เว็บบอร์ด สนทนาธรรม สอบถามห้องแชดสนทนาธรรมสมุดเยี่ยม ฝากข้อความ ติชมรวมเว็บพระพุทธศาสนารวมรูปภาพ พุทธศิลป์ พระพุทธเจ้า พระพุทธรูป พระเจดีย์ พระสงฆ์
  ตั้งเป็นหน้าแรก   เก็บเข้า Favorites   สั่งพิมพ์   แจ้งปัญหา
   
 
 
 
สารบัญหลัก
  หน้าหลัก
  หนังสือธรรมะ
  บทสวดมนต์
  เสียงธรรม mp3
  เสียงสวดมนต์ mp3
  ห้องสวดมนต์ออนไลน์
  สมาธิ
  กฎแห่งกรรม
  วัดป่า-พระป่า
  วันสำคัญทางศาสนา
  ดาวน์โหลด e-book
  คำสอนจากครูบาอาจารย์
  บทความ..ธรรมจักร
  รูปภาพ
  กระดานสนทนา
  ห้องสนทนา
  สมุดเยี่ยม
  รวมเว็บ
  ติดต่อทีมงาน
ขึ้นบน
 
เว็บบอร์ด
  สนทนาธรรม
  ข่าวกิจกรรม
  สติปัฏฐาน
  สมาธิ
  กฎแห่งกรรม
  นิทานธรรมะ
  หนังสือธรรมะ
  บทความธรรมะ
  กวีธรรม
  นานาสาระ
  วิทยุธรรมะ
  สถานที่ปฏิบัติธรรม
  เสียงธรรมออนไลน์
  เสียงสวดมนต์ออนไลน์
  พระพุทธเจ้า
  ประวัติอสีติมหาสาวก
  ประวัติเอตทัคคะ
  ประวัติครูบาอาจารย์
 
 
^-^ มาฝึกสมาธิกันดีกว่า ^-^
 
@ อยากรู้  ประวัติศาสตร์ วงล้อมธรรมจักร ลัญลักษณ์ของพุทธศาสนา  คลิกอ่าน @
 
รวมเว็บพระพุทธศาสนา แบ่งออกเป็นหมวดหมู่ ง่ายต่อการค้นคว้าหาข้อมูล
 
คำสอนของครูบาอาจารย์ เช่นหลวงปู่ดูลย์,หลวงปู่เทสก์,หลวงพ่อชา,หลวงพ่อพุธ,หลวงพ่อจรัญ,พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) เป็นต้น
 
อัลบั้มภาพพระพุทธศาสนา
 
เรือนธรรม - บ้านพักผ่อนทางจิตใจด้วยธรรมะ
 
ขอเชิญเข้ามาร่วมสนทนาธรรมด้วยกันครับ
 
ดูซิ ! ว่ามีใครอยู่ในห้องบ้าง
 
ฝากข้อความติชมของท่านได้ที่นี่ครับ
 
 
 
 
   ธรรมจักร   หนังสือธรรมะ สารพันปัญญา ปรับขนาดตัวอักษร เพิ่มขนาด ลดขนาด ขนาดปกติ
 
18. นกรู้

            ในอดีตกาล พระโพธิสัตว์บังเกิดเป็นรุกขเทวดา สิงอยู่ที่ต้นสะเดา ในป่าอันเป็นป่าช้าแห่งพระนครพาราณสี ในป่าช้านั้นมีต้นไม้ใหญ่ ๒ ต้น คือ ต้นสะเดา และต้นโพธิ์

            วันหนึ่ง โจรได้ลักของในบ้านใกล้ประตูเมือง แล้วเข้าไปยังป่าช้านั้น วางของที่ลักมาไว้ที่โคนต้นสะเดาแล้วจึงนอน ครั้งนั้นพระโพธิสัตว์ได้เล็งเห็นภัยอันจะเกิดจากโจรนี้ จึงเรียกโจรให้ลุกขึ้น แล้วทำให้โจรตกใจ กลัวจนหนีเตลิดไป

            เมื่อโจรไปแล้ว เทวดาผู้สิงอยู่ที่ต้นโพธิ์ถามพระโพธิสัตว์ว่า เหตุใด ท่านจึงต้องไล่โจรให้หนีไป

            พระโพธิสัตว์ตอบว่า ท่านไม่รู้เหตุที่จะอยู่ร่วมกันไม่ได้ระหว่างเรากับโจร ถ้าเจ้าทรัพย์จับโจรได้ ณ ที่นี้ ก็จะตัดกิ่งสะเดานี้แหละ ทำเป็นหลาวเสียบโจรนี้ วิมานของเราก็จักพินาศ ถ้าไม่ทำอย่างนั้น จักแขวนโจรไว้ที่กิ่งสะเดา วิมานของเราจักมีกลิ่นซากศพ ด้วยเหตุนั้นเราจึงให้โจรนั้นหนีไปเสีย

            ขณะนั้น พวกเจ้าทรัพย์ถือคบเพลิงมาตามรอยเท้าเห็นที่ที่โจรนอน จึงกล่าวว่า โจรได้ลุกหนีไปแล้ว ถ้าพวกเราจับโจรได้ไซร้ จักเสียบร้อยโจรนั้นไว้บนหลาวไม้สะเดานี้ หรือแขวนไว้ที่กิ่งสะเดาแล้วจักไป จากนั้นก็พากันเที่ยวค้นหาโจร เมื่อไม่พบโจรจึงพากันกลับ

(อรรถกถาปุจิมันทชาดก จตุกกนิบาต)

            ในอดีตกาล พระโพธิสัตว์บังเกิดในสกุลพ่อค้าเกวียน เจริญวัยแล้วทำการค้าด้วยเกวียน ๕๐๐ เล่ม คราวหนึ่งไปถึงดงลึก จึงตั้งพักอยู่ปากดง เรียกคนทั้งหมดมาประชุมกัน กล่าวว่า ในดงนี้ต้นไม้ที่มีพิษมีอยู่ทั่วไป พวกท่านยังไม่ได้ถามเรา อย่าได้บริโภคใบ ดอก หรือผล อย่างใดอย่างหนึ่งเป็นอันขาด พวกนั้นรับคำแล้วพร้อมกันย่างเข้าสู่ดง

            ที่ปากดงมีต้นกิงผลพฤกษ์อยู่ที่ประตูบ้านแห่งหนึ่ง ลำต้น กิ่ง ใบอ่อน ดอก ผล ทุกๆ อย่างของต้นกิงผลพฤกษ์นั้น เหมือนต้นมะม่วงไม่ ผิดเลย ใช่แต่เท่านั้น ผลดิบและผลสุกก็เหมือนมะม่วง ทั้งสีและสัณฐาน ทั้งกลิ่นและรส ก็ไม่แผกกันเลย แต่บริโภคเข้าแล้วอาจทำให้สิ้นชีวิตได้ เหมือนกับยาพิษชนิดร้ายแรง ฉะนั้น พวกที่ล่วงหน้าไป บางหมู่เป็นคนโลเล สำคัญว่า นี่ต้นมะม่วง ก็บริโภคเข้าไป บางหมู่คิดว่า ก่อนจะกินต้องถามหัวหน้าก่อน จึงยืนรอ พอหัวหน้ามาถึงก็บอกหัวหน้าว่า จะกินมะม่วงเหล่านี้ พระโพธิสัตว์รู้ว่า นี่ไม่ใช่ต้นมะม่วง ก็ห้ามว่า ต้นไม้นี้ชื่อว่า กิงผลพฤกษ์ ไม่ใช่ต้นมะม่วง พวกท่านอย่ากิน พวกที่กินเข้าไปแล้ว ก็จัดการให้อาเจียนออกมา แล้วให้ดื่มของหวาน

            ในครั้งก่อน พวกคนเดินทางหรือพ่อค้าที่พักอยู่โคนต้นไม้นี้ ได้บริโภคผลอันเป็นพิษเข้าไป ด้วยสำคัญว่า เป็นผลมะม่วง รุ่งขึ้น พวกชาวบ้านแถบนั้นพากันออกมา เห็นคนตายก็ช่วยกันฉุดไปทิ้งในที่รกๆ แล้วยึดเอาข้าวของและเกวียนไปหมด ในครั้งนี้ก็เช่นกัน พอรุ่งอรุณ พวกชาวบ้านต่างพูดจับจองว่า โคเป็นของเรา เกวียนเป็นของเรา สิ่งของเป็นของเรา แล้วพากันรีบวิ่งไปสู่โคนต้นไม้นั้น ครั้นเห็นพวกพ่อค้าเกวียนปลอดภัย พวกชาวบ้านก็ถามว่า พวกท่านรู้ได้อย่างไรว่า ต้นไม้นี้ไม่ใช่ต้นมะม่วง พวกพ่อค้าตอบว่า พวกเราไม่รู้ แต่หัวหน้าพวกเรารู้ พวกชาวบ้านจึงถามพระโพธิสัตว์ว่า พ่อบัณฑิต ท่านทำอย่างไรจึงรู้ว่าต้นไม้นี้ไม่ใช่ต้นมะม่วง พระโพธิสัตว์ตอบว่า ถ้าต้นไม้มีผลอร่อยนี้เป็นต้นมะม่วงแล้วไซร้ ในเมื่อคนขึ้นได้ง่าย และก็ตั้งอยู่ใกล้หมู่บ้าน ผลของมันจักไม่เหลือเลยต้องถูกคนเก็บกินจนหมด เรากำหนดอย่างนี้จึงรู้ว่าต้นไม้นี้เป็นต้นไม้มีพิษ

(อรรถกถาผลชาดก เอกนิบาต)

            ในอดีตกาล ดาบสโกงผู้หนึ่งอาศัยอยู่ในหมู่บ้านแห่งหนึ่ง คหบดีผู้หนึ่งสร้างศาลาในป่าให้ดาบสนั้นอยู่ ปรนนิบัติด้วยอาหารอันประณีตในเรือนของตน เขาเชื่อว่าดาบสโกงนั้นเป็นผู้มีศีล จึงนำทองร้อยแท่งไปยังศาลาของดาบส ฝังไว้ในแผ่นดินเพราะกลัวโจร และขอร้องให้ดาบสโกงช่วยดูแลทองด้วย ดาบสก็กล่าวให้คหบดีวางใจว่า ขึ้นชื่อว่าบรรพชิตย่อมไม่มีความโลภในสิ่งของๆ ผู้อื่น

            เมื่อคหบดีหลงเชื่อและกลับไปแล้ว ดาบสชั่วคิดว่า เราอาจเลี้ยงชีพได้ด้วยทรัพย์นี้ ล่วงไปได้ ๒-๓ วันก็ยักเอาทองนั้นไปไว้ที่อื่น วันรุ่งขึ้น เมื่อทำภัตกิจในเรือนของคหบดีแล้ว ก็กล่าวคำอำลา คหบดีไม่สามารถอ้อนวอนให้อยู่ต่อ จึงให้ดาบสไปตามปรารถนา และเดินตามไปส่งดาบสจนถึงประตูบ้านแล้วจึงกลับ

            ดาบสเดินไปได้หน่อยหนึ่งก็ทำอุบายลวงคหบดี เอาหญ้าวางไว้ระหว่างชฎาแล้วย้อนกลับไป คหบดีถามว่า พระคุณเจ้ากลับมาทำไม ดาบสเจ้าเล่ห์ตอบว่า หญ้าเส้นหนึ่งจากชายคาเรือนของท่านเกี่ยวชฎาของฉันไป การถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้ย่อมไม่สมควรแก่บรรพชิต อาตมาจึงรีบนำมันมาคืน คหบดีเลื่อมใสที่ดาบสเคร่งจนไม่ถือเอาสิ่งของๆ ผู้อื่นแม้เพียงเส้นหญ้า กล่าวว่า จงทิ้งมันเสีย แล้วนิมนต์ให้ดาบสไป

            ในครั้งนั้นพระโพธิสัตว์อาศัยพักแรมในบ้านคหบดี ท่านฟังคำของดาบสแล้วคิดว่า ดาบสร้ายผู้นี้จักต้องถือเอาอะไรๆ ของคหบดีนี้ไปแน่ จึงถามคหบดีว่า ท่านได้ฝากอะไรไว้ในสำนักของดาบสนั้นบ้างหรือไม่ คหบดีตอบว่า เราฝากฝังทองไว้ร้อยแท่ง พระโพธิสัตว์กล่าว่า ถ้าเช่นนั้นท่านจงรีบไปตรวจดูทองนั้นเถิด

            คหบดีไปที่ศาลาไม่เห็นทอง รีบกลับมาบอกว่า ทองหายไปแล้ว พระโพธิสัตว์กล่าวว่า ไม่มีใครอื่นเอาทองของท่านไป ดาบสร้ายนั้นเอาไป แน่ แล้วชวนกันตามดาบสนั้นไป เมื่อจับดาบสโกงได้ ก็ทุบบ้าง เตะบ้าง ให้นำเอาทองมาคืน

            เมื่อได้ทองคืนแล้ว พระโพธิสัตว์ก็กล่าวติเตียนดาบสว่า ถ้อยคำของเจ้าช่างสละสลวยน่านับถือจริง เจ้าข้องใจในวัตถุเพียงเส้นหญ้า แต่ ขโมยทองร้อยแท่งไปหน้าตาเฉย จากนั้นก็สั่งสอนไม่ให้ดาบสทำกรรมชั่วเช่นนั้นอีก แล้วพระโพธิสัตว์ก็จากไป

(อรรถกถากุหกชาดก เอกนิบาต)

            นายเสรี อิศรางกูรฯ (ธ.บ. ๘๓) ได้เล่าถึงการสอบสัมภาษณ์เข้ารับปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ความว่า

            ในการสอบสัมภาษณ์เข้ารับปริญญาตรีมีหลายโต๊ะ แต่ละโต๊ะมีอาจารย์คนหนึ่ง โต๊ะที่ชอบเอานักศึกษาตก ๖๐ % ได้แก่โต๊ะของคุณหลวงท่านหนึ่ง ผมไปนั่งคอยให้เจ้าหน้าที่เรียกไปสอบปากเปล่า ซึ่งสอบตั้งแต่ภาค ๑ ถึงภาค ๔ แล้วแต่อาจารย์จะถาม พออาจารย์ท่านนั้นสอบเสร็จก็จะเรียกคนต่อไป ถึงผมพอดี เมื่อผมเห็นเช่นนั้นก็ลุกเข้าห้องน้ำ ไปนานพอสมควร ผมก็ออกมาถามเจ้าหน้าที่ว่าเรียกถึงผมหรือยัง เจ้าหน้าที่ตอบว่าเรียกชื่อคุณเมื่อตะกี้ คุณไปไหนเสีย ผมว่าเข้าห้องน้ำ เจ้าหน้าที่ว่างั้นคอยโต๊ะต่อไป พอดีโต๊ะเจ้าคุณพลางกูรฯ ผมก็เข้าไปสอบกับท่านเจ้าคุณพลางกูรฯ ท่านผู้นี้ใครเข้าสอบท่านให้เกือบ ๑๐๐ % ทุกคน ท่านไม่เอาใครตกเลย ท่านมีอุดมคติว่า เมื่อสอบข้อเขียนได้แล้วก็ควรให้ผ่าน เข้าทำงานก็เรียนรู้ไปเอง เป็นอันว่าผมได้ปริญญาตรีสะดวกโยธิน ถ้าผมไม่จอมกระล่อนเข้าสอบกับอาจารย์ท่านนั้นอาจสอบตกก็ได้

(บันทึกส่วนตัวของ นายเสรี อิศรางกูร ณ อยุธยา อดีตรมช.กระทรวงเกษตร และส.ส.บุรีรัมย์)

            สาระที่ควรกล่าวถึงมีดังนี้
            ๑. พระโพธิสัตว์ในชาดกทั้งสามและนายเสรี จัดเป็นบุคคลประเภท นกรู้ หมายถึงผู้มีไหวพริบรู้เท่าทันเหตุการณ์หรือภัยที่จะมาถึงตน เมื่อรู้แล้วก็หาทางป้องกันหรือแก้ไขเสียแต่ต้นมือ ความเสียหายก็ไม่เกิด หรือช่วยผ่อนหนักเป็นเบา ส่วนคนที่เซ่อซ่าไร้วิสัยทัศน์ หรือมัวแต่นอนใจว่ายังไม่เป็นไร มีแต่จะฉิบหายถ่ายเดียว

            ในยุคโลกาภิวัตน์นี้ การปรับตัวให้มีประสิทธิภาพ มีวิสัยทัศน์เป็นเรื่องสำคัญ แต่ต้องปรับภายใต้กรอบของศีลธรรม ไม่ใช่ลับเขี้ยวงาให้แหลมคมเพื่อใช้ฟาดฟันได้ถนัดถนี่ ไม่ใช่ปรับปรุงวิธีโกงกินให้รวดเร็วทันสมัยและแนบเนียนยิ่งขึ้น

            ๒. คำว่าภัย หมายถึงสิ่งที่น่ากลัวหรืออันตราย ภัยอาจแบ่งเป็น ๒ คือ ภัยในโลกนี้ ๑ ภัยในโลกหน้า (การเกิดในอบายภูมิทั้ง ๔) ๑ หรือ ภัยในปัจจุบัน ๑ ภัยในอนาคต ๑

            ๓. ภัยอันตรายที่เกิดแก่เราไม่ได้เกิดเองลอยๆ แต่เป็นผลกรรมชั่วที่ทำไว้ เป็นไปตามกฎแห่งกรรมที่ว่า ทำชั่วได้ชั่ว ดังนั้นวิธีป้องกันภัย คือ งดเว้นการทำชั่วทำบาปทั้งปวง

            ๔. สาเหตุที่คนทำชั่วอาจแบ่งเป็น ๒ คือ
               ๔.๑ เหตุภายนอก ได้แก่ ถูกคนพาลชักจูง
               ๔.๒ เหตุภายใน ได้แก่ ถูกกิเลสในจิตใจชักจูง

            ดังนั้น การไม่คบคนพาลและการทำจิตใจให้บริสุทธิ์ (จากกิเลส ด้วยศีล สมาธิ ปัญญา) จึงเป็นการป้องกันภัยในโลกนี้และโลกหน้า

            ๕. ดาบสผู้นี้จัดเป็นนักสร้างภาพ โดยใช้ศรัทธาที่ขาดปัญญาควบคุมของคหบดีเป็นจุดอ่อน วิธีการที่ดาบสใช้ สำนวนจีนเรียกว่า จะจับแต่แสร้งปล่อย ซึ่งได้ผลดีมาก ทำให้คหบดีหลงเชื่ออย่างสนิทใจ หากไม่ได้พระโพธิสัตว์ช่วยเหลือ ดาบสคงจะขโมยทองเปิดหนีไปไกล โดยที่คหบดีไม่รู้ตัวเลยแม้แต่น้อย

     

สารบัญ
คำนำ 11. ฉลาดพูด
1. ปัญญา 12. จันทร์พ้นเมฆ
2. เกลือจิ้มเกลือ 13. สตรีก็มีปัญญา
3. ขว้างงูไม่พ้นคอ 14. น้ำเชี่ยวอย่าขวางเรือ
4. หนามบ่งหนาม 15. ชีวกโกมารภัจจ์
5. บัณฑิตแห่งมิถิลานคร 16. กุศโลบาย
6. ปราชญ์เถื่อนเผชิญปราชญ์... 17. มิตรดีเป็นศรี
7. พลิกหน้ามือเป็นหลังมือ 18. นกรู้
8. ฉลาดใช้ 19. ศิษย์มีครู
9. เงินต่อเงิน 20. เขียนเสือให้วัวกลัว
10. ปราบพยศ   ดาวน์โหลดหนังสือเล่มนี้
   
 
 
 
 
 
 
 
  หน้าหลัก l หนังสือธรรมะ l เสียงสวดมนต์ mp3 l เสียงธรรม mp3 l บทสวดมนต์ l สมาธิ l รูปภาพ
ดาวน์โหลด e-book l ห้องสวดมนต์ออนไลน์  l กระดานสนทนา l ห้องสนทนา chat  l สมุดเยี่ยม lรวมเว็บ
 
จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
ขึ้นบน