ครั้งนั้นเป็นฤดูแล้ง
ผม (ไม่ใช่ ท. เลียงพิบูลย์) ได้ถือปืนออกจากบ้านไปเที่ยวหานกในสวน
ได้พบนกเขาคู่หนึ่ง เกาะอยู่ที่ยอดก้านหมาก กำลังจับคู่เพลิดเพลินอยู่
เมื่อนกเห็นผมถือปืนในมือ สัญชาตญาณทำให้ทั้งสองรีบบินหนี
ไป ผมยกปืนขึ้นเล็งแล้วปล่อยกระสุนออกไป ตัวหนึ่งถูกกระสุนหล่นลงมาตาย
อีกตัวหนึ่งยังบินวนเวียนอยู่ใกล้ๆ ไม่ยอมทิ้งคู่ ท่าทางคงจะเสียใจมากที่คู่ของมันตาย
หากเป็นคนก็คงร้องไห้ฟูมฟายน้ำตา ผมใช้สายตาคอยจ้องดูความเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา
นึกในใจว่า ทำไมมันจึงไม่หนีไปไกลๆ หรือจะยอมให้ผมยิงมันอีกตัว
กำลังนึกว่าควรสงเคราะห์ให้มันตายไปตามกัน ยังไม่ทันจะยกปืนขึ้น
ทันใดนั้น มันเหินขึ้นสู่ท้องฟ้าสูง แล้วห่อตัวหุบปีกพุ่งตัวเอาหัวดิ่งลงสู่พื้นดินตรงหน้าผมถึงแก่ความตายทันที
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ผมสะดุ้งงงงันลืมตัว
ทำอะไรไม่ถูกคิดอะไรไม่ออก เพราะไม่นึกว่าความรักของนกทั้งสองจะรุนแรงถึงกับยอมสละชีวิตตายร่วมกัน
พอได้สติก็รู้สึกเศร้าเข้าไปถึงหัวใจ เมื่อเห็นภาพนกทั้งสองนอนตายอยู่แทบเท้าผม
ผมก้มลงไปหยิบนกตัวแรกขึ้นมาดู
เป็นนกตัวเมีย ถูกลูกปืนที่หน้าอก ส่วนนกตัวหลังที่บินขึ้นสูงแล้วพุ่งหัวดิ่งลงมาตายนั้นเป็นตัวผู้
ก้านคอหัก มีเลือดไหลออกทางปาก ผมนั่งลงเอามือทั้งสองกุมขมับ
น้ำตาไหลพรากเพราะคิดถึงชีวิตรักของนกคู่นี้ ผมได้สร้างบาปกรรม
ทำให้นกเขาคู่นี้ต้องตายลงต่อหน้าต่อตา
ผมนั่งร้องไห้น้ำตาไหลอาบแก้มอยู่นานกว่าจะได้สติคิดว่า
ถึงเราจะเสียใจร้องไห้จนน้ำตาเป็นสายเลือดก็ไม่อาจทำให้นกทั้งสองฟื้นคืนชีวิตขึ้นมาได้
มีแต่ทำให้จิตเศร้าหมอง ควรคิดหาทางสร้างบุญดีกว่า ต่อไปนี้เราจะไม่ทำบาป
จะเลิกกีฬาฆ่าสัตว์ตัดชีวิตอย่างเด็ดขาด
(กฎแห่งกรรม
ของ ท. เลียงพิบูลย์ เล่ม ๖)
ประเด็นที่ควรกล่าวถึงมีดังนี้
๑.
บางคนเรียกการกระทำอย่างนี้ว่า กีฬา และภูมิใจว่าตนเป็น
นักกีฬา ทำให้ดูโก้เก๋ทันสมัย แต่ที่จริงเป็นการข่มเหงรังแกฝ่ายที่อ่อนแอกว่าและไม่มีทางสู้
เป็นความด้อยพัฒนาและความไร้น้ำใจนักกีฬา หากนักกีฬาล่า
(ฆ่า) สัตว์ เป็นฝ่ายถูกล่าโดยไม่มีทางสู้บ้างจะรู้สึกอย่างไร
ด้วยเหตุนี้จึงมีพุทธภาษิต (๒๕/๒๐) ว่า
สัตว์ทั้งหมด ย่อมหวาดหวั่นต่ออาชญา ย่อมกลัวต่อความตาย
บุคคลทำตนให้เป็นอุปมาแล้ว ไม่ควรฆ่าเอง ไม่ควรใช้ให้ผู้อื่นฆ่า
๒.
ผู้ที่หวังความสุข แต่กลับทำบาปด้วยการเบียดเบียนผู้อื่น
ย่อมไม่ได้ความสุข แต่จะได้ผลเป็นความทุกข์ ตนเองก็ทุกข์
ผู้อื่นก็ทุกข์ ดังเช่นชายผู้นี้ต้องหลั่งน้ำตาเพราะเศร้าใจและสำนึกผิดในบาปของตน
การหาความสุขจากความเจ็บปวดและชีวิตเลือดเนื้อของผู้อื่นจะเป็นไปได้อย่างไร
ด้วยเหตุนี้จึงมีพุทธภาษิต (๒๕/๒๐) ว่า
ผู้ใคร่สุข แสวงหาสุขเพื่อตน แต่เบียดเบียนสัตว์อื่น
ผู้นั้นละ (ตาย) ไปแล้ว ย่อมไม่ได้สุข ผู้ใคร่สุข แสวงหาสุขเพื่อตน
ไม่เบียดเบียนสัตว์อื่น ผู้นั้นละไปแล้ว ย่อมได้สุข
๓. ชายผู้นี้ต้องโศกเศร้าเพราะได้ทำบาป จัดเป็นนรกในใจ
เป็นผลของบาปกรรมที่เห็นได้ในชาตินี้และจะไม่หมดสิ้นเพียงแค่นี้
คงต้องรับผลของบาปกรรมนี้อีกในชาติต่อๆ ไป