ครั้งพุทธกาล
มีพระภิกษุหนุ่มรูปหนึ่งชื่อ พระติสสะ เป็นผู้ประพฤติดี
มีศีลธรรม มีเมตตา และเป็นคนเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ชอบแบ่งปันข้าวของที่มีให้แก่ผู้อื่นเป็นประจำ
ความดีที่ท่านได้สั่งสมมาช้านานทำให้ ท่านเป็นผู้โชคดีอย่างประหลาด
ในที่ซึ่งพระภิกษุจำนวนมากบิณฑบาตไม่ได้อะไรเลย พอท่านไปก็ได้อาหารเต็มบาตรอย่างรวดเร็ว
คราวหนึ่ง พระราชาถวายมหาทาน เพื่อบูชาเจติยบรรพต ท่านก็ไปที่นั้น
เมื่อท่านรู้ว่าของดีที่สุดในทานนี้คือผ้าเนื้อละเอียดสองผืน
ท่านก็กล่าวว่า ผ้าคู่นั้นจักถึงแก่เรา อำมาตย์ได้ยินจึงไปทูลพระราชา
เมื่อพระราชาถวายผ้าแด่พระภิกษุตามลำดับ ผ้าคู่นั้นก็ถึงแก่พระติสสะ
พระราชาทรงมองหน้าอำมาตย์ แล้วตรัสถามพระติสสะว่าบรรลุธรรมเมื่อไร
พระติสสะปฏิเสธ พระราชาตรัสถามว่า เหตุไรจึงทราบล่วงหน้า
พระติสสะถวายพระพรว่า นับแต่อาตมภาพบำเพ็ญสาราณียธรรมบริบูรณ์แล้ว
ในที่ที่เขาแจกของ ของที่มีค่ามากจะตกแก่อาตมภาพ พระราชาจึงตรัสว่า
ผ้าคู่นี้สมควรแก่พระคุณเจ้า แล้วเสด็จหลีกไป
(อรรถกถาปฐมสาราณียสูตร
มโนรถปูรณี ภาค ๓)
ประเด็นที่ควรกล่าวถึงมีดังนี้
๑.
พระติสสะบำเพ็ญความดีมีทานและศีล เป็นต้น เมื่อสั่งสมนานเข้าก็กลายเป็นบารมี
ส่งผลให้ท่านเป็นผู้มีโชคดี สมบูรณ์ด้วยลาภ ไปที่ไหนก็ได้แต่ของดีๆ
นี่คือผลของความดีที่ท่านบำเพ็ญในชาตินี้จัดเป็นทิฏฐธรรม
เวทนียกรรม
๒. ถ้าถามว่า คนอื่นที่ให้ทานและรักษาศีล มีอยู่มากมาย
ทำไมจึงไม่มีโชคเหมือนพระติสสะ คำตอบคือ กว่าจะสั่งสมความดีได้อย่างนี้
ไม่ใช่ทำได้ง่าย อรรถกถากล่าวว่า ต้องบำเพ็ญให้ครบถ้วนไม่ขาดเลยตลอด
๑๒ ปี ถ้าบกพร่องต้องเริ่มนับใหม่ ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่าต้องบำเพ็ญจนชินติดเป็นนิสัย