ในสมัยรัชกาลที่
๕ เย็นวันหนึ่ง คนเดินทางหมู่หนึ่งมาหยุดพักแถวเขตหน้าบ้านของครอบครัวมีอันจะกินครอบครัวหนึ่ง
หัวหน้าครอบครัวมีจิตใจโอบอ้อมอารี เห็นคนหมู่นั้นจะพักแรมในที่แจ้งเช่นนั้นกลัวว่าจะไม่ปลอดภัย
เพราะสมัยนั้นมีสัตว์ร้ายชุกชุม จึงเรียกให้เข้ามาพักบนบ้านและสั่งคนในบ้านจัดอาหารมาเลี้ยงดูให้อิ่มหนำสำราญ
แล้วพูดสนทนาแสดงถึงไมตรีจิตอันดีของเจ้าบ้าน ซ้ำยังเชิญให้รับประทานอาหารเช้าก่อนออกเดินทางด้วย
พอรุ่งเช้า หมู่แขกก็ออกเดินทางไปแต่เช้าตรู่ยังไม่ทันสว่างดี
พ่อบ้านสงสัยจึงไปดูในห้องที่ชายหมู่นั้นพัก เห็นตัวหนังสือเขียนด้วยดินสอพองที่ข้างฝาว่า
ข้าขอลาท่านผู้ใจดีไปก่อน ข้าจะขอจดจำความดีของท่านตลอดไป
เจ้าของบ้านเห็นแล้วงง จึงซักถามคนในบ้าน ชายในบ้านคนหนึ่งนอนติดกับห้องของแขกแปลกหน้า
เล่าให้ฟังว่า ตอนดึกนอนไม่หลับได้ยินเสียงข้างห้องเขาปรึกษากันถนัด
เสียงลูกน้องถามว่า เมื่อไหร่จะปล้น
ลูกพี่ตอบว่า เปลี่ยนใจแล้ว ทำไม่ลงเพราะเจ้าของบ้านต้อนรับเลี้ยงดูอย่างดี
แม้จะเคยปล้นมามาก ก็ล้วนแต่ปล้นคนชั่ว ถึงบาปก็ไม่หนักหนา
ถ้าปล้นคนดีบาปหนัก แถมยังถูกชาวบ้านสาปแช่งให้ฉิบหายตายโหง
ต่อไปจะเลือกปล้นแต่คนที่ชั่วช้า จากนั้นลูกพี่ก็เขียนหนังสือลาไว้ที่ข้างฝา
แล้วพาพวกไปแต่เช้า
(กฎแห่งกรรม
ของ ท. เลียงพิบูลย์ เล่ม ๓)
ประเด็นที่ควรกล่าวถึงมีดังนี้
๑.
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นข้อพิสูจน์ความจริงของพุทธภาษิตที่ว่า
ผู้ให้ย่อมผูกไมตรีไว้ได้
๒.
การให้อาหารและที่พักแก่บุคคลที่หิวโหยและเหน็ดเหนื่อย
เป็นทานที่มีอานิสงส์มาก เพียงได้เห็นบุคคลนั้นกำลังกินอาหารที่ให้อย่างเอร็ดอร่อย
ผู้ให้ก็ปลื้มใจ (เป็นสวรรค์ในอก) จัดเป็นบุญที่ให้ผลทันตาเห็นในชาตินี้
เดี๋ยวนี้ ไม่ต้องรอชาติหน้า
๓. แม้ไม่ได้ปล้น แต่พวกนั้นก็ได้ทำบาปแล้ว เพราะการคิดปล้นเป็นบาป
จัดเป็นมโนทุจริตคือโลภอยากได้ของคนอื่นในทางมิชอบ