ในอดีตกาล
พระโพธิสัตว์เป็นอำมาตย์ผู้วินิจฉัยคดีในศาลกรุงพาราณสี
ในครั้งนั้นพ่อค้าบ้านนอกฝากผาล ๕๐๐ ไว้กับพ่อค้าชาวกรุง
ซึ่งเป็นมิตรกัน พ่อค้าชาวกรุงขายผาลเหล่านั้นเก็บเงินไว้
แล้วเอาขี้หนูมาโรยไว้แทน ครั้นพ่อค้าบ้านนอกมาขอผาลคืน
พ่อค้าชาวกรุงชี้ให้ดูขี้หนูแล้วกล่าวว่า ผาลถูกหนูกินหมดแล้ว
พ่อค้าบ้านนอกกล่าวว่า ช่างเถิด เมื่อหนูกินแล้วจะทำอย่างไรได้
จากนั้นก็พาบุตรของพ่อค้าชาวกรุงไปอาบน้ำ แล้วนำเด็กไปไว้ที่เรือนของสหายผู้หนึ่ง
กำชับว่า อย่าให้เด็กแก่ใครเป็นอันขาด ส่วนตนเองก็อาบน้ำแล้วกลับไปเรือนพ่อค้าชาวกรุง
พ่อค้าชาวกรุง
: ลูกของเราไปไหน
พ่อค้าบ้านนอก
: ขณะที่เราวางบุตรของท่านไว้ริมฝั่งแล้วดำลงไปในน้ำ
เหยี่ยวตัวหนึ่งบินมาแล้วโฉบบุตรของท่านไปสู่อากาศ แม้เราพยายามปรบมือร้องก็ไม่สามารถให้มันปล่อยได้
พ่อค้าชาวกรุง
: ท่านพูดโกหก เหยี่ยวคงไม่สามารถโฉบเอาเด็กไปได้
พ่อค้าบ้านนอก
: สหายจะว่าถูกก็ได้ จะว่าไม่ถูกก็ได้ แต่เราจะทำอย่างไรได้
เหยี่ยวเอาบุตรของท่านไปจริงๆ
พ่อค้าชาวกรุง
: เจ้าโจรใจร้ายฆ่าคน เราจะไปศาลให้พิพากษา ลงโทษท่าน
พ่อค้าบ้านนอก
: ทำตามความพอใจของท่านเถิด
พ่อค้าทั้งสองได้ไปที่ศาล
พ่อค้าชาวกรุงกล่าวกับพระโพธิสัตว์
: พ่อค้าผู้นี้พาบุตรของข้าพเจ้าไปอาบน้ำ เมื่อข้าพเจ้าถามว่าบุตรของเราไปไหน
เขาบอกว่าเหยี่ยวพาเอาไป ขอท่านได้โปรดวินิจฉัยคดีของข้าพเจ้าเถิด
พระโพธิสัตว์ถามพ่อค้าบ้านนอก
: ท่านพูดจริงหรือ
พ่อค้าบ้านนอก
: ข้าพเจ้าพาเด็กนั้นไปจริง
พระโพธิสัตว์
: ในโลกนี้ธรรมดาเหยี่ยวจะนำเด็กไปได้หรือ
พ่อค้าบ้านนอก
: ข้าพเจ้าขอถามท่านว่า เหยี่ยวไม่สามารถพาเด็กไปในอากาศได้
แต่หนูกินผาลเหล็กได้หรือ
พระโพธิสัตว์
: นี่เรื่องอะไรกัน
พ่อค้าบ้านนอก
: ข้าพเจ้าฝากผาลไว้ ๕๐๐ ที่เรือนของพ่อค้านี้ เขาบอกว่าผาลถูกหนูกินแล้วชี้ให้ดูขี้หนูว่า
นี้คือขี้ของหนูที่กินผาล ถ้าหนูกินผาลได้ เหยี่ยวก็จะนำเด็กไปได้
ถ้าหนูกินผาลไม่ได้ เหยี่ยวก็จะนำเด็กไปไม่ได้ ท่านจงทราบเถิดว่า
ผาลเหล่านั้นถูกหนูกินจริงหรือไม่ ขอได้โปรดพิพากษาคดีของข้าพเจ้าเถิด
พระโพธิสัตว์ทราบว่า
พ่อค้าบ้านนอกนี้คงจะคิดอุบายเอาชนะคนโกง จึงกล่าวว่า
ท่านได้คิดอุบายตอบอุบายดีแล้ว ถ้าหนูกินผาลได้ เหตุไฉนเหยี่ยวจะเฉี่ยวเด็กไปไม่ได้เล่า
ถ้าท่านไม่ให้ผาลแก่เขา เขาก็จะไม่นำบุตรมาให้แก่ท่าน
ในที่สุด
พ่อค้าบ้านนอกก็ได้ผาลคืนมาด้วยปัญญาของตน ส่วนพ่อค้าชาวกรุงก็ได้บุตรคืน
(อรรถกถากูฏวาณิชชาดก
ทุกนิบาต)
มีนิทานอินเดียเรื่องหนึ่งเล่าว่า
บิดาของชายคนหนึ่งตายไปพราหมณ์ซึ่งเป็นอริกับผู้ตายกล่าวโพนทนาว่า
ผู้ตายนั้นทำบาปต้องไปเกิดเป็นลา ถึงคราวทำพิธีศราทธ์
(สาด คือพิธีทำบุญให้ผู้ตายโดยเชิญพราหมณ์มากินเลี้ยง
ต้องจัดหาผ้าและไทยธรรมต่างๆ ทำบุญให้แก่พราหมณ์ด้วย)
ลูกของผู้ตายเชิญพราหมณ์มากินบุญ เมื่อพราหมณ์มาถึง
แทนที่จะเห็นของกินมีนมเนย กลับเห็นแต่กองหญ้า
ลูกของผู้ตายกล่าวว่า
ท่านว่าพ่อของข้าพเจ้าตายไปเกิดเป็นลา ถ้าจะทำบุญอุทิศอาหารพวกนมเนยไปก็ไม่มีประโยชน์
ลาคงกินนมเนยไม่เป็น ข้าพเจ้าจึงจัดหญ้าอันเป็นอาหารชอบของลาแทน
ขอท่านโปรดกินหญ้าตามสบายเถิด เพื่อจะได้เป็นเนื้อนาบุญอุทิศไปถึงบิดาข้าพเจ้าได้
(เล่าเรื่องในไตรภูมิ
โดย เสฐียรโกเศศ)
สาระที่ควรกล่าวถึงมีดังนี้
๑.
พ่อค้าบ้านนอกเป็นบุคคลประเภท น้ำนิ่งไหลลึก หมายถึงคนที่ดูหงิมๆ
แต่มีความคิดลึกซึ้ง เมื่อขอผาลคืนไม่ได้ ก็ฉลาดพอที่จะ
ไม่เอะอะโวยวาย รู้จักเก็บเอาน้ำขุ่นไว้ใน น้ำใสไว้นอก
แม้ไม่พอใจก็ไม่ แสดงให้ปรากฏออกมา กลับแสดงท่าทีว่าไม่ถือสาหาความ
พ่อค้าชาวกรุงจึงตายใจไม่ระวังตัว พอได้โอกาสก็พาบุตรของพ่อค้าชาวกรุงไปซ่อน
เพื่อใช้เป็นเครื่องต่อรองให้พ่อค้าชาวกรุงคืนผาลให้
เป็นการแก้เผ็ดอย่างสาสม สำนวนไทยเรียกว่า เกลือจิ้มเกลือ
๒.
ถ้าพ่อค้าบ้านนอกไม่ทำเฉยไว้ แสดงความไม่พอใจให้ปรากฏออกมา
พ่อค้าชาวกรุงก็จะระวังตัว การแก้เผ็ดด้วยอุบายก็จะกระทำได้ยาก
หรือไม่ก็ทำให้เกิดการทะเลาะวิวาทกัน เรื่องก็จะบานปลายออกไป
ความเสียหายก็จะมากขึ้น
๓.
คำพูดของพราหมณ์เปรียบเหมือนหอกซึ่งไปทิ่มแทงลูกผู้ตายให้เจ็บใจ
แต่เขาก็อดกลั้นไว้ เมื่อได้โอกาสอันควร ลูกผู้ตายก็ใช้ปัญญาทำการแก้เผ็ดอย่างสาสม
โดยไม่ต้องใช้ความรุนแรง ไม่ต้องใช้วาจาหยาบคาย ใช้คำพูดสุภาพแต่ฟังแล้วเจ็บแสบ
เป็นการด่าอย่างผู้ดี และเป็นการส่งหอกนั้นกลับไปทิ่มแทงพราหมณ์ให้รู้สำนึกเสียบ้าง