ในอดีตกาล พระราชาจุลนีครองราชย์ในอุตรปัญจาลนคร วันหนึ่ง บุรุษคนหนึ่งถือข้าวสาร ๑ ทะนาน ข้าวสุก ๑ ห่อและกหาปณะ ๑ พัน ว่ายข้ามแม่น้ำ เมื่อถึงกลางแม่น้ำก็อ่อนกำลัง ไม่อาจจะว่ายข้ามไปได้ จึงร้องตะโกนว่า ข้าพเจ้ามีข้าวสาร ๑ ทะนาน ข้าวสุก ๑ ห่อ และกหาปณะ ๑ พัน ผู้ใดช่วยพาข้าพเจ้าไปถึงฝั่งได้ ข้าพเจ้าจะมอบสิ่งที่ชอบใจที่มีอยู่ให้ผู้นั้น
ลำดับนั้น มีบุรุษผู้แข็งแรงคนหนึ่ง นุ่งผ้าให้มั่นคง กระโดดลงแม่น้ำ ว่ายไปโดยเร็ว เมื่อถึงตัวก็คว้าแขนของบุรุษผู้หมดแรงพาว่ายข้ามฟาก จากนั้นก็ทวงรางวัล ก็ได้รับคำตอบว่า ท่านจงถือเอาข้าวสาร ๑ ทะนาน หรือข้าวสุก ๑ ห่อ
บุรุษผู้พาข้ามฟากกล่าวว่า ข้าพเจ้าไม่คิดถึงชีวิตพาท่านข้ามฟาก ข้าพเจ้าไม่ต้องการของ ๒ สิ่งนั้น ท่านจงให้กหาปณะแก่ข้าพเจ้า
บุรุษผู้จะให้ของที่ชอบใจกล่าวว่า ข้าพเจ้าจะให้สิ่งที่ชอบใจจากของ ๓ อย่าง บัดนี้ข้าพเจ้าก็ให้สิ่งที่ข้าพเจ้าชอบใจแก่ท่าน ท่านอยากได้ก็จงถือเอา
บุรุษผู้พาข้ามฟากจึงถามคนที่ยืนอยู่ใกล้ๆ ก็ได้รับคำตอบว่า ท่านจงรับเอาเถิด บุรุษผู้พาข้ามฟากไม่ยอมรับจึงพาคู่กรณีไปศาล เมื่อผู้พิพากษาฟังเรื่องที่เกิดขึ้นก็ตัดสินให้ยอมรับเอาข้าวสาร ๑ ทะนานหรือข้าวสุก ๑ ห่อ บุรุษผู้พาข้ามฟากไม่พอใจคำตัดสินจึงกราบทูลพระราชาจุลนี ๆ ก็ทรงตัดสินเหมือนเดิม บุรุษผู้พาข้ามฟากจึงพูดขึ้นหน้าพระที่นั่งว่า พระองค์ทรงทำข้าพระองค์ผู้สละชีวิตลงสู่แม่น้ำให้มีโทษ
ขณะนั้น พระนางสลากเทวีผู้เป็นพระชนนีแห่งพระราชาจุลนี ประทับนั่งอยู่ใกล้ ได้ตรัสเตือนพระราชาว่าพระองค์ทรงวินิจฉัยผิด พระเจ้าจุลนีจึงทูลพระราชมารดาให้ทรงวินิจฉัยคดีเสียใหม่ พระนางสลากเทวีจึงรับสั่งกับบุรุษผู้จะให้ของที่ชอบใจว่า จงวางของ ๓ อย่างไว้บนพื้น แล้วตรัสว่า เจ้าจงไปเสีย ถือเอาของที่ชอบใจไปด้วย
บุรุษนั้นถือถุงกหาปณะ ๑ พันแล้วเดินไป พอเดินไปได้หน่อยหนึ่ง พระนางก็ตรัสว่า เจ้าชอบกหาปณะ ๑ พันหรือ บุรุษผู้นั้นก็ยอมรับ พระ นางตรัสว่า เจ้าพูดกับบุรุษผู้พาข้ามฟากว่า จะให้ของที่ชอบใจจากของ ๓ อย่างนี้แก่เขาหรือไม่ได้พูด บุรุษผู้นั้นก็ยอมรับ พระนางจึงรับสั่งว่า ถ้าอย่างนั้นเจ้าจงให้กหาปณะ ๑ พันแก่บุรุษที่พาเจ้าข้ามฟาก บุรุษผู้นั้น ก็จำใจมอบกหาปณะ ๑ พันให้คู่กรณีด้วยน้ำตานองหน้า
(อรรถกถามโหสถชาดก มหานิบาต)
สาระที่ควรกล่าวถึงมีดังนี้
๑. บุรุษผู้จะให้ของที่ชอบใจเป็นคนเจ้าเล่ห์ ใช้ปัญญาคิดอุบายเพื่อเอาเปรียบคนอื่น ในที่สุดก็ถูกกระทำตอบแทนด้วยอุบายอย่างเดียวกันจากผู้ที่มีปัญญาเหนือกว่า ลักษณะเช่นนี้สำนวนไทยเรียกว่า ขว้างงูไม่พ้นคอ หมายถึงทำอะไรแล้วผลร้ายกลับสู่ตัวเอง
๒. วิธีที่จะแก้อุบายของบุรุษผู้จะให้ของที่ชอบใจมีแต่การย้อนเกล็ด พระนางสลากเทวีจึงรับสั่งให้บุรุษเจ้าเล่ห์เลือกของที่ชอบใจ ถ้าเลือกกหาปณะก็แสดงว่าเขาชอบกหาปณะ หากเลือกสิ่งอื่นพระนางก็จะปล่อยให้เขาไปพร้อมด้วยสิ่งนั้น แล้วมอบกหาปณะให้แก่บุรุษผู้พาข้ามฟาก
๓. ในเรื่องนี้บุรุษเจ้าเล่ห์ได้รับผลจากการกระทำของตนทันที ถ้าในเวลานั้นพระนางสลากเทวีไม่ได้ประทับอยู่ในที่นั้นด้วย เขาก็จะรอดพ้นไปได้ชั่วคราว การให้ผลของกรรมจึงขึ้นกับองค์ประกอบหลายอย่างเช่น ความหนักเบาของกรรม บุคคล เวลา และสถานที่
๔. การทำดีแล้วไม่ได้ผลดี (ด้านวัตถุ) ในทันที เพราะว่าทำดียังไม่ถึงขนาดที่จะให้ผลทันที หรือว่าบุคคล เวลา สถานที่ ไม่อำนวย อย่างไรก็ตามเมื่อทำดีหรือชั่ว ย่อมได้รับผลดีหรือชั่วทางใจในทันที กล่าวคือ ถ้าทำดี ใจก็ผ่องใสทันที ถ้าทำชั่ว ใจก็เศร้าหมองทันที |