สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ครั้งนั้นพระเจ้าปเสนทิโกศลประทับอยู่ ณ พระปราสาทชั้นบน พร้อมด้วยพระนางมัลลิกาเทวี ได้ทอดพระเนตรเห็นพระสัตตรสวัคคีย์ (หมู่สงฆ์ ๑๗ รูป) กำลังเล่นน้ำอยู่ในแม่น้ำอจิรวดี ครั้นแล้วได้รับสั่งกับพระนางมัลลิกาว่า นั่นพระอรหันต์กำลังเล่นน้ำ
พระนางกราบทูลว่า ชะรอยพระผู้มีพระภาคเจ้ายังมิได้ทรงบัญญัติสิกขาบท หรือภิกษุเหล่านั้นจะยังไม่สันทัดในพระวินัยเป็นแน่ พระพุทธเจ้าข้า
ขณะนั้น ท้าวเธอทรงรำพึงว่า ด้วยอุบายอย่างไรหนอ เราจะไม่ต้องกราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้า และพระองค์จะพึงทรงทราบได้ว่า ภิกษุเหล่านั้นเล่นน้ำ ครั้นแล้วท้าวเธอรับสั่งให้นิมนต์พระสัตตรสวัคคีย์มา แล้วพระราชทานน้ำอ้อยงบใหญ่แก่ภิกษุเหล่านั้น รับสั่งว่า ขอพระคุณเจ้าโปรดถวายน้ำอ้อยงบนี้แด่พระผู้มีพระภาคเจ้า
พระสัตตรสวัคคีย์ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า กราบทูลว่า พระเจ้าแผ่นดินถวายน้ำอ้อยงบนี้แด่พระองค์ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามว่า พระเจ้าแผ่นดินพบพวกเธอที่ไหนเล่า พระสัตตรสวัคคีย์กราบทูลว่า พบพวกข้าพระพุทธเจ้ากำลังเล่นน้ำอยู่ในแม่น้ำอจิรวดี
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงติเตียนภิกษุเหล่านั้น แล้วทรงบัญญัติ สิกขาบทว่า ภิกษุเล่นน้ำต้องอาบัติปาจิตตีย์
(วินัย. มหาวิภังค์. ๒/๕๘๖)
ในอดีตกาล พระโพธิสัตว์ทรงเป็นพระเจ้าโภชนสุทธิกราช ครองราชสมบัติในกรุงพาราณสี ทรงให้สร้างรัตนมณฑปที่ประตูพระราชวังเพื่อเป็นที่เสวยพระกระยาหาร เพราะมีพระราชประสงค์ให้มหาชนผู้เห็นวิธีเสวยของพระองค์ได้กระทำบุญ เวลาเสวยก็ประดับรัตนมณฑปนั้น แล้วประทับบนราชบัลลังก์ทองคำ แวดล้อมด้วยนางกษัตริย์ทั้งหลาย เสวยพระกระยาหารรสดีมีค่าถึงแสนกหาปณะ ด้วยภาชนะทองมีค่าแสนกหาปณะ
บุรุษผู้หนึ่งเห็นแล้วก็อยากจะบริโภคโภชนะนั้นจนอดกลั้นไม่ได้ เมื่อคิดอุบายได้ ก็นุ่งผ้าให้มั่นคง ยกมือขึ้นข้างหนึ่ง เดินเข้าไปและร้องเสียงดังว่า เราเป็นทูต มหาชนก็แหวกทางให้ บุรุษนั้นรีบคว้าอาหารก้อนหนึ่งจากภาชนะทองของพระราชาใส่ปาก ทหารก็ชักดาบออกหมายจะตัดศีรษะบุรุษนั้น แต่พระราชาตรัสห้ามและทรงอนุญาตให้บริโภคได้
เมื่อบริโภคเสร็จ พระราชาประทานน้ำดื่มแล้วตรัสถามบุรุษนั้นว่า เจ้ากล่าวว่าเป็นทูต เจ้าเป็นทูตของใคร
บุรุษนั้นกราบทูลว่า บุคคลย่อมไปสู่ที่อันไกล เพื่อหวังจะขอสิ่ง ของตามแต่จะได้ เพื่อประโยชน์แก่ท้องใด ข้าพระองค์เป็นทูตของท้องนั้น อนึ่ง ชนทั้งหลายย่อมตกอยู่ในอำนาจของท้องใด ทั้งกลางวันกลางคืน ข้าพระองค์ก็เป็นทูตของท้องนั้น ขอพระองค์อย่าทรงพิโรธเลย
ถ้อยคำนั้นเป็นที่โปรดปรานมาก พระราชาจึงตรัสว่า เราจะให้โคพันตัวพร้อมทั้งโคจ่าฝูงแก่ท่าน แม้เราและสัตว์ทั้งมวลก็เป็นทูตของท้องทั้งสิ้น เมื่อเราก็เป็นทูต ไฉนจะไม่ให้สิ่งของแก่ท่านผู้เป็นทูตเล่า
ครั้นตรัสแล้วทรงมีพระทัยยินดีว่า บุรุษนี้ให้เราได้ฟังสิ่งที่ไม่เคยฟัง จึงประทานยศใหญ่แก่บุรุษนั้น
(อรรถกถาทูตชาดก ติกนิบาต)
ในอดีตกาล แรงกรรมผลักดันให้พระโพธิสัตว์บังเกิดเป็นนกกระจาบ ครั้งหนึ่ง ถูกพรานนกจับตัวไปจากป่า ขังไว้ในเรือนเพื่อขายแก่ผู้ที่มาซื้อ พระโพธิสัตว์คิดว่า ถ้าเราบริโภคข้าวน้ำที่พรานนี้ให้ พรานนี้ก็คงจับเราให้แก่คนที่มาซื้อ ถ้าเราไม่บริโภคก็คงซูบผอม คนซื้อเห็นเราซูบผอมก็จักไม่รับเอา เราก็ปลอดภัย
เมื่อพระโพธิสัตว์ไม่บริโภคก็ซูบผอมเหลือแต่หนังหุ้มกระดูก คนซื้อจึงไม่ยอมแตะต้อง เมื่อขายนกอื่นหมดแล้ว พรานนกนำพระโพธิสัตว์ออกจากกระเช้า วางไว้ที่ฝ่ามือเพื่อตรวจดูว่า นกตัวนี้เป็นอย่างไรไปเล่า พระโพธิสัตว์รู้ว่านายพรานเผลอ ก็กางปีกบินหนีเข้าป่าไป
(อรรถกถาวัฏฏกชาดก เอกนิบาต)
ชีวิตของประธานาธิบดีมีการพักผ่อนน้อยเต็มที กล่าวกันว่า หลังจากรับประทานอาหารค่ำแล้วประธานาธิบดีลินคอล์น (แห่งสหรัฐอเมริกา) ก็จะทำงานต่อไปทันที หากมีรัฐบุรุษชั้นผู้ใหญ่มาเข้าพบเพื่อสนทนา ลินคอล์นก็ต้องอยู่ต้อนรับด้วยความเกรงใจ แทนที่จะสนทนากัน ลินคอล์นมักจะชวนให้อ่านหนังสือ คือเอาหนังสือเรื่องใดเรื่องหนึ่งมาอ่านดังๆ ให้นั่งฟังกันทุกคน ลงท้ายผู้ที่มานั่งสนทนาก็เบื่อและลาไปเอง นี้เป็นกุศโลบายอย่างหนึ่งที่ช่วยให้แขกไปเร็ว และลินคอล์นมีเวลาทำงานได้
(ทางสู้ในชีวิต โดย หลวงวิจิตรวาทการ)
สาระที่ควรกล่าวถึงมีดังนี้
๑. การเล่นน้ำของพระสัตตรสวัคคีย์ แม้ไม่เป็นบาป แต่ทำให้ชาว บ้านติเตียนและเสื่อมศรัทธา ดังนั้นพระพุทธเจ้าจึงทรงบัญญัติสิกขาบทห้ามไว้ เพื่อป้องกันคำติเตียนและรักษาศรัทธาของชาวบ้านไว้
๒. สังคมทุกแห่งย่อมมีทั้งคนดีและคนไม่ดี ดังนั้นเมื่อเห็นพระสงฆ์รูปไหนประพฤติไม่ดี ก็ไม่ควรจะเสื่อมศรัทธาจนถึงกับเลิกนับถือพระสงฆ์ทั้งหมด
๓. อย่าถือคติว่า ชั่วช่างชี ดีช่างสงฆ์ เห็นว่าเป็นเรื่องของพระสงฆ์ก็ปล่อยไปตามยถากรรมไม่เอาธุระ ชาวพุทธทั้งพระเณรและชาว บ้าน ต้องช่วยกันรับภารธุระพระศาสนาตามกำลังความสามารถของตน ถ้าชาวพุทธสามัคคีกันก็ไม่มีใครสามารถทำลายพุทธศาสนาได้ ถ้า ชาวพุทธแตกแยกกัน พุทธศาสนาก็จะถูกทำลายได้ง่าย
ไผ่เจ้าเอ๋ย แกล้วกล้า สารพัด ไม่กลัวสัตว์ กลัวคน กลัวฝนแล้ง
มีอย่างเดียว ไผ่กลัว หัวระแหง คือไผ่แว้ง เป็นด้ามพร้า ฆ่าไผ่เอง
(พ.อ.ปิ่น มุทุกันต์)
๔. ถ้าไม่อดข้าว นกกระจาบมีหวังลงหม้อแกงแน่ แต่บุรุษผู้เป็น ทูตแห่งท้อง ถ้าอดข้าวมื้อนั้นก็คงจะย่ำแย่เป็นแน่ ดังนั้น การกระทำบางอย่างอาจจะเหมาะกับสถานการณ์หนึ่ง แต่ไม่เหมาะกับอีกสถานการณ์ หนึ่ง สุภาษิตหรือสำนวนไทยก็มักจะมีที่ใช้ต่างกัน เช่น น้ำขึ้นให้รีบตัก ใช้กับงานที่เร่งด่วน ช้าๆ ได้พร้าสองเล่มงาม ใช้กับงานที่ต้องการความประณีตบรรจง แต่ก็มีสุภาษิตบางบทที่ใช้ได้ทั่วไป เช่น ความประมาทเป็นหนทางแห่งความตาย