เมื่อสิ้นสงครามโลกครั้งที่ ๑ สัมพันธมิตรเป็นฝ่ายชนะ เวลานั้นมีชาวยิวตั้งโรงแรมอยู่ตรงข้ามปากตรอกโรงภาษี ในจังหวัดพระนคร โรงแรมแห่งนี้ฝรั่งนิยมมาพักและมากินอาหารกันมาก
ครั้งนั้นมีฝรั่งหนุ่มโสดคนหนึ่งซึ่งพักอยู่ในโรงแรมนี้ ถึงกำหนดเดินทางกลับประเทศของตน จึงชำระหนี้สินด้วยเช็ค วันนั้นเป็นวันเสาร์ ธนาคารปิด ชาวยิวเจ้าของโรงแรมเอาเช็คไปเบิกเงินไม่ได้ จะเกี่ยงเอาเงินสดก็คงไม่มี ทั้งเกรงใจที่ฝรั่งคนนี้เป็นลูกค้าที่ดีมาตลอด ตกเย็นฝรั่งก็โดยสารเรือไปสิงคโปร์ เพื่อเดินทางต่อไปยุโรปโดยเรือใหญ่ในวันอาทิตย์ เมื่อวันจันทร์ธนาคารเปิด เจ้าของโรงแรมนำเช็คไปเบิกเงินแต่เบิกไม่ได้เพราะยอดเงินในบัญชีไม่พอ
จำนวนเงินจะเป็นเท่าใด ผู้เล่า (ท. เลียงพิบูลย์) จำไม่ได้เพราะเรื่องเกิดนานแล้ว จึงสมมุติให้ใกล้เคียงในจำนวน ๗-๘๐๐ บาท ถ้าพูดถึงในเวลานี้ เงิน ๗-๘๐๐ บาทก็ไม่มีความหมายอะไรนัก แต่สมัยนั้น ทองคำบาทละ ๑๙ บาท ขึ้นลงก็ไม่เกิน ๒๒ บาท เงิน ๗-๘๐๐ บาท จึงมีค่ามากจนทำให้เจ้าของโรงแรมต้องคิดหนัก ในที่สุดก็พบทางออก เขาสืบจนรู้ตัวพนักงานบัญชีของธนาคาร แล้วเชิญมาเลี้ยงอาหารเที่ยงที่โรงแรมบ่อยๆ อาหารเที่ยงในเวลานั้นมื้อละ ๑๒ บาท เมื่อรู้จักกันดีแล้ว เจ้าของโรงแรมก็ถามยอดเงินในบัญชีของฝรั่งผู้จ่ายเช็คนั้น
ตามปกติทุกธนาคารจะไม่บอกยอดเงินฝากของลูกค้าให้ผู้อื่นทราบ แต่พนักงานบัญชีได้รับเลี้ยงจากเจ้าของโรงแรมจนคุ้นเคยกัน จึงแจ้ง ยอดเงินที่เหลือในบัญชีให้ทราบ เมื่อทราบยอดเงินในบัญชี เจ้าของ โรงแรมก็นำเงินที่ยังขาด (ประมาณ ๑๐-๕๐ บาท) ไปเข้าบัญชีนั้น แล้วนำเช็คใบนั้นไปเบิกเงินใหม่อีกครั้งหนึ่ง คราวนี้ธนาคารก็จ่ายเงินตามเช็คใบนั้นโดยเรียบร้อย นับว่าชาวยิวผู้นี้แก้ปัญหาให้ลุล่วงไปได้ด้วย ปัญญาของตน
(กฎแห่งกรรม โดย ท. เลียงพิบูลย์)
สาระที่ควรกล่าวถึงมีดังนี้
๑. ในสังคหสูตร (๒๑/๓๒) พระพุทธเจ้าตรัสถึงหลักยึดเหนี่ยวน้ำใจคน (สังคหวัตถุ) ๔ ประการ คือ
๑.๑ ทาน การแบ่งปันวัตถุสิ่งของตลอดถึงการให้ความรู้และคำแนะนำแก่ผู้อื่น
๑.๒ ปิยวาจา พูดจาสุภาพไพเราะอ่อนหวานสมานสามัคคี
๑.๓ อัตถจริยา ประพฤติสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น
๑.๔ สมานัตตตา ไม่ถือตัว เข้ากับผู้อื่นได้ง่าย
การที่เจ้าของโรงแรมเลี้ยงอาหารพนักงานบัญชี ถือได้ว่าเป็น การประพฤติตามหลักสังคหวัตถุ จึงยึดเหนี่ยวน้ำใจพนักงานบัญชีไว้ได้ เมื่อเอ่ยปากขอความช่วยเหลือจึงได้รับการตอบสนองอย่างดี
๒. ขี้เหนียว ปากร้าย เอาเปรียบหรือกินแรงคนอื่น เย่อหยิ่ง เป็นลักษณะตรงกันข้ามกับหลักยึดเหนี่ยวน้ำใจคน หากใครมีลักษณะเหล่านี้แม้เพียงข้อเดียว ก็จะไม่มีใครชอบ ไม่มีใครอยากคบหาสมาคมด้วย
|