สมัยพุทธกาล สหายผู้หนึ่งนามว่า กาลกัณณี ซึ่งเคยร่วมเล่นฝุ่นและเรียนศิลปะในสำนักอาจารย์เดียวกันกับท่านอนาถบิณฑิกะ ได้กลายเป็นคนตกยาก ไม่อาจจะเลี้ยงชีวิตได้ จึงไปหาท่านเศรษฐี ท่านเศรษฐีก็ปลอบสหายและได้มอบเสบียงและทรัพย์สินให้ไป เขารู้สึกสำนึกในบุญคุณจึงช่วยทำกิจการทุกอย่างให้ท่านเศรษฐี เวลาที่เขาไปสู่สำนักของท่านเศรษฐี ผู้คนพากันกล่าวล้อเลียนชื่อกาลกัณณีอยู่เสมอ
วันหนึ่ง บรรดาญาติมิตรได้ไปหาและพูดกับท่านเศรษฐีว่า อย่าเลี้ยงเขาไว้ใกล้ชิดอย่างนี้เลย เพราะแม้ยักษ์เองก็ยังต้องหนีด้วยเสียงว่า กาลกัณณีๆ เขาเป็นคนตกยากเข็ญใจ มิได้เสมอกับท่าน ท่านจะเลี้ยงเขาไว้ทำไม ท่านอนาถบิณฑิกะไม่เชื่อถือคำพูดของคนพวกนั้น กล่าวว่า ชื่อเป็นเพียงคำเรียกร้อง หมู่บัณฑิตไม่ถือชื่อเป็นสำคัญ เราไม่อาจอาศัยเหตุเพียงแต่ชื่อ แล้วทอดทิ้งเพื่อนผู้เล่นฝุ่นมาด้วยกัน วันหนึ่งเมื่อจะไปบ้านส่วย ท่านเศรษฐีก็ตั้งเขาให้เป็นผู้ดูแลสมบัติ
เมื่อพวกโจรได้ข่าวว่าท่านเศรษฐีไปบ้านส่วย ก็คบคิดกันปล้นบ้านท่านเศรษฐี พากันถืออาวุธต่างๆ มาในเวลากลางคืน ล้อมเรือนไว้ ฝ่ายกาลกัณณีระแวงการมาของพวกโจรอยู่ จึงนั่งเฝ้าไม่ยอมหลับนอนเลย ครั้นรู้ว่าพวกโจรมา จึงตะโกนสั่งให้คนตีกลองบ้าง เป่าสังข์บ้าง เพื่อปลุกคนทั้งหลายให้ตื่น และทำให้บ้านทั้งหลังเต็มไปด้วยเสียงดีดสีตีเป่าอันดังสนั่นครื้นเครงราวกับว่ามีมหรสพโรงใหญ่ พวกโจรพากันพูดว่า ข่าวที่ว่าเรือนว่างเปล่า พวกเราฟังมาเหลวๆ ท่านเศรษฐียังคงอยู่ แล้วต่างก็รีบหนีไป ทิ้งก้อนหินและไม้พลอง เป็นต้น ไว้ตรงนั้นเอง
รุ่งขึ้น เมื่อพวกญาติมิตรของท่านเศรษฐีเห็นก้อนหินและไม้พลอง ที่พวกโจรทิ้งไว้ ต่างก็สลดใจ พากันพูดสรรเสริญกาลกัณณีว่า ถ้าไม่มี ผู้รักษาเรือนที่มีไหวพริบดีอย่างนี้แล้ว พวกโจรคงจะทำการปล้นเรือนได้ตามความพอใจ เพราะอาศัยมิตรผู้นี้ ความจำเริญจึงเกิดแก่ท่านเศรษฐี
เมื่อเศรษฐีกลับมาจากบ้านส่วยได้ทราบเรื่องที่เกิดขึ้น จึงพูดกับคนเหล่านั้นว่า พวกท่านบอกให้เราไล่เขาไป ถ้าเราไล่เขาไป วันนี้ทรัพย์สินของเราจักไม่เหลือเลย ธรรมดาว่าชื่อไม่สำคัญดอก จิตที่คิดเกื้อกูลเท่านั้นสำคัญ แล้วให้ทรัพย์สินจำนวนมากแก่กาลกัณณีเพื่อใช้เป็นทุน
(อรรถกถากาฬกัณณิชาดก เอกนิบาต)
ในอดีตกาล พระเจ้าพรหมทัตเสวยราชย์ในกรุงพาราณสี พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นเทวดาที่กอหญ้าคาในอุทยานของพระราชา ในอุทยานนั้น มีต้นรุจมงคล มีลำต้นตั้งตรงสมบูรณ์ด้วยกิ่งก้าน ได้รับการยกย่องจากราชสำนักว่าเป็นต้นไม้มงคล เทวราชผู้มีศักดิ์ใหญ่ตนหนึ่งบังเกิดที่ต้นไม้นั้น
วันหนึ่ง พระราชาตรัสสั่งพวกนายช่างให้หาเสาไม้แก่นมาต้นหนึ่ง เพื่อใช้ซ่อมแซมปราสาทที่มีเสาชำรุด พวกนายช่างหาต้นไม้ที่เหมาะสมอื่นไม่ได้ นอกจากต้นไม้มงคลในอุทยาน จึงทูลพระราชาๆ รับสั่ง ให้ตัดต้นไม้มงคลนั้น เพื่อใช้ซ่อมแซมปราสาท พวกช่างรับพระดำรัส แล้วพากันถือเครื่องพลีกรรมไปสู่อุทยาน ตกลงกันว่า จักตัดในวันรุ่งขึ้น แล้วกระทำพลีกรรมแก่ต้นไม้
รุกขเทวดาเห็นดังนั้น คิดว่า พรุ่งนี้วิมานของเราจักฉิบหาย เราจักไปที่ไหนเล่า เมื่อไม่เห็นที่ควรไปได้จึงร้องไห้ เมื่อหมู่รุกขเทวดาที่เป็นสหายทราบเรื่อง ก็พลอยเศร้าโศกไปด้วย เพราะไม่รู้ว่าจะห้ามพวกช่างได้อย่างไร
ฝ่ายพระโพธิสัตว์ได้ไปเยี่ยมพวกรุกขเทวดา ทราบเรื่องที่เกิดขึ้น ก็ปลอบว่า เราจะไม่ให้ตัดต้นไม้นั้น รุ่งขึ้น เมื่อพวกช่างมา ก็แปลงตัวเป็นกิ้งก่าวิ่งนำพวกช่างไป เข้าไปสู่โคนของมงคลพฤกษ์ทำประหนึ่งว่า ต้นไม้นั้นเป็นโพรง ไต่ขึ้นไปตามไส้ของต้นไม้ โผล่ออกทางยอด นอนผงกหัวอยู่ นายช่างใหญ่เห็นกิ้งก่านั้นแล้ว ก็เอามือตบต้นไม้นั้น ตำหนิต้นไม้ใหญ่มีแก่นทึบตลอดว่า ต้นไม้นี้มีโพรง ไร้แก่น เมื่อวานไม่ทันตรวจถ้วนถี่ หลงทำพลีกรรมกันเสียแล้ว จากนั้นก็หลีกไป รุกขเทวดาอาศัยพระโพธิสัตว์ คงเป็นเจ้าของวิมานอยู่ได้
(อรรถกถากุสนาฬิชาดก เอกนิบาต)
สาระที่ควรกล่าวถึงมีดังนี้
๑. ชื่อไม่ใช่เรื่องสำคัญ คนชื่อ ฉลาด อาจเป็นคนโง่เขลาไร้ความ สามารถ คนชื่อ เปี่ยมสุข ชีวิตอาจมีแต่ความทุกข์ คนเราจะดีหรือชั่ว สุขหรือทุกข์ ไม่ได้อยู่ที่ชื่อ แต่อยู่ที่การกระทำต่างหาก ถ้าทำดี ชีวิตก็มีแต่ความสุขความเจริญ ถ้าทำชั่ว ชีวิตก็มีแต่ความทุกข์ความเดือดร้อน เป็นไปตามพุทธภาษิตว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว
๒. แม้รุกขเทวดาจะมีศักดามาก แต่ไม่อาจบำบัดทุกข์ที่เกิดแก่ตนได้ เพราะเป็นคนเขลา ไม่ฉลาดในอุบาย พระโพธิสัตว์แม้เป็นเทวดามีศักดิ์น้อย แต่ก็เป็นบัณฑิตผู้มีปัญญา จึงช่วยปัดเป่าทุกข์ได้
๓. ในการคบมิตร ท่านสอนว่า ถ้าเป็นคนมีความรู้และคุณธรรมดีแล้วไซร้ ไม่ว่าจะเสมอกับตนก็ดี ต่ำกว่าตนก็ดี ยิ่งกว่าตนก็ดี ควรคบไว้เป็นมิตร เหตุว่ามิตรเหล่านั้นย่อมแบ่งเบาภาระที่มาถึงตนได้