พราหมณ์โง่เซอะจนไม่รู้จักประสาอะไร อยู่ในหมู่บ้านแห่งหนึ่ง แต่วางท่าเป็นผู้มีความรู้บรรจุไว้เต็มพุง ชาวบ้านในย่านนั้นยิ่งโง่ร้ายไปกว่าอีก รู้แต่จะจับปลาขายเลี้ยงชีพเท่านั้น จึงเคารพเชื่อถือพราหมณ์เป็นอาจารย์อย่างสูง ถ้าชาวบ้านอยากรู้ว่าวันนี้เป็นวันอะไร กี่ค่ำและอะไรต่ออะไร มักจะไปถามพราหมณ์ผู้นี้ ค่าที่แกไม่ใช่เป็นคนร่ำเรียนอะไร บางทีถูกเขาถามข้อตื้นๆ แกก็อึดอัดแทบตาย กลัวเขาจะจับโง่ได้ วิธีนับวัน (จันทรคติ) ในวันแรม ๑ ค่ำ แกก็วางอิฐลง ๑ แผ่น แล้วเติมเรื่อยไปวันละแผ่น ครบ ๑๕ แผ่นหมดปักษ์ก็ตั้งต้นใหม่ ถ้าลูกศิษย์มาถามว่ากี่ค่ำ ปราชญ์เถื่อนก็นับแผ่นอิฐแล้วบอกไปตามนั้น ทำอย่างนี้แกจึงรอดตัวซ่อนความโง่ไว้ได้
วันหนึ่งเกิดเรื่องขึ้น มีแมวเจ้ากรรมไปกัดกันในบ้าน ฟัดฟาดกันบนกองอิฐ ปราชญ์เถื่อนเห็นเข้าก็ลมจับ ปฏิทินวิเศษสำหรับนับวันเดือนของแกยุ่งไปหมด เรื่องไม่เท่านั้น มีชาวบ้านมาถามว่าขึ้นกี่ค่ำ ปราชญ์เถื่อนเดือดร้อนมากเพราะจนแต้ม เลยโมเมบอกชาวบ้าน
ปราชญ์เถื่อน : วันนี้เป็นวันฆัณฏ์มงคล
ชาวบ้าน : วันฆัณฏ์มงคล ไม่เคยได้ยินเลย
ปราชญ์เถื่อน : มีแต่ปราชญ์ชั้นสูงอย่างข้า ๒-๓ คนที่รู้ พวกเจ้าที่ไหนจะรู้ได้
ชาวบ้าน : ทราบแล้ว ก็วันฆัณฏ์มงคลเช่นนี้ จะต้องทำอะไรบ้าง
ปราชญ์เถื่อน : วันนี้ต้องบูชาเป็นพิเศษและทำบุญให้พราหมณ์ ที่เป็นอาจารย์ให้ถึงขนาด แล้วเลี้ยงดูกันให้ใหญ่โต พระนางฆัณฏ์มงคลเทพีทรงกำหนดให้บูชาสมโภชท่านในวันนี้
ชาวบ้าน : รูปร่างพระเทพีเป็นอย่างไรก็ไม่รู้ จะทำรูปอะไรบูชา
ปราชญ์เถื่อน : ท่านมักแปลงมาเป็นแมว ให้เอาดินมาปั้นรูปแมวไว้บ้านละคู่ แล้วตั้งบูชา
ชาวบ้านโล่งใจ พากันกลับบ้าน กุลีกุจอปั้นพระเจ้าแมวกัน เสร็จแล้วก็สมโภชกันขนานใหญ่ เสียงฆ้องกลองดังลั่นตูมตามไปไกล
ในวันนั้นปราชญ์หลวง (ราชครู) มีธุระนั่งคานหามผ่านมาทางหมู่บ้านนั้น ได้ยินเสียงชาวบ้านร้องรำทำเพลงก็ประหลาดใจ สั่งให้หามเข้าไปในหมู่บ้าน เห็นมีรูปแมวคู่หนึ่งตั้งบูชาอยู่ทุกบ้าน ปราชญ์หลวงสงสัยจึงถามชาวบ้าน
ปราชญ์หลวง : สมโภชอะไรกัน
ชาวบ้าน : ท่านคงไม่รู้อะไรมากจึงถาม พิธีนี้อาจารย์พวกฉันสอนให้ทำ
ปราชญ์หลวง : จริง ฉันไม่รู้ ขอโทษเถิด วันนี้วันอะไรจึงทำพิธีอย่างนี้
ชาวบ้าน : วันนี้เป็นวันฆัณฏ์มงคล ต้องบูชาพระฆัณฏ์มงคลเทพีดังที่ทำอยู่นี้
ปราชญ์หลวง : ตั้งแต่ฉันเกิดมายังไม่เคยพบหรือได้ยินปราชญ์ที่มีความรู้เหมือนอาจารย์พวกท่าน ฉันอยากจะรู้จักขอไล่เลียงความรู้ท่านบ้าง
ชาวบ้าน : อย่าดีกว่า ท่านสู้ไม่ได้ดอก
ปราชญ์หลวง : ช่างเถอะ วานไปเชิญท่านมาก็แล้วกัน
ชาวบ้านไปบ้านพราหมณ์อาจารย์ซึ่งอยู่ปลายหมู่บ้านเล่าเรื่องให้ฟังโดยตลอด
พราหมณ์เจ้าเล่ห์ได้ฟังแล้วเดือดร้อนใจมาก จึงอุบายเอาตัวรอดโดยให้ชาวบ้านไปบอกว่าไม่ใช่กงการอะไรของข้าที่จะต้องไปหา ถ้าอยากจะลองดีกันก็มานี่ซิ
ชาวบ้านไปบอกปราชญ์หลวงๆ บอกให้ใช้สถานที่ซึ่งอยู่กึ่งกลาง ระหว่างที่นั้นกับบ้านพราหมณ์ ชาวบ้านเห็นพ้องด้วย กลับไปบอก อาจารย์ อาจารย์เถื่อนก็ทำไม่พรั่นแล้วบอกให้ชาวบ้านกับปราชญ์หลวงเลือกสถานที่ ปราชญ์หลวงก็ให้ชาวบ้านเลือกสถานที่ แล้วนั่งคานหามไปยังที่นั้น นั่งบนเบาะที่จัดไว้ ชาวบ้านก็รีบไปบอกอาจารย์ว่า ปราชญ์หลวงรออยู่แล้ว
ปราชญ์เถื่อนพยายามหาทางเลี่ยง ถามว่า ผู้นั้นเดินมาหรืออะไร
ชาวบ้าน : นั่งคานหามมา
ปราชญ์เถื่อน : แล้วเอ็งจะให้ข้าเดินไปหรือ
ชาวบ้าน : อาจารย์จะให้ไปหาคานหามได้ที่ไหนในแถบนี้
ปราชญ์เถื่อน : ถ้าอย่างนั้น เลิกกัน ข้าไม่ไป
ชาวบ้านกลับไปบอกปราชญ์หลวงๆ แนะให้แบกขึ้นบ่ามา คราวนี้ ปราชญ์เถื่อนหมดทางเลี่ยง เอากระแจะเจิมเต็มหน้าผาก ห่มผ้าลงเลขยันต์ คล้องคอด้วยลูกประคำร้อยแปด แต่งตัวแล้วให้ชาวบ้านรูปร่างล่ำสันแบกขึ้นบ่าไป
เมื่อปราชญ์เถื่อนมาถึงและลงจากบ่าแล้ว ปราชญ์หลวงก็ลุกขึ้นยืนตามมารยาท ร้องทักเป็นศัพท์ (สันสกฤต) ว่า อาคัจฉ อาคัจฉ (เชิญมา)
ปราชญ์เถื่อนไม่รู้ภาษาสันสกฤต แต่กลัวสานุศิษย์จะจับได้ถ้าไม่ตอบ จึงตะโกนตอบเป็นภาษาฮินดูสตานีว่า แกซิเป็นอคัจฉอ นั่นเอง คนริยำ
ปราชญ์หลวงตกตะลึง นึกว่า นี่มันอะไรกัน แล้วตอบไปเบาๆ ว่า ติษฺฐ ติษฺฐ (เชิญหยุด)
ปราชญ์เถื่อน : แกละซิเป็นติษฐอ พ่อแกละซิเป็นติษฐอ โคตรของแกถอยหลังตั้ง ๑๔ ชั่วเป็นติษฐอทั้งนั้น คนริยำ
ปราชญ์หลวงตกตะลึงจนอ้าปากค้างเป็นครู่ จึงตอบไปได้ว่า สฺถิโร ภว สฺถิโร ภว (ขอจงสงบ)
ปราชญ์เถื่อน : แกละซิเป็นสถิโร ภอ พอ คนริยำ
ปราชญ์หลวงนึก หมอนี่ ด่าส่งทุกคำ ขืนไล่ความรู้กันอย่างพิสดารต่อไป ถ้าไม่ได้เรื่อง เดี๋ยวจะเกิดความขึ้น นึกแล้วก็ยืนนิ่งก้มหน้าดูดินเสีย
ชาวบ้านฟังความที่โต้ตอบกันไม่เข้าใจสักคำ แต่คาดเอาตามกิริยาว่าปราชญ์หลวงแพ้ เพราะอาจารย์ของตนมีกิริยาท่าทางกลอกหน้ากลอกตา และลูบหนวดเอาจริงๆ ผิดกับปราชญ์หลวง เลยพากันโห่ร้องดีใจว่า ท่านอาจารย์เราชนะ
ปราชญ์หลวงโกรธที่พวกชาวบ้านหน้าโง่เข้าใจผิดไปเสียอีกทาง จึงนึกหาอุบายแก้เผ็ด พลางดูที่พื้น เห็นหนวดปราชญ์เถื่อนหลุดตกเมื่อเวลาลูบหนวดอยู่เส้นหนึ่ง ได้ปัญญา ก้มลงเก็บหนวดเส้นนั้น ค่อยประคองเอาปากเป่าฝุ่นที่ติดอยู่ และเอาชายผ้าห่มห่อไว้ ชาวบ้านมองดูไม่เข้าใจว่าจะเก็บเอาหนวดไปทำไม ถ้าจะมีดีอะไรที่หนวดสักอย่างหนึ่ง พากันไปล้อมปราชญ์หลวงซึ่งขึ้นคานหามกำลังจะไป ถามว่า
ชาวบ้าน : ท่านเห็นจะแพ้กระมัง จึงราข้อไป
ปราชญ์หลวง : ก็ดูเหมือนจะเป็นดังนั้น
ชาวบ้าน : บอกแล้วว่าอาจารย์พวกฉันมีความรู้มาก ท่านก็ไม่เชื่อ แต่ขอถามหน่อย ท่านเก็บเอาหนวดของท่านอาจารย์ไปทำไม
ปราชญ์หลวง : ดีใจที่ได้หนวดนี้ไว้ เท่ากับได้แก้วสารพัดนึกเทียวนะ เพราะหนวดนี้มีคุณวิเศษมากมายนัก
ชาวบ้าน : วิเศษอย่างไร บอกหน่อยเถอะ
ปราชญ์หลวง : หนวดชนิดนี้หายากนัก เคราะห์ดีที่เก็บได้ ถ้ายังอยู่ที่ปากที่ไหนจะมีโอกาสเอาได้
ชาวบ้าน : บอกให้ทราบเถิดพวกฉันจะเอาให้ได้
ปราชญ์หลวง : ที่อาจารย์ของพวกท่านมีความรู้มากและฉลาด เฉลียวก็เพราะมีหนวดนี้ ถ้าได้ไว้สักเส้นเดียวจะเป็นนักปราชญ์ใหญ่อย่างอาจารย์ของท่าน แล้วจะมีชื่อเสียงเป็นที่นับถือของใครๆ แม้พระเจ้าแผ่นดินก็จะต้องให้เกียรติ หนวดนี้มีคุณวิเศษอีกมาก แต่ไม่มีเวลาจะบอก พวกท่านได้มาคนละเส้นก็จะรู้เอง ถ้าไม่เชื่อลองขอท่านอาจารย์สักเส้นซิ พนันได้เลยว่าท่านคงไม่ยอมให้ เพราะไม่อยากให้ใครเป็นนักปราชญ์ใหญ่
ชาวบ้านฟังแล้วพากันรีบวิ่งตามปราชญ์เถื่อนซึ่งกำลังเดินกลับ ทันกันแล้วก็ร้องขอหนวดคนละเส้น
ปราชญ์เถื่อน : จะเอาไปทำไม บ้าหรือ
ชาวบ้านสำคัญว่าแกหวงเลยเห็นจริง ร้องว่า ท่านอาจารย์ต้องให้ ไม่ให้ไม่ได้
ปราชญ์เถื่อน : ไอ้พวกริยำ นี่จะให้กูถอนหนวดให้หรือ ใครจะให้
ยิ่งทำท่าไม่ให้ ชาวบ้านยิ่งอยากจะเอาให้ได้ บางคนกลัวจะเสียที ตรงเข้าปล้ำถอน คราวนี้ใครเล่าจะรอดูให้เพื่อนเอาคนเดียว ต้องกรากเข้าถอนบ้าง รุมแย่งกันถอนคนละหนุบสองหนับ
ข่าวหนวดวิเศษลือแซ่ไปถึงพวกที่จะกลับถึงบ้านอยู่แล้ว เลยย้อนกลับวิ่งแห่กันมาใหญ่ กระโดดเกาะหน้าเกาะหลังปราชญ์เถื่อน แย่งกันทึ้งเครา ปราชญ์เถื่อนเจ็บร้องเสียงลั่นให้คนช่วย แต่ยิ่งร้องยิ่งแย่ คนที่ ได้ยินเสียงร้องเรียกแทนที่จะเข้ามาช่วยกลายเป็นช่วยถอนหนวดไปหมด
ปราชญ์หลวงก็ยุส่งอีกว่า เร็วเข้า พวกท่าน เดี๋ยวหนวดจะหมดเสีย ต่อไปจะหาได้ที่ไหน อ้อ! ลืมบอกไปหน่อย ไอ้หนวดข้างบนดีกว่าหนวดที่เคราเสียอีก ถ้าใครไม่ได้ไว้จะเสียใจ
ครั้นตาพราหมณ์ถูกถอนเคราเสียหมดเกลี้ยง ผู้มาภายหลังต้องหันมาเล่นงานหนวดบน ถอนกันเสียจนตาพราหมณ์ลุกไม่ขึ้นเจ็บปางตาย
ฝ่ายปราชญ์หลวงหัวเราะขิกๆ สั่งให้คนหามออกไปจากหมู่บ้าน
เมื่อเขาได้หนวดตาพราหมณ์กันไปหมดแล้ว ตาแกจึงยันตัวลุกขึ้นได้ บ่นอุบอิบ ไอ้ริยำ แสบไปทั้งปาก แล้วเอามือกุมปากเดินโซเซกลับเข้าบ้าน
(นิยายเบงคลี แปลโดย เสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป)
สาระที่ควรกล่าวถึงมีดังนี้
๑. กระดาษย่อมห่อไฟไม่ได้ มีแต่จะทำให้ไฟลุกลามมากขึ้น ฉันใด การปกปิดความโง่ด้วยการอวดฉลาดก็เป็นไปไม่ได้ มีแต่จะเปิดเผย ความโง่ให้สังคมรับรู้มากและรวดเร็วยิ่งขึ้น ฉันนั้น คนที่ยอมรับหรือรู้ตัวว่าโง่แล้วพยายามศึกษาหาความรู้ ย่อมมีโอกาสกลายเป็นคนฉลาดได้ ส่วนคนโง่ที่คิดว่าตัวฉลาดแล้ว ย่อมไม่ศึกษาหาความรู้ จึงโง่เขลาอยู่อย่างเดิม ในหมู่คนโง่ คนที่ชอบอวดฉลาดนั่นแหละคือคนที่โง่ที่สุด
๒. การใช้เสียงข้างมากตัดสิน บางทีก็ผิดพลาดได้ เพราะเห็นแก่พวกเดียวกัน หรือเพราะความโง่เขลา ไม่รู้ว่าอะไรถูก อะไรผิด หรือรู้แบบงูๆ ปลาๆ แต่ถ้าพิจารณาอย่างรอบคอบด้วยปัญญาแล้วจึงตัดสิน ความผิดพลาดย่อมไม่มีหรือมีน้อยที่สุด |