เรื่องนี้อาจเป็นจริงหรือคนรุ่นก่อนผูกขึ้นเป็นคติสอนใจคนรุ่นหลังๆ ความว่า
ครั้งหนึ่ง ในเขตแดนที่เรียกกันว่า โคราช ณ ตำบลใหญ่แห่งหนึ่ง ห่างจากตัวอำเภอไม่ไกล มีชายผู้หนึ่งสมมุติว่าชื่อหาญ เป็นคนมีฝีมือใน ทางเพลงดาบและหมัดมวย ทั้งยังอยู่ยงคงกระพัน จึงมีชื่อเสียงโด่งดังในตำบลนั้น แต่มีนิสัยเสียชอบคุยโวโอ้อวด ยกตนข่มท่าน ถือตัวว่าเก่ง ไม่มีใครสู้ จึงเที่ยวท้าทายเขาทั่วไป ทำให้ชาวบ้านชังน้ำหน้ามากกว่าจะเคารพนับถือ ต่อมาทางการแต่งตั้งให้แกเป็นกำนันมีบรรดาศักดิ์เป็นหมื่นหาญโชคชัย แกจึงแสดงท่าทางเป็นนักเลงโตเต็มตัว
กำนันหมื่นหาญเป็นคนมั่งคั่ง มีตลาดสดให้เช่าแผงลอย ค่าเช่าวันละ ๑๐-๒๐ สตางค์ หมื่นหาญจึงมีเศษสตางค์มากจากการเก็บค่าเช่า หมื่นหาญจะนำเงินเข้าไปในตัวเมืองเดือนละมากกว่าหนึ่งครั้งด้วยวิธีการที่ผิดธรรมดา คือเอาสตางค์ขาวอันละ ๑๐ สตางค์ร้อยเป็นพวงเดียวยาวตั้งวาแล้วผูกขมวดสาย สะพายขึ้นบ่า ถือดาบคู่มือ เดินดุ่มๆ ออกจากบ้านไปและกางข้อเพื่อให้น่าเกรงขาม คอยมองดูว่าจะมีนักเลงคนไหนกล้ามาลองดี คนเฒ่าคนแก่ก็ตักเตือนให้กำนันระวังตัว ด้วยกลัวว่าคนร้ายจะลวงเอาเงินที่ล่อตาล่อใจนั้นไปกินเสียเปล่าๆ หมื่นหาญหัวเราะและพูดอย่างโอหังว่า ใครจะกล้าล้วงคองูเห่าก็ให้มันรู้ไป อยากจะรู้ว่ามัน มาไม้ไหนจึงจะลวงหมื่นหาญได้ คนเฒ่าคนแก่ฟังแล้วก็ชังน้ำหน้า ต่างพากันภาวนาขอให้มีคนดีมาปราบหมื่นหาญให้หายหยิ่งสักที
วันหนึ่ง หมื่นหาญเอาสตางค์ขาวร้อยเป็นพวงสะพายบ่า แสดงท่าองอาจออกจากบ้านไปตัวเมือง ระหว่างทางพบชายสูงอายุผู้หนึ่งเดินกะเผลกออกจากชายป่า มายืนดักหน้าแล้วเรียกให้หมื่นหาญหยุด หมื่นหาญได้ยินเช่นนั้นก็แปลกใจ เห็นชายสูงอายุผู้นั้นท่าทางคล้ายคนป่วยซ้ำขาพิการคงไม่มีพิษมีภัย จึงถามว่ารู้จักชื่อผมได้อย่างไร ชายผู้นั้นพูดว่า ใครๆ ก็รู้จักหมื่นหาญโชคชัยกำนันผู้ยิ่งใหญ่และมีชื่อเสียงว่าเก่งกล้า
หมื่นหาญตัวพองด้วยคำป้อยอ กล่าวขอบใจ และถามถึงจุดประสงค์ของชายแปลกหน้า ก็ได้รับคำตอบว่า แม้ท่านหมื่นหาญจะมีฝีมือเชิงดาบเชิงมวยและคงกระพัน แต่ยังขาดความรู้สำคัญ คือกลมารยา ถ้าจะเรียนก็จะสอนให้
หมื่นหาญกล่าวขอบใจและโม้ตอบไปว่า ผมยังไม่เห็นใครเลยที่จะมาหลอกลวงกำนันคนนี้ได้ เมื่อหมื่นหาญหยุดโม้ ชายแปลกหน้าก็พูดช้าๆ ว่า เมื่อท่านหมื่นไม่สนใจผมก็จะขอลาไปก่อน พูดแล้วทำท่าจะเดินไป
หมื่นหาญนึกในใจว่า เจ้าคนนี้ไม่ว่าจะมาไม้ไหนก็สู้เราไม่ได้ มันคงไม่กล้ามาลองดีกับเรา คิดแล้วก็ยกมือห้าม พูดว่า อย่าเพิ่งไป เมื่ออยากจะสอนก็บอกมาเถิด ชายแปลกหน้าเดินกลับมายืนตรงหน้าหมื่นหาญ พูดว่า วิธีสอนของผมต้องลงมือทำจริงๆ ถ้าพูดแต่ปากก็ไม่เกิดประโยชน์
หมื่นหาญคิดว่า ถ้าเราไม่ตกลง แกก็คงหัวเราะเยาะว่าเราขี้ขลาดเสียแรงคุยโม้ไว้มาก คิดแล้วก็พยักหน้าบอกว่า ตกลง จะให้ทำอะไรก็บอกมา ชายแปลกหน้ายิ้มแล้วพูดว่า คอยฟังให้ดี เมื่อทำตามแล้วจะเกิดผลได้เรียนรู้ทันที เริ่มแรกขอให้ท่านชักดาบออกจากฝักคอยระวังเพื่อความไม่ประมาท
หมื่นหาญก็ทำตามแล้วถามว่า ต่อไปจะให้ทำอะไรอีก ชายแปลกหน้าบอกว่า ปลดพวงสตางค์จากบ่าส่งมาแล้วจะแสดงให้ดู
หมื่นหาญนึกว่าพวงสตางค์นี้หนักเกินกำลังของชายสูงอายุคนนี้ เอาไปแล้วก็คงหนีไม่พ้น นึกแล้วก็ปลดพวงสตางค์จากบ่ายื่นให้ แต่กระชับดาบในมือเตรียมพร้อมไม่ประมาท แต่ชายชราก็รับพวงสตางค์อย่างไม่รู้สึกหนักแรง ทำให้หมื่นหาญที่นึกดูหมิ่นเกิดแปลกใจ
เมื่อชายแปลกหน้ารับพวงสตางค์มาแล้ว ก็ยืนห่างจากหมื่นหาญ ล้วงมีดเล็กๆ จากชายพกมาตัดเชือกร้อยพวงสตางค์ขาดออก เอาสตางค์เดินโปรยลงดินไปรอบๆ แล้วเดินห่างออกไป ห่างออกไป จนสตางค์ในพวงเหลือครึ่งเดียว จากนั้นก็เอาเชือกผูกไว้ สะพายขึ้นบ่าเลียนแบบหมื่นหาญออกเดินโดยเร็ว ท่าทางที่เดินกะโผลกกะเผลกได้กลับเป็นปกติ
หมื่นหาญยืนตะลึงอยู่ครู่หนึ่ง พอได้สติก็ตะโกนว่า กลับมาก่อน อย่าเพิ่งไป ชายแปลกหน้าตะโกนตอบว่า จำไว้ เขาหลอกกันอย่างนี้ แหละ จงปูผ้าขาวม้าลงแล้วเก็บสตางค์ที่ตก ถ้าตามมาก็จะตามไม่ทัน อย่าดูถูกคนแก่ที่เป็นนักวิ่งเร็วมาก่อน แล้วเงินที่ตกอยู่ตามดินก็จะมี คนอื่นเก็บไปหมด มองดูข้างหลังสิมีคนเดินมาแล้ว
หมื่นหาญหันกลับไปดูก็จริงอย่างชายแปลกหน้าบอก เพราะมีคนเดินมาแต่ไกล หมื่นหาญแค้นใจแทบจะกระอักเป็นโลหิต ถึงมีฝีมือและกำลังก็ไม่มีโอกาสใช้ ต้องมาเสียรู้ชายแปลกหน้า เมื่อไม่เห็นทางอื่น ก็ปูผ้าขาวม้าลงกลางดิน ค่อยๆ เก็บสตางค์ที่หล่น คิดในใจว่า เสียครึ่งหนึ่งดีกว่าเสียหมด
เมื่อเก็บสตางค์จนหมดก็ห่อผ้าขาวม้าไว้แน่น ยกขึ้นสะพายบ่า เดินทางต่อไป ในใจยังระอุด้วยไฟแค้น คิดว่าป่านนี้ชายแปลกหน้าคงกลับไปนอนสบาย แต่แล้วก็แปลกใจที่เห็นชายแปลกหน้ามายืนลับๆ ล่อๆ อยู่แถวชายป่า แต่ไม่มีพวงสตางค์ที่หลอกลวงไป เมื่อเพ่งมองจนแน่ใจว่าไม่ใช่ภาพลวงตา ก็โกรธจนตัวสั่น คิดว่ามันได้เงินไปแล้วยังกล้ามาดูถูกดูหมิ่น
หมื่นหาญกำด้ามดาบในมือไว้แน่นเตรียมจะใช้ฟาดฟัน วิ่งบุกตรงไปโดยไม่สนใจว่าข้างหน้าจะเป็นพงรกอย่างใด แต่ก็ไม่สามารถบุกถึงตัวชายแปลกหน้าซึ่งชำนาญทางกว่าได้ เมื่อเข้าถึงตัวไม่ได้ก็ยิ่งโกรธมากจนขาดสติเหมือนคนบ้า ในที่สุดก็วิ่งไปตกหลุมพราง ดาบกระเด็นหลุดจากมือเพราะตกใจ เคราะห์ดีที่ก้นหลุมมีหญ้าแห้งและใบไม้รองไว้ หนาจึงไม่เจ็บช้ำมากนัก หมื่นหาญพยายามปีนป่ายอย่างไรก็ขึ้นไม่ได้ จึงหมดอาลัยในชีวิต
เมื่อสายตาเคยชินกับก้นหลุมก็มองไปรอบๆ เห็นหนังสือปักอยู่ข้างๆ ตอนกลางสูงเกินหัว จึงเอื้อมมือหยิบหนังสือมาอ่าน ความว่า
นี้เป็นบทเรียนสอนให้รู้ว่า เกิดเป็นคนอย่าหมิ่นคน ผู้มีสติปัญญา มีฝีมือ มีกำลังเก่งจริง จะถ่อมตัว ไม่ยกตัวเอง คนที่เที่ยวคุยโอ่ ยกตนข่มท่าน ส่วนมากเป็นคนโง่เขลา ขอให้หลานพิจารณาด้วยสติปัญญา ทิ้งความโง่เขลา ความคุยโวอวดดี ยกตนข่มท่านไว้ในหลุมนี้ให้หมด แล้วตะโกนบอกให้ลุงรู้ ก็จะพ้นจากหลุมได้เป็นอิสระ หากยังไม่ยอมลดทิฏฐิมานะและยังโกรธลุงอยู่ ก็ขอให้ช่วยตัวเองโดยใช้ดาบขุดดินให้เป็นโพรง แล้วค่อยๆ ไต่ลอดขอบขึ้นมา ถ้าไม่เหนื่อยหรือหิวจนเป็นลมเสียก่อน รับรองว่าสำเร็จแน่ ขอให้รีบตัดสินใจ ช้าไม่ได้ รับรองว่าไม่มีมนุษย์ผ่านมาทางนี้แน่
หมื่นหาญอ่านแล้วก็นั่งลงทอดถอนใจ นึกว่าเรามีแต่กำลังและฝีมือเท่านั้น แม้จะมีวิชาอยู่ยงคงกระพันก็ไม่มีโอกาสได้ใช้ เห็นจะไม่สามารถเอาชนะสติปัญญาของชายชราผู้นี้ได้ ถ้าเราไม่ยอมแพ้เขาคงคิดทรมานต่อไปไม่สิ้นสุด คิดแล้วก็ลุกขึ้นยืนป้องปากตะโกนขึ้นไปทางปากหลุมว่า พ่อลุง หลานยอมแพ้ ตกลงตามที่แนะนำ โปรดช่วยหลานด้วย
พอขาดคำก็มีบันไดเชือกขั้นกระไดเป็นไม้ผูก หล่นลงมาจากปากหลุมถึงตัว หมื่นหาญดีใจ รีบฉวยกระไดปีนขึ้นไปทันที เมื่อถึงปากหลุมก็ดีใจเหมือนพ้นจากขุมนรก
ขณะที่หมื่นหาญเที่ยวมองหาชายแปลกหน้า เพื่อกล่าวขอบคุณที่ทำให้หูตาสว่างไม่หลงตัวเองต่อไป ตาก็เหลือบไปเห็นพวงสตางค์ที่ชายแปลกหน้านำไปนั้น กองอยู่ที่พื้นดินใต้ต้นไม้พร้อมกับหนังสืออีกฉบับหนึ่ง หมื่นหาญหยิบขึ้นมาอ่าน ความว่า
เงินยังอยู่ครบขอให้รับคืนไป อดีตลุงก็เคยเป็นนักเลงหัวไม้ แต่รักความเป็นธรรม ไม่อวดดี ไม่เย่อหยิ่ง ไม่เคยข่มเหงรังแกใคร ลุงปราบพวกอันธพาล ไม่ยอมให้มาข่มเหงชาวบ้าน ลุงจึงเป็นนักเลงโตที่ชาวบ้านรักใคร่นับถือ หลานก็มีโอกาสดีควรทำให้ลูกบ้านเคารพนับถือ อย่างน้อยหมู่บ้านที่เราอยู่มีความสงบสุข ที่ลุงทำไปนี้เพื่อสั่งสอนให้รู้ผิด รู้ถูกเท่านั้น ไม่มีความประสงค์อื่น ลุงดีใจที่หลานยอมทิ้งนิสัยเดิมกลับใจมาสู่ทางดี คนเราบางครั้งก็หลงผิด ต้องมีคนมากระตุกจึงรู้สึกตัว เวลานี้ลุงมีอายุแล้ว เห็นความจริงของชีวิตว่า ไม่มีอะไรเป็นแก่นสาร ไม่เห็นอะไรเป็นที่พึ่งได้นอกจากบุญกุศลเท่านั้น ลุงจึงเข้าวัดถือศีลไม่สนใจทางโลก ขอให้หลานจำไว้ว่า อย่าทำตามอารมณ์ อย่าเอาความรู้ไปโอ้อวดข่มขู่ชาวบ้านให้เดือดร้อน จงใช้ความรู้ให้เป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม
แต่นั้นมาหมื่นหาญก็ไม่คุยโวโอ้อวด ไม่เอาแต่อารมณ์ ไม่ดูถูกคนเหมือนก่อน กลายเป็นคนดีมีศีลธรรม เห็นอกเห็นใจคนอื่น ปกครองลูกบ้านให้อยู่เย็นเป็นสุข ชาวบ้านก็ยกย่องรักใคร่นับถือกันทั้งตำบล
(กฎแห่งกรรม โดย ท. เลียงพิบูลย์)
สาระที่ควรกล่าวถึงมีดังนี้
๑. หมื่นหาญถือตัวว่าเก่ง ไม่เห็นคนอื่นอยู่ในสายตา เมื่อถูกคนที่เก่งกว่าสั่งสอนจนงอมพระราม (ทุกข์ยากลำบากเต็มที่) จึงได้ยอมสำนึกตัว ถ้าไม่โดนอย่างนี้ จะพูดจาหว่านล้อมหรือตักเตือนอย่างไรก็ไม่มีวันเชื่อ บทเรียนที่ได้รับทำให้หมื่นหาญรู้สำนึกว่า เกิดเป็นคนอย่าหมิ่นคน เพราะว่าเหนือคนยังมีคน เหนือฟ้ายังมีฟ้า ซึ่งเป็นสุภาษิตสำหรับเตือนใจว่า ไม่มีใครเก่งจริง คนเราไม่ว่าจะเก่งอย่างไรก็สู้ความแก่ ความเจ็บ ความตายไม่ได้
อย่ามัวหลง จิกตีกัน อวดฉันเก่ง ต่างอยู่เข่ง ลูกเดียวกัน ทั้งนั้นหนา
ถึงตรุษจีน ก็ดับดิ้น สิ้นชีวา ควรรีบหา ทางพ้นเข่ง ถ้าเก่งจริง
(ธรรมรักษา)
๒. เสน่ห์อย่างหนึ่งของคนเราคือ ปิยวาจา วาจาที่สุภาพไพเราะอ่อนหวานสมานสามัคคี หมื่นหาญไม่มีปิยวาจา ซ้ำยังเย่อหยิ่ง จึงเป็นที่เกลียดชังของคนทั่วไป
๓. สญชัยปริพาชกซึ่งเคยเป็นอาจารย์ของพระสารีบุตร ถือตัวว่าเป็นอาจารย์ใหญ่มีคนเคารพนับถือมาก จะลดตัวไปบวชเป็นสาวกของ พระพุทธเจ้าได้อย่างไร เพราะความเย่อหยิ่งจึงพลาดจากมรรคผลนิพพาน ไปอย่างน่าเสียดาย เสียทีที่เกิดเป็นมนุษย์และได้พบกับพระพุทธเจ้า
๔. ชายชราเป็นบุคคลประเภทที่เรียกว่า เสือลากหาง ซึ่งหมาย ถึงผู้ที่มีความเก่งกล้าสามารถแต่ไม่แสดงให้รู้ ทำท่าเป็นคนเซื่องซึมเพื่อให้คนอื่นตายใจ แล้วเข้าทำการอย่างใดอย่างหนึ่งโดยไม่ทันให้รู้ตัว |