เมื่อสมัยสงครามโลกครั้งที่สองสงบลงใหม่ๆ
วันหนึ่ง ผม (ไม่ใช่ ท. เลียงพิบูลย์) จำได้ว่าเข้าหุ้นซื้อสลากกินแบ่งของรัฐบาลกับเพื่อนและบังเอิญถูก
ได้รับส่วนแบ่งประมาณ ๒๐๐ บาท ตอนเที่ยงผมก็เดินไปสำเพ็งเลือกซื้อผ้าห่มขนสัตว์แท้ได้หนึ่งผืน
ผมถามเถ้าแก่ว่า ไม่แพงกว่าราคาขายในท้องตลาดแน่นะ เถ้าแก่ก็รับรอง
เมื่อกลับถึงบ้านก็ยื่นห่อผ้าให้เป็นของขวัญแม่บ้าน
เมื่อเธอหยิบไปแก้ห่อดู พอเห็นเป็นผ้าห่มขนสัตว์สีขี้ม้าก็ดีใจถามว่า
คุณซื้อมาเท่าไหร่ ผมเตรียมคำตอบไว้แล้วจึงรีบบอกว่า
๗๕ บาทจ๊ะ เธอพอใจมากพูดว่า ผ้าห่มสีนี้ฉันอยากได้มานานแล้ว
ถูกใจฉันแท้ๆ ราคาก็ไม่แพง ฉันขอชมว่าคุณซื้อได้ถูกมาก
ผมภูมิใจที่แม่บ้านชมว่าซื้อของถูก แต่แล้วเธอก็พูดว่า
วันนี้เป็นวันอะไร คุณจึงให้ของขวัญฉันแล้วทำไมจึงซื้อได้ถูก
ผมตอบว่า เห็นจะเป็นวันซื้อของได้ถูกกระมัง ที่ซื้อได้ถูกเพราะฉันรู้จักชอบพอกับเถ้าแก่ร้านนี้มาก
เขาคงลดหรือขายให้ในราคาทุน หรือเขาซื้อมาต้นทุนถูกก็ขายถูกให้
ยังมีอีกมาก ต้องการเท่าไหร่ก็ซื้อได้ ผมโม้ต่อ
วันนั้นผมสบายใจ เพราะเป็นครั้งแรกที่แม่บ้านชมว่า ผมซื้อของได้ถูกใจ
เป็นประโยชน์มากและทั้งราคาถูก แต่ความดีใจของผมอยู่ได้ไม่นาน
เพราะรุ่งขึ้นตอนเย็น แม่บ้านก็ยื่นซองมาให้แล้วพูดว่า
ฉันเล่าให้คุณแจ่มศรีข้างบ้านฟัง แกชอบใจอยากได้บ้าง
จึงขอให้คุณช่วยซื้อให้สักสี่ผืน เงินอยู่ในซอง ๓๐๐
บาท คุณช่วยซื้อหน่อยนะคะ แกเป็นเพื่อนบ้านที่ดีของเรา
ฉันรับปากก็เพราะคุณบอกว่าจะซื้ออีกเท่าไหร่ก็ได้
พอผมได้ยินเท่านั้นลมแทบจับ ความจริงผ้าห่มผืนนั้นผมซื้อมา
๑๐๐ บาท มาโกหกแม่บ้านว่าซื้อได้ ๗๕ บาท เพื่อให้ชมว่าผมซื้อของได้ถูก
ไม่นึกว่าแม่บ้านจะเอาไปคุยอวดจนมีคนฝากซื้อ ถ้าปฏิเสธก็จะเสียหายทั้งแม่บ้านและผม
เห็นจะต้องตกกระไดพลอยโจน ยอมเสียเงินซื้อผ้าเอาหน้ารอด
แทนคำโบราณว่า ขายผ้าเอาหน้ารอด ผ้าสี่ผืนต้องเพิ่มเงินอีก
๑๐๐ บาทแก้ปากไม่ดี เงินส่วนแบ่งจากถูกสลากก็หมดไป แม่บ้านกล่าวต่อว่า
เพื่อนคุณแจ่มศรีอีกสองคนก็อยากได้อีกคนละสองผืน แต่ต้องรอเงินเดือนออกก่อนจึงจะนำเงินมาฝากซื้อ
พอผมได้ยินก็ทำท่าจะเป็นลม เพราะเหตุการณ์ชักจะบานปลาย
ต่อไปคงมีคุณนายอะไรต่ออะไรรุมเอาเงินมาฝากซื้อไม่รู้สิ้นสุด
ผมจะทำอย่างไรดี
หลังจากผมเสียเงิน ๑๐๐ บาท เพื่อซื้อผ้าห่มมาฝากเพื่อนบ้านในราคาผืนละ
๗๕ บาทแล้ว ก็ไม่มีใครมาฝากอีก แต่หลังจากวันเงินเดือนออกคงมีแน่
ผมต้องรีบแก้ไขเสียก่อน ผมชังตัวเองว่าพูดทำไมให้เสียเงิน
พูดไม่ดีมันก็เกิดโทษแก่ตัว ผมเข็ดแล้ว ผมจะไม่ยอมกล่าวมุสาอีกเป็นอันขาด
ถ้าจะกล่าวมุสาพอเอาตัวรอดก็ได้ แต่ผมไม่ยอม ทำอีกเพราะมันเป็นนิสัยติดต่อไม่สิ้นสุด
จะบอกความจริงกับแม่บ้าน ผมก็ทำไม่ได้ กลางคืนกังวลจนนอนไม่หลับ
ผมลุกขึ้นมาไหว้พระสวดมนต์ สารภาพผิดว่า ต่อไปนี้ผมจะไม่มุสาอีก
ผมเข็ดแล้ว ขอให้พระดลใจให้ผมคิดหาทางออกได้อย่างราบรื่น
จิตใจก็สบายจนนอนหลับถึงเช้า
ตอนเที่ยงผมออกจากที่ทำงานเดินเตร่ไปหาอาหารกิน แล้วก็แวะไปดูร้านขายผ้าที่ผมเคยซื้อเมื่อวันก่อน
เห็นมีคนมุงอยู่เต็มหน้าร้าน ผมเตร่เข้าไปดูก็เห็นเจ้าของร้านกำลังถูกตำรวจคุมตัวและมีการค้นหาสิ่งของในร้าน
ผมจึงเดินเลี่ยงมาถามคนข้างร้านได้ความว่าแกถูกข้อหารับซื้อของโจร
ตอนแรกผมตกใจ แต่แล้วก็คิดได้ว่า คราวนี้ผมหมดภาระแล้ว
เมื่อกลับถึงบ้านตอนเย็น ผมก็เล่าเรื่องให้แม่บ้านฟัง
แล้วกำชับว่าอย่าไปรับปากเขาซื้อผ้าห่มอีก
(กฎแห่งกรรม
ของ ท. เลียงพิบูลย์ เล่ม ๓)
ประเด็นที่ควรกล่าวถึงมีดังนี้
๑.
ผู้ที่หวังเอาหน้าโดยการโกหก แทนที่จะได้หน้ากลับมีแต่จะเสียหน้า
ในกรณีนี้ยังต้องเสียเงินอีก ๑๐๐ บาท ซึ่งมีค่าไม่น้อยในสมัยนั้น
นี้คือโทษของการโกหกที่ได้รับอย่างทันตาเห็น
๒. การปั้นน้ำเป็นตัว (น้ำแข็ง) ทำได้ยาก ไม่คงทนเพราะฝืนธรรมชาติ
ที่สุดก็ต้องละลายเป็นน้ำเหมือนเดิม ฉันใด การโกหกก็ทำได้ยาก
โกหกแล้วก็ต้องหาทางปิดบังไม่ให้เขารู้ความจริง แต่จะปิดบังไว้ได้ไม่นาน
ที่สุด ความจริงก็เปิดเผยออกมาจนได้ ฉันนั้น (ตามเรื่องดูเหมือนว่าแม่บ้านยังไม่รู้ความจริง
แต่นานไปภายหลังก็คงทราบ)
๓. เมื่อเทียบความดีใจและภูมิใจเพียงชั่วครู่ เพราะแม่บ้านชมเชย
กับความร้อนใจชนิดนอนแทบไม่หลับ เพราะการโกหก เพียงเท่านี้ก็เห็นชัดว่าไม่คุ้มเลย
ถ้าคิดรวมถึงเงินที่เสียไปด้วยก็ยิ่งไม่คุ้ม ดังนั้นท่านจึงกล่าวว่า
ทำบาปแลกบุญขาดทุนร่ำไป
๔. คนอื่นโกหกหลอกลวงได้เงินได้ทอง แต่พ่อบ้านผู้นี้กลับเสียเงินเพราะโกหก
๕. บางคนชอบพูดมุสาเพื่อให้หัวเราะกันเล่นสนุกๆ ด้วยเห็นว่าเป็นเรื่องเล็กน้อยไม่สำคัญ
ที่จริงหาเป็นเช่นนั้นไม่ ขึ้นชื่อว่ามุสาวาท จัดเป็นความชั่ว
สามารถนำผู้ประพฤติไปอบายได้ สิ่งใดก็ตามถ้าเป็นความชั่ว
เกี่ยวเนื่องกับความชั่ว สิ่งนั้นแม้จะคิดก็ไม่ควร จึงไม่ต้องกล่าวถึงการกระทำเลย