ในอดีตกาล พระเจ้าวิเทหราชเสวยราชย์ในกรุงมิถิลา พระโพธิสัตว์บังเกิดเป็นบุตรของสิริวัฒกเศรษฐีและนางสุมนาเทวี อาศัยอยู่ ณ บ้านปาจีนยวมัชฌคาม ซึ่งอยู่ทางทิศปราจีนของมิถิลานคร ท่านมหาเศรษฐีตั้งชื่อบุตรว่า มโหสถๆ มีเพื่อนเล่นพันคน ซึ่งเกิดในวันเดียวกัน เมื่ออายุ ๗ ขวบ ได้ให้สร้างศาลาเป็นที่เล่นและให้อาคันตุกะพัก ให้สร้าง สระโบกขรณีและอุทยาน มโหสถได้แสดงสติปัญญาให้เป็นที่ประจักษ์ แก่คนทั้งหลาย ดังเรื่องที่เป็นอุทาหรณ์ต่อไปนี้
เรื่องชิ้นเนื้อ วันหนึ่งมโหสถไปที่สนามเล่น พวกเด็กเห็นเหยี่ยว ตัวหนึ่งคาบชิ้นเนื้อบินมา ก็ติดตามไปด้วยคิดว่าจะให้เหยี่ยวทิ้งเนื้อชิ้นนั้น พวกเด็กวิ่งไปข้างโน้นข้างนี้ แลดูแต่เบื้องบน จึงหกล้มเพราะสะดุดหินหรือตอไม้ ได้รับความลำบาก มโหสถพูดกับเด็กเหล่านั้นว่า กันจะให้เหยี่ยวนั้นทิ้งชิ้นเนื้อ พวกเด็กขอให้ลองดู มโหสถวิ่งไปด้วยกำลังเร็วดังลมโดยไม่แลดูเบื้องบน พอเหยียบเงาเหยี่ยวก็ตบมือร้องเสียงดังลั่น เหยี่ยวตกใจกลัวก็ทิ้งชิ้นเนื้อ มโหสถรู้ว่าเหยี่ยวทิ้งชิ้นเนื้อแล้ว แลดูเงารับชิ้นเนื้อในอากาศไม่ให้ตกถึงพื้น
เรื่องโค บุรุษชาวปาจีนยวมัชฌคามคนหนึ่งคิดว่า เมื่อฝนตกเราจักไถนา จึงไปซื้อโคจากหมู่บ้านอื่นนำมาไว้ในบ้าน รุ่งขึ้นพาไปกินหญ้าในทุ่ง ตัวเองนั่งหลับที่โคนต้นไม้เพราะความเหน็ดเหนื่อย โจรคนหนึ่งลักพาโคหนีไป ชายเจ้าของโคตื่นขึ้น ไม่เห็นโค ก็เที่ยวตามหา เห็นโจรจึงวิ่งไล่ไปโดยเร็ว กล่าวว่า แกจะนำโคของข้าไปไหน โจรตอบว่า แกพูดอะไร โคของข้า ชาวบ้านพากันมามุงดูอย่างเนืองแน่น มโหสถอยู่ในศาลาที่ตนสร้าง ได้ยินเสียงที่คนทั้งสองวิวาทกัน จึงให้เรียกคนทั้งสองมาสอบถาม เมื่อทราบเรื่องแล้วมโหสถถามชายทั้งสองคนว่า เราจักวินิจฉัยความโดยยุติธรรม พวกท่านจักยอมรับหรือไม่ คนทั้งสองก็ยอมรับ
มโหสถ : โคนี้พวกท่านให้ดื่มอะไร ให้กินอะไร
โจร : ข้าพเจ้าให้โคดื่มยาคู (ข้าวต้ม) ให้กินงา แป้ง และขนมกุมมาส (ขนมสด)
เจ้าของโค : อาหารเช่นนั้น คนจนอย่างข้าจะได้ที่ไหนมา ข้าพเจ้าให้กินหญ้าเท่านั้น
มโหสถฟังคำของคนทั้งสองแล้ว จึงให้คนของตนนำใบประยงค์มาตำในครก ขยำด้วยน้ำให้โคดื่ม โคก็อาเจียนออกมาเป็นหญ้า มโหสถบัณฑิตพิสูจน์ให้มหาชนเห็น แล้วถามโจรว่า เจ้าเป็นโจรหรือมิใช่ โจรก็รับสารภาพ มโหสถจึงตักเตือนว่า ต่อไปอย่าทำอย่างนี้อีก ฝ่ายบริวารของมโหสถก็ทุบตีโจรด้วยมือและเท้าทำให้บอบช้ำ
ลำดับนั้นมโหสถได้กล่าวสอนโจรว่า เจ้าจงเห็นทุกข์ของเจ้าในภพนี้เพียงนี้ แต่ในภพหน้า เจ้าจักเสวยทุกข์ใหญ่ในนรก แต่นี้ไปเจ้าจงละกรรมชั่วนี้เสีย แล้วให้เบญจศีลแก่โจรนั้น
เรื่องท่อนไม้ วันหนึ่งพระเจ้าวิเทหราชทรงดำริจะทดลอง มโหสถบัณฑิต ทรงให้ตัดท่อนไม้ตะเคียนยาว ๑ คืบ ให้นายช่างกลึงให้เสมอกัน ส่งไปยังชาวบ้านปาจีนยวมัชฌคาม ด้วยพระราชอาณัติว่า ท่อนไม้ตะเคียนนี้ ข้างไหนปลาย ข้างไหนโคน ถ้าไม่มีใครรู้จะปรับพัน กหาปณะ
พวกชาวบ้านไม่รู้จึงไปหาสิริวัฒกเศรษฐี ๆ ให้ตามตัวมโหสถบัณฑิตมา ส่งท่อนไม้ให้มโหสถบัณฑิต แล้วแจ้งเรื่องให้ทราบ มโหสถบัณฑิตให้นำภาชนะน้ำมา แล้วเอาด้ายผูกกลางท่อนไม้ ถือปลายด้ายไว้ วางท่อนไม้บนน้ำ โคนก็จมลงก่อนเพราะหนัก ชาวบ้านก็ทูลพระราชา ได้ว่า ข้างไหนปลาย ข้างไหนโคน
เรื่องแก้วมณี พระเจ้าวิเทหราชทรงมีแก้วมณีดวงหนึ่งมีเกลียว ๘ เกลียว ด้ายเก่าของดวงแก้วมณีนั้นขาด ไม่มีใครสามารถนำด้าย เก่าออกแล้วร้อยด้ายใหม่เข้าไป พระองค์ทรงให้ส่งข่าวไปว่า ชาวบ้านปาจีนยวมัชฌคามจงนำด้ายเก่าออกจากดวงแก้วมณีนี้ แล้วร้อยด้ายใหม่เข้าแทน ถ้าร้อยด้ายไม่ได้จะปรับพันกหาปณะ
ชาวบ้านไม่อาจทำได้จึงแจ้งแก่มโหสถบัณฑิต ๆ ให้นำน้ำผึ้งมาทาช่องแก้วมณีทั้ง ๒ ข้าง เอาน้ำผึ้งทาปลายด้ายใหม่ ร้อยเข้าไปในช่องหน่อยหนึ่ง วางไว้ในที่มดแดงทั้งหลายจะออก เหล่ามดแดงพากันออก จากที่อยู่ กินน้ำผึ้งที่ปากทางหนึ่ง แล้วคลานเข้าไปในช่องกัดด้ายเก่าซึ่งกีดขวางทาง ตรงไปกินน้ำผึ้งที่อีกปลายหนึ่ง แล้วคาบปลายด้ายใหม่ที่ทา น้ำผึ้งกลับมาทางเดิม เป็นอันว่าพวกมดแดงช่วยร้อยด้ายให้ใหม่จนสำเร็จ
เรื่องชิงช้า วันหนึ่งพระราชาทรงให้ส่งข่าวไปยังชาวบ้านปาจีนยวมัชฌคาม เพื่อทดลองมโหสถบัณฑิตว่า พระราชาใคร่จะทรงเล่นชิงช้า ห้อยด้วยเชือกทราย เชือกทรายเก่าในราชสกุลขาดเสียแล้ว ให้ชาวบ้านนั้นฟั่นเชือกทรายหนึ่งเส้นส่งมาถวาย ถ้าส่งมาถวายไม่ได้จะปรับพัน กหาปณะ
พวกชาวบ้านจนปัญญาจึงแจ้งแก่มโหสถบัณฑิตๆ คิดว่า เรื่องนี้ต้องย้อนปัญหา คิดแล้วก็เรียกชาวบ้านที่ฉลาดมา ๒-๓ คน สอนให้ไปทูล พระราชาว่า ข้าแต่สมมุติเทพ ชาวบ้านไม่ทราบขนาดเชือกว่าเล็กใหญ่ เท่าไร ขอพระองค์โปรดให้ส่งท่อนเชือกทรายเก่าสักคืบหนึ่งเป็นตัวอย่าง ชาวบ้านจะได้ฟั่นเชือกตามตัวอย่างนั้น ถ้าพระราชารับสั่งว่า ไม่เคยมีเชือกทรายในพระราชฐานของเรา พวกท่านจงกราบทูลว่า ข้าแต่มหาราช เมื่อเชือกทรายไม่มี ชาวบ้านปาจีนยวมัชฌคามจักทำอย่างไรเล่า พวกชาวบ้านกระทำตามที่มโหสถแนะนำ พระราชาตรัสถามว่า ย้อนปัญหานี้ใครคิด เมื่อทรงทราบว่ามโหสถคิดก็ทรงยินดี
(อรรถกถามโหสถชาดก มหานิบาต)
สาระที่ควรกล่าวถึงมีดังนี้
๑. ในเรื่องโค การที่มโหสถบัณฑิตทราบว่า การดื่มน้ำใบประยงค์ ทำให้โคอาเจียน จัดเป็นสุตมยปัญญา การคิดต่อไปว่า เมื่อโคอาเจียนก็ เห็นสิ่งที่โคกินเข้าไป เมื่อรู้ว่าโคกินอะไรก็ตัดสินได้ว่าใครเป็นเจ้าของโค การคิดค้นเช่นนี้เป็นจินตามยปัญญา การแก้ปัญหานี้จึงใช้สุตมยปัญญา และจินตามยปัญญาร่วมกัน
๒. แสงอาทิตย์แม้จะสว่างเพียงไร ก็ไม่อาจส่องให้เห็นสิ่งที่อยู่ภายในร่างกายได้ แต่แสงเอกซเรย์อันเกิดจากสติปัญญาของมนุษย์ สามารถส่องให้เห็นสิ่งที่อยู่ภายในร่างกายได้ ดังนั้นพระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า แสงสว่างเสมอด้วยปัญญาไม่มี
๓. โจรลักโคต้องการปกปิดความชั่วของตนจึงต้องกระทำชั่วซ้ำอีกด้วยการกล่าวมุสา แต่ก็ไม่อาจปกปิดได้ ต้องถูกลงโทษอย่างทันตาเห็นด้วยการถูกทุบตี เมื่อสิ้นชีพก็มีหวังได้รับโทษในอบายภูมิอีก ดังนั้นจึงควรระลึกไว้เสมอว่า ความชั่วไม่ทำเสียเลยดีกว่า