ในสมัยพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงพระนามว่ากัสสปะ
ภิกษุรูปหนึ่งอาศัยเศรษฐีผู้หนึ่งอยู่ในวัดประจำหมู่บ้าน
เป็นผู้เรียบร้อย มีศีล หมั่นบำเพ็ญวิปัสสนา ครั้งนั้นพระอรหันต์องค์หนึ่งได้มาถึงบ้านของเศรษฐี
เศรษฐีเลื่อมใสในอิริยาบถของพระเถระจึงรับบาตรนิมนต์เข้าสู่เรือนให้ฉันภัตตาหาร
ฟังธรรมแล้วนิมนต์ให้อยู่ในวัด พระเถระจึงไปที่วัด นมัสการพระเจ้าอาวาส
ท่านเจ้าอาวาสถามว่า ได้ภัตหรือยัง ตอบว่าได้แล้วที่เรือนของเศรษฐีใกล้วัด
แล้วถามถึงที่พักของตน จัดแจงปัดกวาดและเก็บบาตรจีวร
พอตกเย็นเศรษฐีก็มาหา ฟังธรรมถึงค่ำ ก่อนกลับได้นิมนต์ภิกษุทั้งสองให้รับบาตรในวันรุ่งขึ้น
ฝ่ายพระเจ้าอาวาสคิดว่า ถ้าพระเถระนี้ยังอยู่ ที่ไหนเศรษฐีจะนับถือเรา
เกิดความไม่พอใจในพระเถระ
พระเถระทราบความคิดของพระเจ้าอาวาส จึงคิดว่า พระเถระนี้ไม่ทราบว่าเราไม่มีความห่วงใยในตระกูล
ในลาภ แล้วกลับที่อยู่ของตน
รุ่งขึ้น ท่านเจ้าอาวาสก็ตีระฆังด้วยหลังเล็บ เคาะประตูด้วยเล็บ
แล้วไปสู่เรือนของเศรษฐี เศรษฐีรับบาตร นิมนต์ให้นั่งบนอาสนะ
แล้วถามถึงพระอาคันตุกะ
ท่านเจ้าอาวาสตอบว่า ฉันไม่ทราบความประพฤติของพระผู้ใกล้ชิดสนิทสนมของคุณ
ฉันตีระฆัง เคาะประตู ก็ไม่อาจปลุกให้ตื่นได้ เมื่อวานฉันโภชนะอันประณีตในเรือนของคุณแล้วคงอิ่มอยู่จนวันนี้
บัดนี้ก็ยังนอนหลับอยู่ เมื่อคุณจะเลื่อมใสก็เลื่อมใสในภิกษุเช่นนี้เอง
ฝ่ายพระเถระผู้เป็นอรหันต์ กำหนดเวลาบิณฑบาต ชำระสรีระตน
แล้วทรงบาตรจีวร เหาะไปเสียทางอื่น
เศรษฐีนิมนต์พระเจ้าอาวาสฉันข้าวปายาส แล้วรมบาตรด้วยของหอม
ใส่ข้าวปายาสจนเต็มแล้วกล่าวว่า พระเถระนั้นเห็นจะเหนื่อยจากการเดินทาง
พระคุณเจ้าโปรดนำข้าวปายาสนี้ไปให้ท่านเถิด
พระเจ้าอาวาสรับบาตรมา เดินไปคิดไป ถ้าภิกษุนั้นได้ข้าวปายาสนี้ไซร้
ถึงเราจะจับคอฉุดให้ไป ก็จักไม่ไป ถ้าเราให้ข้าวปายาสนี้แก่มนุษย์หรือเทลงน้ำ
คนอื่นก็จะรู้ พอดีเห็นนากำลังไหม้อยู่ จึงคุ้ยถ่านขึ้น
เทข้าวปายาสลงไป กลบด้วยถ่าน แล้วกลับวัด ไม่เห็นภิกษุรูปนั้น
จึงคิดได้ว่าภิกษุนั้นคงจะเป็นพระอรหันต์ รู้อัธยาศัยของเราจึงไปที่อื่นเสีย
โอเพราะท้องเป็นเหตุ เราทำกรรมไม่สมควรเลย ทันใดนั้นความเสียใจอย่างใหญ่หลวงก็เกิดขึ้นแก่ภิกษุนั้น
ตั้งแต่วันนั้น ท่านก็กลายเป็นมนุษย์เปรต (มนุษย์ผู้หิวกระหายมากไปด้วยทุกข์
เพราะบาปกรรมที่ตนทำไว้) อยู่มาไม่นานก็ตายไปเกิดในนรก
หมกไหม้อยู่หลายแสนปี หลังจากนั้น ผลของเศษกรรมทำให้มีชีวิตอยู่อย่างอดอยากทุกภพทุกชาติ
ชาติสุดท้ายเกิด ณ หมู่บ้านชาวประมงในแคว้นโกศล ในวันที่ท่านเกิด
ชาวประมงทั้งพันครอบครัวนั้นหาปลาไม่ได้เลยสักตัว นับแต่วันนั้น
พวกชาวประมงก็พากันเสื่อมโทรมมาก บ้านของพวกเขาถูกไฟไหม้
๗ ครั้ง ถูกพระราชาปรับสินไหม ๗ ครั้ง พวกชาวประมงพากันลำบาก
คิดว่า เมื่อก่อนไม่เคยเป็นเช่นนี้เลย ในหมู่คงมีตัวกาลกิณี
จึงแบ่งเป็นสองกลุ่มๆ ที่บิดามารดาเขาอยู่ก็แย่ กลุ่มอื่นเจริญ
โดยการแยกกลุ่มเป็นสองเรื่อยไป ที่สุดก็เหลือเพียงตระกูลเดียว
คนทั้งหลายก็รู้ว่าครอบครัวนี้เป็นกาลกิณี พากันรุมตีให้หนีไป
บิดามารดาของเขามีชีวิตอยู่อย่างแร้นแค้น เมื่อเลี้ยงดูจนเขาพอจะเดินได้
ก็ทิ้งเขาไว้ตามลำพัง เขามีชีวิตอย่างเดียวดายค่ำไหนนอนนั่น
ไม่ได้อาบน้ำ สกปรกเหมือนปีศาจคลุกฝุ่น เลือกเม็ดข้าวกินทีละเม็ดเหมือนอย่างกาในที่สำหรับเทน้ำล้างหม้อ
วันหนึ่ง พระสารีบุตรเที่ยวบิณฑบาตในเมืองสาวัตถี เห็นเขาก็สงสาร
เรียกมาแล้วถามว่าเป็นชาวบ้านไหน พ่อแม่อยู่ที่ไหน เขาตอบว่า
กระผมทำให้พ่อแม่ลำบาก จึงถูกทิ้งให้อยู่คนเดียว พระเถระถามว่า
เจ้าจะบวชไหม เขาตอบว่า อยากบวช
พระเถระจึงพาไปวัด อาบน้ำให้ แล้วให้บวชเณร พออายุครบก็บวชพระ
ได้ชื่อว่า โลสกติสสเถระ เป็นพระไม่มีบุญ ใครใส่บาตร
เพียงข้าวต้มกระบวยเดียว ก็ปรากฏเหมือนบาตรเต็ม คนจึงถวายองค์อื่น
ต่อมาท่านก็เจริญวิปัสสนาบรรลุอรหัต ถึงกระนั้นก็ยังคงมีลาภน้อย
ในวันที่พระโลสกะจะปรินิพพาน พระสารีบุตรคิดว่า ในวันนี้เราควรให้อาหารแก่เธอจนพอ
จึงพาท่านไปบิณฑบาตในเมืองสาวัตถีด้วย ทำให้พระสารีบุตรไม่ได้แม้เพียงการยกมือไหว้
จึงบอกให้กลับไปคอยที่โรงฉัน เมื่อส่งพระโลสกะกลับแล้ว
พระสารีบุตรก็ได้อาหาร จึงฝากคนเอาไปให้พระโลสกะ คนรับอาหารไปแล้วก็ลืม
กินเสียเองจนหมด
เมื่อพระสารีบุตรกลับวัด ทราบว่าพระโลสกะยังไม่ได้อาหารก็สลดใจ
จึงให้พระโลสกะรอในโรงฉัน แล้วไปบิณฑบาตในวังของพระเจ้าโกศล
พระราชาจึงสั่งให้ถวายของหวานสี่อย่างจนเต็มบาตร พระสารีบุตรกลับไปถึง
ถือบาตรยืนอยู่แล้วเรียกให้พระโลสกะฉัน พระโลสกะยำเกรงพระสารีบุตรจะไม่ฉัน
พระสารีบุตรจึงกล่าวว่า มาเถิดน่า คุณจงนั่งฉัน
ผมจะถือบาตรไว้ ถ้าผมปล่อยมือ บาตรต้องไม่มีอะไร
ในวันนั้นพระโลสกะได้ฉันเต็มความต้องการแล้วก็ปรินิพพาน
(อรรถกถาโลสกชาดก
เอกนิบาต)
เรื่องนี้เป็นเรื่องของหญิงผู้หนึ่ง ต้องชดใช้หนี้กรรมนอนทนทุกข์ทรมาน
ล้มหมอนนอนเสื่อด้วยโรคประหลาด อยากกินอะไร อยากกินใจแทบจะขาด
แต่ก็กินไม่ได้ ของดีๆ ก็กลืนไม่ลง คอมันตีบ น้ำก็หยอดไม่ลง
เมื่อเริ่มป่วย ญาติก็หาหมอที่มีชื่อมารักษา แต่หมอก็ไม่รู้ว่าเป็นโรคอะไร
เพราะตรวจร่างกายทุกส่วนอย่างละเอียดก็ปกติ ผิดที่อยากกินอาหารแต่กินไม่ได้
แม้หมอจะพยายามรักษาก็ช่วยอะไรไม่ได้ ร่างกายที่เคยอ้วนใหญ่ก็ค่อยๆ
ผอมลงเพราะอาหารไม่ตกถึงท้อง ๖ เดือน จนเหลือแต่หนังหุ้มกระดูก
เป็นความทรมานอย่างแสนสาหัส (หมอคงให้น้ำเกลือและสารอาหารทางเส้นเลือดจึงมีชีวิตอยู่ได้
แต่จะอ่อนแอลงเรื่อยๆ และตายด้วยโรคแทรกในที่สุด)
คุณหญิงระเบียบ สุนทรลิขิต ผู้รู้เรื่องนี้ดีได้เล่าว่า
หญิงนี้สมัยก่อนยากจน เป็นแม่ครัวอยู่กับหญิงสูงอายุ
มั่งคั่งและสูงศักดิ์ท่านหนึ่งเป็นคนใจบุญมีศรัทธา ใส่บาตรพระสงฆ์ทุกเช้า
๑๐๐ รูป ได้มอบเงินให้แม่ครัวทำอาหารชั้นดี มาใส่บาตร
แพงเท่าไรไม่ว่า ขอให้พระได้ฉันอาหารดีๆ ทุกวัน คอยเปลี่ยนอย่าให้ซ้ำ
แม่ครัวก็จัดการอย่างเรียบร้อย จนนายจ้างไว้ใจ จะเบิกค่าอาหารใส่บาตรวันละเท่าไรก็ได้
ต่อมาแม่ครัวก็เริ่มยักยอกเบียดบังบ้าง แต่ไม่มาก นานเข้าก็เห็นว่าที่ยักยอกไว้น้อยไป
คิดว่า ของอยู่ในห่อไม่มีใครรู้ เราจะทำอะไรก็ได้ จึงเริ่มทำอาหารถูกๆ
แต่เบิกเงินราวกับทำอาหารดีราคาแพงๆ มาใส่บาตร เวลาผ่านไปเป็นปีๆ
หญิงนี้ยักยอกจนร่ำรวย มีที่ดินปลูกบ้าน ลูกหลานมีเพชรมีทองใส่
สิ่งที่ห่อเรียบร้อยสำหรับใส่บาตรทุกเช้าคือ ถั่วงอกผัดน้ำมันราคาถูกๆ
จะมีที่ดีๆ ๓-๔ ห่อไว้แก้หน้าเมื่อนายจ้างสงสัย ทำให้เหลือไว้ให้นายจ้างได้เห็นว่าอาหารชั้นดีราคาแพงเพื่อให้ถูกใจ
นี้คือวิธีการที่ทำให้หญิงแม่ครัวร่ำรวยขึ้น แต่บัดนี้กำลังได้รับทุกข์ทรมาน
ไม่รู้เมื่อใดจะสิ้นสุดลงในโลกมนุษย์ และทั้งต้องไปใช้หนี้กรรมความโลภในอีกภพหนึ่ง
จนกว่าจะสิ้นกรรม
(กฎแห่งกรรม
ของ ท. เลียงพิบูลย์ เล่ม ๕)
ประเด็นที่ควรกล่าวถึงมีดังนี้
๑.
อรรถกถาปฐมปีฐวิมานอธิบายว่า มนุษย์เปรตหมายถึงมนุษย์ที่ขาดแคลนอาหารและเครื่องนุ่งห่ม
เพราะบาปกรรมที่ตนทำไว้ ต้องหิวกระหาย มากไปด้วยทุกข์
บุคคลทั้งสองกระทำบาปคล้ายกันคือทำอันตรายลาภของผู้อื่น
และได้รับผลตอบแทนคล้ายกัน คือกลายเป็นมนุษย์เปรต ทั้งที่ยังมีชีวิตอยู่
๒. พระโลสกะทำบาปอย่างเดียว แต่เป็นบาปหนักเพราะทำอันตรายลาภของพระอรหันต์
จึงได้รับผลของบาปกลายเป็นมนุษย์เปรตทันตาเห็นจัดเป็นทิฏฐธรรมเวทนียกรรม
เมื่อตายไปเกิดในนรกจัดเป็นอุปปัชชเวทนียกรรม ในชาติต่อๆ
มาก็อดอยากทุกชาติจัดเป็นอปราปริยเวทนียกรรม แต่แม่ครัวดูเหมือนจะบาปหนักกว่า
เพราะได้ทำอันตรายลาภของพระสงฆ์จำนวนมากอยู่นานหลายปี
๓. บางคนเข้าใจว่าได้ดีคือรวย เมื่อทำดีแล้วไม่รวยจึงบ่นว่าทำดีไม่ได้ดี
พระโลสกะทำดีคือเจริญวิปัสสนา ได้ดีคือบรรลุอรหัต ถึงกระนั้นก็ยังยากจนมีลาภน้อย
ดังนั้น ผลของการทำดีจึงไม่ใช่ความร่ำรวยเสมอไป