ครั้งหนึ่ง
ภิกษุหลายรูปเดินทางมาเฝ้าพระพุทธเจ้าซึ่งประทับอยู่
ณ พระเชตวัน ระหว่างทาง ณ ตำบลหนึ่ง ชาวบ้านนิมนต์ให้นั่งฉันภัตตาหารในโรงฉัน
ขณะนั้น หญิงคนหนึ่งกำลังปรุงอาหาร เปลวไฟจากเตาได้ลุกไปติดชายคา
เสวียน (ของเป็นวงกลมสำหรับรองก้นหม้อ) หญ้าอันหนึ่งอยู่ที่ชายคาก็ลุกไหม้
ปลิวไปในอากาศสวมคอของกาตัวหนึ่ง ซึ่งบินมาถึงพอดี กาถูกไฟไหม้ตกลงมาตาย
เมื่อถึงพระเชตวัน ภิกษุพวกนั้นก็ไปทูลถามพระพุทธเจ้าถึงบาปกรรมของกานั้น
พระองค์ทรงเล่าว่า
ในอดีต ชาวนาผู้หนึ่งฝึกโคของตนไม่ได้ดังใจ โคเดินไปหน่อยหนึ่งก็นอนเสีย
แม้เขาตีให้ลุกก็เดินไปหน่อยแล้วนอนเสียเหมือนเดิม ชาวนาโกรธมาก
เอาฟ่อนฟางพันคอโค แล้วจุดไฟ โคถูกไฟคลอกตาย ด้วยอำนาจบาปกรรมนั้น
เขาหมกไหม้ในนรกอยู่นาน และด้วยเศษบาปที่เหลือ เขาเกิดเป็นกาถูกไหม้ในอากาศมาถึง
๗ ครั้งแล้ว
(อรรถกถาธรรมบท
ภาค ๕ เรื่องตโยชน)
นาง
พ. อายุ ๒๔ ปี บ้านอยู่ อ. เมือง จ.สมุทรสาคร เมื่อเช้าตรู่วันที่
๔ ตุลาคม ๒๕๔๑ นาง พ. ทะเลาะกับสามี จึงขี่รถจักรยานยนต์ออกจากบ้านไปตามถนนพระราม
๒ ในระหว่างทาง นาย อ. อายุ ๓๑ ปี อาชีพขับรถตุ๊กตุ๊กรับจ้าง
ได้ขับรถเข้ามาประกบและชวนพูดคุย เมื่อทั้งสองขับรถพูดคุยกันมาจนถึงตึกร้างแห่งหนึ่ง
นาย อ. ได้ขับรถตุ๊กตุ๊กเบียดบังคับให้เลี้ยวรถเข้าซอยหน้าตึก
จากนั้นนาย อ. ลงจากรถ ฉุดนาง พ. เข้าข้างทาง ฉีกเสื้อผ้านาง
พ. เพื่อข่มขืน นาง พ. สู้แรงนาย อ. ไม่ได้ จึงแสร้งยินยอมและทำท่าว่ามีอารมณ์เพศ
เมื่อนาย อ. เผลอตัวเอาลิ้นดุนเข้าไปในปากนาง พ. จึงถูกนาง
พ. กัดจนลิ้นขาด ความเจ็บปวดทำให้นาย อ. โกรธจัด ชก
ต่อย เตะ และตีนาง พ. ด้วยไม้จนบาดเจ็บสาหัส จากนั้นก็มัดนาง
พ. ด้วยเชือกและแขวนไว้กับกำแพงตึก แล้วขับรถตุ๊กตุ๊กหนีไป
ต่อมาตำรวจได้รับแจ้งเหตุจากพลเมืองดี จึงนำนาง พ. ส่ง
รพ. สมุทรสาคร แพทย์ต้องรีบนำเข้าห้องไอซียู ในขณะที่ตำรวจกำลังสอบปากคำนาง
พ. ในห้องไอซียู นาย อ. ซึ่งถูกกัดลิ้นขาดเลือดไหลไม่หยุดก็ถูกนำตัวมารักษาในห้องไอซียูเดียวกัน
จึงหนีไม่พ้น ถูกนาง พ. แจ้งให้ตำรวจจับทันที
นาย อ. ถูกกัดลิ้นขาดไปเกือบสองนิ้ว ลิ้นที่ขาดหาพบเมื่อตอนสาย
เซลล์ตายหมดแล้วจึงต่อไม่ได้ ดังนั้น เมื่อแผลหายแล้ว
นาย อ. ไม่แน่ว่าจะพูดได้หรือไม่
(น.ส.พ. ไทยรัฐ ๕ ต.ค. ๒๕๔๑)
ประเด็นที่ควรกล่าวถึงมีดังนี้
๑.
แม้บุคคลจะทำบาปไว้ในที่ลับ หรือทำอย่างแนบเนียนจนไม่มีใครรู้เห็นเลย
ก็ไม่อาจพ้นกรรมได้ เพราะการให้ผลของกรรม (ดีและชั่ว)
เป็นไปโดยอัตโนมัติ จึงเที่ยงตรงแน่นอน ไม่มีผิดพลาด
ดังนั้นจึงไม่ควรทำบาปด้วยคิดว่า โอกาสกำลังดี ไม่มีใครเห็น
๒.
เมื่อกรรมชั่วจะให้ผล แม้รู้ตัวก็หนีไม่พ้น เพราะไม่เคยมีใครสามารถหนีพ้นกรรมชั่วของตนได้เลย
บุคคลอาจซ่อนตัวในที่ลับ จนสามารถหลบหนีกฎหมายบ้านเมืองได้
แต่ไม่อาจพ้นกรรมชั่วได้ ดังพุทธพจน์ในธรรมบท (๒๕/๑๙)
ว่า
บุคคลที่ทำกรรมชั่วไว้ หนีไปในอากาศ ก็ไม่อาจพ้นจากกรรมชั่วได้
หนีไปในท่ามกลางมหาสมุทร ก็ไม่อาจพ้นจากกรรมชั่วได้
หนีเข้าไปสู่ซอกแห่งภูเขา ก็ไม่อาจพ้นจากกรรมชั่วได้
เขาอยู่แล้ว ณ ที่ใด พึงพ้นจากกรรมชั่วได้ ที่นั้นหามีอยู่ไม่