สมัยหนึ่ง พระศาสดาประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน นายกาละบุตรของอนาถบิณฑิกเศรษฐีเป็นผู้ไม่มีศรัทธา ไม่เคยคิดไปเฝ้าพระศาสดา ไม่เคยคิดจะฟังธรรม แม้ท่านเศรษฐีจะตักเตือนอย่างไรก็ไม่สนใจ ท่านเศรษฐีคิดว่า เจ้ากาละมีความเห็นผิดอย่างนี้ ภายหน้าคงไม่พ้นอบายภูมิ การละเลยปล่อยให้บุตรไปสู่นรกนั้น ไม่สมควรแก่เราเลย ขึ้นชื่อว่าบุคคลผู้ไม่โลภในทรัพย์ ย่อมไม่มีในโลกนี้ เราจักทำลายความเห็นผิดของบุตรเราด้วยทรัพย์ ท่านเศรษฐีจึงพูดกับนายกาละ
เศรษฐี : เจ้าจงไปสู่วิหาร รักษาอุโบสถและฟังธรรม เราจักให้เจ้า ๑๐๐ กหาปณะ
กาละ : พ่อจะให้แน่หรือ
เศรษฐี : ให้แน่
เมื่อแน่ใจว่าจะได้เงิน นายกาละก็ไปสู่วิหาร เมื่อไปถึงก็นอนหลับอย่างสบายไม่ได้ฟังธรรม รุ่งเช้าก็กลับบ้าน เมื่อท่านเศรษฐีเห็นบุตรของตนก็สั่งให้คนนำอาหารมา แต่นายกาละไม่ยอมบริโภคอาหารเพราะยังไม่ได้รับกหาปณะ เมื่อท่านเศรษฐีให้กหาปณะแล้วนายกาละจึงบริโภคอาหาร
รุ่งขึ้น ท่านเศรษฐีพูดกับนายกาละว่า เราจักให้กหาปณะแก่เจ้าพันหนึ่ง เจ้าจงยืนตรงพระพักตร์พระศาสดา เรียนธรรมจากพระองค์ให้ได้บทหนึ่ง แล้วค่อยกลับมา นายกาละจึงไปวิหาร ยืนต่อหน้าพระพักตร์พระศาสดา หวังเรียนธรรมเพียงบทเดียวแล้วจะรีบหนี
พระศาสดาทรงทำให้เขากำหนดไม่ได้ เมื่อเรียนบทแรกไม่สำเร็จ เขาคิดว่า เราต้องเรียนบทต่อไปให้ได้ คราวนี้เขายืนฟังอย่างตั้งใจ จึงได้บรรลุโสดาบัน
(อรรถกถาธรรมบท ภาค ๖ เรื่องนายกาละบุตรอนาถบิณฑิกเศรษฐี)
ผม (เสรี อิศรางกูรฯ) รับราชการที่โรงต้มกลั่นสุราสงขลา เมื่อวันที่ ๑๙ มิถุนายน ๒๔๖๙ พอถึงวันที่ ๑ เมษายน ๒๔๗๐ ยังไม่ถึงปี ผมได้เงินเดือนเพิ่ม ๑๐ บาท เป็น ๔๐ บาท การกินอยู่ของผมนั้นอยู่กับเจ้าคุณลุง แต่วันธรรมดากินอยู่ที่โรงต้มกลั่นสุรา เงินเดือนของผมจึงเหลือ ใช้ ผมส่งไปให้พ่อแม่เสมอ ทำให้พ่อแม่ของผมมีเงินใช้ไม่ขาด ผมรักพ่อแม่ของผมมาก ผมเป็นคนกตัญญูคนหนึ่ง ผมเป็นคนขี้สงสารคนยากจน ชอบทำทาน
วันหนึ่งมีจีนอายุค่อนข้างมากมาขอเงินผมที่โรงต้มกลั่นสุรา ผมถามว่าทำไมไม่ทำมาหากิน ได้รับคำตอบว่า ไม่มีเงิน ผมว่ายังแข็งแรงอย่างนี้ เอาลังมาต่อทำเป็นหาบของขายเต้าส่วนก็ได้ ไม้คานไม่มีก็ตัดเอาไม้ที่ไหนมาทำคานหาบขายก็ได้ เขาว่าไม่มีเงินเลย ขอเขาได้วันละ ๒-๓ สตางค์ พอกินไปได้วันหนึ่งเท่านั้น ผมถามว่า ไปซื้อเต้าส่วน น้ำตาล และทำหาบ สักเท่าใดจึงจะพอ เขาว่า ๕ บาทก็พอ ผมถามว่าจะขายไหม เขาก็ว่าไม่มีเงิน ผมว่าจะให้เงินไปทำทุน ไม่ต้องใช้คืน ให้เปล่าๆ ให้ไปนอนคิดดู
รุ่งขึ้น จีนคนนั้นมาบอกว่า หาลังได้แล้ว ถ้าได้เงินพรุ่งนี้ก็ขายได้ ผมจึงให้เงินแกไป ๕ บาท แกดีใจใหญ่ ยกมือไหว้ประหลกๆ รุ่งขึ้น แกก็หาบเต้าส่วนมาขาย สมัยนั้น เต้าส่วนขายชามละ ๑ สตางค์เท่านั้น แกเอามาให้ผมกินทุกวันจนเบื่อ จึงนานๆ จะกินสักชาม
ต่อมา ผมย้ายไปอยู่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ก็ไม่พบแกอีกเลย แกอาจเป็นเถ้าแก่ไปแล้วก็ได้ เมื่อผมนึกถึงแก ผมดีใจที่ได้ชุบชีวิตคน
(บันทึกส่วนตัวของ นายเสรี อิศรางกูร ณ อยุธยา อดีตรมช.กระทรวงเกษตร และส.ส.บุรีรัมย์)
เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๒ วันหนึ่ง พ.ต.อ.พระยาทรงพลภาพ (เผื่อน พลธร) ข้าราชการบำนาญอายุ ๖๖ ปี เดินเข้าไปในวัดมหรรณพาราม กรุงเทพ ท่านเจ้าคุณเห็นเด็ก ๗-๘ คนกำลังเล่นการพนันกันอยู่ ท่านก็ เข้าไปหาและถามว่า ที่เธอเล่นกันอย่างนี้วันละหลายชั่วโมง คนที่รวยที่สุดในกลุ่มได้เท่าไร เด็กบางคนก็บอกว่า ๒ สลึง บางคนก็ว่า ๑ บาท
ท่านเจ้าคุณจึงพูดว่าท่านจะให้พวกนั้นรวยมากเท่ากันทุกคน แล้วล้วงเอาเงินในกระเป๋าออกมาแจกเด็กคนละ ๑ บาท หมดเงินไป ๘ บาท ท่านกำลังสนุกกับแผนการตามนิสัยของคนขี้เล่น เมื่อเห็นเด็กพากันยืนงง ท่านจึงบอกเด็กๆ
ท่าน : ให้รวยกันเสียทีเดียว จะได้ไม่ต้องเล่นให้เสียเวลาดีไหม
เด็ก : (ทุกคนยืนเงียบกริบ)
ท่าน : เรื่องเล่นการพนันดีหรือไม่
เด็ก : ไม่ดีครับ
ท่าน : แล้วการเล่นที่ทำลายสิ่งปลูกสร้างซึ่งคนอื่นต้องลงทั้งทุนทั้งแรงเล่า ดีหรือไม่
เด็ก : ไม่ดีครับ
ท่าน : การเล่นในสถานที่เคารพบูชา เช่น เล่นการพนันในวัด อย่างที่พวกหนูเล่นกันอย่างนี้ล่ะ ดีหรือไม่
เด็ก : ไม่ดีครับ
ท่าน : คำที่ลุงถามทั้ง ๓ ข้อนี้ เป็นหนึ่งในร้อยของความเสียหาย ริเล่นการพนันตั้งแต่เด็กเท่ากับเพาะนิสัยให้เสียได้ง่าย โตแล้วก็กลายเป็นนักเลงการพนัน การพนันไม่ได้สร้างคนให้ดีหรือเด่น ทั้งเป็นทางให้ความเสียหายอื่นเดินเข้ามาหาตัวได้รวดเร็ว การเล่นที่ทำลายสิ่งของหรือสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งเป็นสมบัติของชาติศาสนา เล่นก่อกวนความสงบทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน เล่นอย่างนี้ต่อไปก็กลายเป็นอันธพาล แล้วพ่อแม่ก็เสียใจเมื่อเห็นลูกของตนเป็นคนเลว ไม่เป็นคนดีดังที่พ่อแม่ตั้งใจไว้ หนูเห็นเป็นอย่างไร จริงไหม
เด็ก : จริงครับ
ท่าน : ที่ลุงแจกเงินให้ทุกคน ก็เพื่อขอซื้อนิสัยที่พวกหนูกำลังจะเสียคน ลุงจึงลงทุนขอซื้อขาดเสียทีเดียวว่า ต่อไปนี้พวกหนูทั้งหมดจงเลิกเล่นการพนัน และเลิกเล่นในเรื่องที่ลุงถามทั้ง ๓ ข้ออย่างเด็ดขาด จะเลิกได้ไหม
เด็ก : เลิกได้ครับ ต่อไปนี้พวกผมจะไม่เล่นอีก
ท่าน : ดีมาก ลุงดีใจด้วย ขอให้หนูอย่าลืมคำรับรองที่ให้ไว้กับลุงก็แล้วกัน ลุงเป็นตำรวจมานานจึงรู้ดีว่า ผู้ที่จะเริ่มเสียคนโดยมากเริ่มจากเด็กก่อน เด็กที่จะเสียก็เริ่มเสียจากการพนันก่อน การพนันมีได้มีเสีย ทำให้คนอยากเล่น เพราะอยากได้เงินของเขา นี่แหละเป็นเครื่องยั่วใจ แต่การได้จากการพนันเป็นการได้ในทางผิด ก็เลยทำให้ผิดเรื่อยไป ผิดบ่อยเข้าก็เสียนิสัย เลยกลายเป็นเสียเด็ก เมื่อแก้ไม่ได้ก็กลายเป็นเสียผู้ ใหญ่
เมื่อเจ้าคุณทรงพลภาพแน่ใจว่า เด็กเหล่านี้รู้จักผิดชอบชั่วดีและเชื่อฟังแล้ว จึงบอกให้เด็กกลับบ้าน พอเด็กคนสุดท้ายเดินพ้นประตูวัด ท่านเองก็หัวเราะชอบใจ
(บุคคลสำคัญของไทย โดย อรรถ อรรถวุฒิกร)
นายทองหล่อ บุณยนิตย์ (๒๔๕๐-๒๕๐๕ จ.ม.) มีวิธีการที่ดีในการปลูกฝังให้บุตรรู้จักออมทรัพย์ด้วยการแจกสตางค์ที่เป็นเหรียญใหม่ๆ ซึ่งเด็กมักชอบ ให้ลูกๆ และสั่งว่า ถ้าวันพรุ่งนี้และวันต่อๆไป ใครรักษาสตางค์ที่ให้ไว้มาให้ดูได้ จะให้สตางค์ใหม่อีก การกระทำเช่นนี้เป็นการฝึกฝนให้เด็กมีความอดทนเข้มแข็ง รู้จักรอโอกาสและระงับความอยากใช้สตางค์โดยไม่จำเป็น โดยใช้ความอยากได้เหรียญใหม่ๆ เป็นเหยื่อล่อ
(บุคคลสำคัญของไทย โดย อรรถ อรรถวุฒิกร)
สาระที่ควรกล่าวถึงมีดังนี้
๑. แทนที่จะมอบเงินให้บุตรใช้จ่ายอย่างฟุ่มเฟือยเหมือนเศรษฐีบางคน อนาถบิณฑิกเศรษฐีกลับใช้เงินเป็นเหยื่อล่อให้บุตรตั้งอยู่ในความดี จัดเป็นการใช้เงินอย่างฉลาด เพราะเท่ากับใช้เงินซื้ออริยทรัพย์ คือความเป็นพระโสดาบันให้แก่นายกาละผู้เป็นบุตร นับว่าเป็นการลงทุนที่ได้กำไรอย่างมหาศาลจนประมาณไม่ได้ สมแล้วที่ท่านได้เป็นถึงมหาเศรษฐี
๒. ในคัมภีร์ธรรมบท (๒๕/๒๓) พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า โสดาปัตติผลประเสริฐกว่าสมบัติของพระเจ้าจักรพรรดิ ประเสริฐกว่าสมบัติในเทวโลกและพรหมโลก ประเสริฐกว่าความเป็นใหญ่ในโลกทั้งปวง เหตุที่ตรัสเช่นนี้อรรถกถาอธิบายว่า แม้จะได้เสวยสมบัติของพระเจ้าจักรพรรดิ หรือทิพยสมบัติในสวรรค์ ก็เป็นผู้ที่ยังไม่พ้นไปจากนรก ส่วนพระโสดาบันเป็นผู้มีอบายภูมิอันปิดแล้ว และจะได้บรรลุพระนิพพานใน ๗ ชาติ เป็นอย่างช้า
๓. การห้ามปรามลูกจากความชั่ว ชักนำให้ตั้งอยู่ในความดี เป็นหน้าที่อันสำคัญของบิดามารดา ท่านเศรษฐีก็ได้ทำหน้าที่นี้แล้ว อย่างสมบูรณ์ ควรแก่การสรรเสริญและเอาเป็นแบบอย่าง แม้ท่าน เจ้าคุณก็เช่นเดียวกัน
๔. ท่านเจ้าคุณยอมทุ่มเทเงินเพื่อซื้อนิสัยที่เสียของเด็ก แต่ในปัจจุบันกลับมีเศรษฐีบางคนทุ่มเทเงินเพื่อสร้างนิสัยเสียให้ลูกหลาน ทำให้ กลายเป็นผู้ดีขี้อวด ฟุ้งเฟ้อ หยิบหย่ง ทำอะไรก็ไม่เป็น ในที่สุดก็เสียคน หรือเสียชีวิต (ด้วยอุบัติเหตุจากรถยนต์ที่พ่อแม่ซื้อให้)
๕. กล่าวกันว่า วิธีการช่วยคนที่ถูกต้องนั้น ไม่ใช่ทำตัวให้ต่ำลงไปหา แต่ให้ยกคนที่อยู่ต่ำให้สูงขึ้น กล่าวคือ ช่วยให้เขาพึ่งตนเองได้ในทุกด้าน เช่น ฝึกคนพิการให้รู้จักช่วยตัวเองในกิจวัตรประจำวันและมีอาชีพที่พอเลี้ยงตัวได้ การลงทุนให้ทำการค้าของนายเสรีก็เป็นการช่วยที่ถูกต้องและได้ผลดีมาก
๖. ในปัจจุบันก็มีผู้ปกครองบางคนที่รู้จักใช้เงินอย่างฉลาดเหมือนอนาถบิณฑิกเศรษฐี โดยจ้างให้บุตรหลานของตนอ่านหนังสือ ธรรมะ (กฎแห่งกรรม โดย ท. เลียงพิบูลย์) เด็กอ่านแล้วเกิดชอบใจ ภายหลังก็อ่านต่อเองโดยไม่ต้องจ้าง เป็นการชักจูงให้เด็กตั้งอยู่ในความดีโดยการลงทุนเพียงเล็กน้อย ถ้าผู้ปกครองท่านใดจะนำวิธีการนี้ไปใช้ ควรระวังว่า อย่าจ้างในสิ่งที่เป็นหน้าที่ของเด็กอยู่แล้ว เช่น ไม่ต้องจ้างให้เด็กอ่านตำราเรียน หรือทำการบ้าน เพราะเป็นหน้าที่ของเด็กอยู่แล้ว