรียกว่า สังฆะ
นี่คือ
หลักพระรัตนตรัย จะเห็นว่าทั้ง ๓ หลักโยงถึงกันหมด |