บ่ายวันหนึ่ง
ข้าพเจ้านั่งรถตระเวนหาบ้านท่านผู้หนึ่ง ทางถนนพิชัยและถนนพิษณุโลก
กำลังชะลอรถ ใช้สายตาจ้องมองดูเลขบ้านที่กำลังผ่านอยู่ข้างถนน
ทันใดนั้น รถยนต์สองคันวิ่งแซงกันมาหยุดไม่ห่างรถข้าพเจ้าเท่าใดนัก
ชายคนขับรถทั้งสองต่างรีบเร่งเปิดประตูออกมา ทั้งที่รถยังจอดไม่สู้จะเรียบร้อยนัก
คันหนึ่งเป็นรถส่วนตัว อีกคันหนึ่งเป็นรถรับจ้าง ทั้งสองเดินตั้งท่าเข้าหากัน
ใช้กำปั้นตะบันหน้ากันด้วยกำลังโทสะ
ชายผู้ขับรถส่วนตัวท่าทางแข็งแรงและว่องไว ได้เปรียบคนขับรถแท็กซี่มาก
แม้คนขับรถแท็กซี่พยายามใช้กำลังก็ไม่สามารถถูกต้องตัวคนขับรถส่วนตัว
ๆ คอยป้องปิดได้ว่องไวมิได้ต่อยตอบ แต่พอได้โอกาสก็เหวี่ยงหมัดเข้าที่ปากคนขับรถรับจ้างระหว่างครึ่งปากครึ่งจมูก
ทำให้คนขับรถแท็กซี่ล้มลงก้นกระแทกพื้นถนนอย่างไม่เป็นท่า
ปากถูกหมัดบ้วนออกมาเป็นเลือดเห็นแล้วน่าสงสาร
เมื่อสอนมวยให้แล้ว คนขับรถส่วนตัวพูดว่า ขณะที่ผมขับรถมาช้าๆ
เพื่อฟังเสียงเครื่องยนต์ว่ามีอะไรผิดปกติ เจ้าแท็กซี่มันขับรถผ่านมา
หัวเสียอะไรก็ไม่รู้ยื่นหน้าออกมาร้องว่า ขับรถเก่งจริงโว้ย
ขับเก่งกว่าหมา ผมโกรธมากจึงขับรถเร่งแซงมาแล้วถามว่า
แกว่าใคร เขาแสดงท่าทางนักเลงและตอบอย่างยโสว่า ใครก็ได้
ผมทนไม่ไหว จึงบอกให้มันหยุดรถลง แล้วชกปากมันเป็นการสั่งสอน
มันจะได้ไม่กำแหงอีก
คนขับแท็กซี่พูดว่า จะเอาเรื่อง ขอให้คนที่มุงดูช่วยเป็นพยาน
ผู้หญิงที่โดยสารมาในรถแท็กซี่รู้เรื่องดี เกิดเหลืออดจึงพูดว่า
คนขับแท็กซี่ไปหาเรื่องเขาก่อน สมควรแล้วที่ถูกเขาสั่งสอน
คนขับแท็กซี่เห็นท่าไม่ดีเลยรีบขึ้นรถขับไปทันที
(กฎแห่งกรรม
ของ ท.เลียงพิบูลย์ เล่ม ๓)
ประเด็นที่ควรกล่าวถึงมีดังนี้
๑. ในอภัยราชกุมารสูตร (๑๓/๙๑) พระพุทธเจ้าตรัสว่า เรื่องที่ควรพูดต้องมีองค์ประกอบสำคัญ
๓ ประการคือ จริง มีประโยชน์ และถูกกาลเทศะ
๒. คนขับแท็กซี่ปากพล่อยด่าว่าคนอื่นอย่างหยาบคาย เป็นคำไม่จริง
ไม่มีประโยชน์ จึงถูกชกสั่งสอนจนปากแตก ได้รับผลจากวจีทุจริตของตนทันที
๓. ความประพฤติของคนขับแท็กซี่นี้ ตรงกับพุทธภาษิตในโกกาลิกสูตร
(๒๕/๓๘๗) ว่า คนเกิดมาชื่อว่ามีขวานติดปากมาด้วย สำหรับให้คนพาลใช้ฟันตัวเอง
ในเวลาพูดคำชั่ว